วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองอู่ตะเภา

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ชัยนาท

  • สถานที่ตั้ง บ้านอู่ตะเภา ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท
  • ประวัติความเป็นมา

จากหนังสือโบราณคดีเมืองอู่ตะเภา เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข ๓/๒๕๓๔ ตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ของกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงโบราณคดีเมืองอู่ตะเภา ไว้ว่า

เมืองอู่ตะเภา เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า ๒๐ ปี จากการสำรวจของอาจารย์มานิตย์ วัลลิโภดม ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการสำรวจเบื้องต้น ได้พบเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอู่ตะเภา โบราณสถาน เศษเครื่องปั้นดินเผาและเหรียญเงินมีตรารูปสังข์ อีกด้านเป็นรูปศรีวัตสะ และปลา เป็นต้น รอบ ๆ เมืองมีระบบการชลประทานและสระน้ำ นอกจากนี้ยังมีเมืองโบราณอยู่ใกล้ ๆ อีก ๒ เมือง คือเมืองนครน้อย และเมืองนางเหล็ก กลุ่มเมืองดังกล่าวอยู่ในสมัยทวาราวดี (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๕ : ๕๓-๕๕)

ระหว่างปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ชาวบ้านบริเวณบ้านหางน้ำสาครได้พบชิ้นส่วนธรรมจักรและเสาแปดเหลี่ยมจำนวน หนึ่ง ได้นำไปเก็บไว้ที่ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาชัยนาท ในความดูแลของ นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒนวิไชย เจ้าของที่ดินที่ขุดพบ ต่อมานักโบราณคดีจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เดินทางไปตรวจสอบและทำการศึกษาทางโบราณคดี ในบริเวณที่พบธรรมจักรศิลา พบชิ้นส่วนธรรมจักรเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง และฐานเป็นรูปวงกลม แต่หยุดการทำงานไว้ชั่วคราว เพราะเป็นฤดูฝน อย่างไรก็ตามได้ลอกจารึกบนธรรมจักรและเสาแปดเหลี่ยมส่งให้นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติทำการศึกษา ปรากฏเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีเรื่อง "ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร"

  • ลักษณะทั่วไป

ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู พื้นที่ประมาณ ๒๙.๕ ไร่ สภาพปัจจุบันมีคูน้ำขนาดกว้างประมาณ ๑๙ เมตร คันดินสูงประมาณ ๙ เมตร เป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำและคันดินอยู่ในสภาพดี ดูสวยงามมากเมืองหนึ่ง ด้านตะวันตกของเมืองซึ่งเป็นด้านยาวที่สุดของรูปสี่เหลี่ยมคางหมู อยู่ติดกับแม่น้ำอู่ตะเภา กำแพงเมืองตอนที่ใกล้ลำน้ำแม่น้ำมากที่สุด อยู่ห่างกันเพียง ๔๐ เมตรเท่านั้น ด้านนี้คูเมืองตื้น คันกำแพงเมืองค่อนข้างต่ำ หมู่บ้านอู่ตะเภาตั้งอยู่บริเวณนี้มีรอยขาดของกำแพงเมืองทางด้านนี้สองช่อง แสดงให้เห็นว่า เป็นช่องระบายน้ำออกจากเมือง ริม กำแพงข้างในมีสระน้ำ ๒ สระอยู่ติดกัน ทางด้านตะวันออกมีร่องกำแพงเมืองกว้างประมาณ ๕ เมตร ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นประตูเมือง ห่างประตูเมืองออกไปนอกเมืองทางเหนือราว ๓๐ เมตร พบซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐ ฐานกว้างประมาณ ๑๘ เมตร พระเจดีย์องค์นี้ถูกทำลายเสียแล้วอย่างยับเยิน เหลือให้เห็นอยู่เพียงแค่ฐานเท่านั้น ห่างตัวเมืองออกไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ราว ๕๐๐ เมตร พบเสาโกลนสมัยทวาราวดี ทำด้วยหินสีเขียวจมอยู่ในดินหลักหนึ่ง สูงจากพื้นดิน ๘๔ เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง ๕๕ เซนติเมตร กำแพงเมืองด้านหนึ่งเป็นสันสูงมีต้นไม้ปกคลุมทึบแล่นวกไปบรรจบกันกับด้าน ตะวันตก มีช่องทางระบายน้ำออกจากตัวเมืองช่องหนึ่ง

บริเวณกลางเมืองค่อนมาทางด้านตะวันตกและด้านเหนือ เนินดินขนาดใหญ่อยู่เนินหนึ่งชื่อบ่อหมัน เป็นซากศาสนสถานขนาดใหญ่ ซึ่งก่อด้วยอิฐและศิลาแลง แต่ทว่ายังเหลือแต่ฐาน ตรงกลางมีบ่อลึกและพบเนินดินมีเศษกระเบื้องถ้วยชามมากมายผิดกับบริเวณอื่น และพบเหรียญเงินขนาดใหญ่กว่าห้าบาท ปัจจุบันด้านหนึ่งเป็นตราสังข์อีกด้วนหนึ่งมีรูปศรีวัตสะและรูปปลา จึงดูแปลกกว่าเงินอื่น ๆ ที่พบในเขตเมืองนี้ซึ่งมีตราเป็นรูปดวงอาทิตย์และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปศรี วัตสะ

  • หลักฐานที่พบ

สระน้ำโบราณ ๑ สระ มีสภาพตื้นเขิน
เศษภาชนะดินเผา เตาเครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูก ซึ่งทางจังหวัดได้ส่งให้กรมศิลปากรพิสูจน์แล้ว

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองอู่ตะเภา

จากเมืองชัยนาท เดินทางไปตามเส้นทางหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) ถึงสี่แยกสายเอเชีย เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒ (สายเอเชีย) ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีทางแยกถนนลูกรังไปยังเมืองอู่ตะเภา ประมาณ ๕๐๐ เมตร