วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

องค์พระปฐมเจดีย์

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  นครปฐม

  • สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
  • ประวัติความเป็นมา

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อครั้งพระองค์โปรดให้สมณทูตมาประกาศพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ นักปราชญ์ทางโบราณคดี มีความเห็นตรงกันว่าสมณทูตในครั้งนั้นคือ พระโสณเถระ และพระอุตรเถระ คณะสมณทูตได้เดินทางมาถึงเมืองถมทอง หรือนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕ การเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ดำเนินตลอดมาโดยมีกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนใน สุวรรณภูมิ ยอมรับพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖ พระโสณเถระได้ให้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในเขตสุวรรณภูมิ ที่เมืองถมทองนี้ ต่อมาได้มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๖๕ พระภูริยเถระผู้ทำนิมิตพัทธสีมาตั้งชื่อวัดว่า "วัดพุทธบรมธาตุ" ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกและพระเจดีย์องค์แรกของพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ พระปฐมเจดีย์นี้เดิมเป็นสถูปรูปบาตรคว่ำ แบบสัญจิเจดีย์ในประเทศอินเดีย

การบูรณะปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ได้กระทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์โปรดให้วัดขนาดขององค์พระเจดีย์ รวมความสูง ๔๐ วา ๒ ศอก ต่อมาครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จธุดงค์มานมัสการพระ เจดีย์นี้ และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ มีขนาดสูง ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร มีลักษณะเป็นพระเจดีย์รูประฆังคว่ำปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องมีพระวิหารทั้งสี่ทิศ เชื่อมต่อด้วยคตพระระเบียง การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระปฐมเจดีย์" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกยอดพระมหา มงกุฎของพระปฐมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการซ่อมพระวิหารหลวง เขียนภาพตัดขวางให้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ซ่อมพระวิหารด้านทิศเหนือ และอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ มาประดิษฐานในพระวิหารด้านทิศเหนือนี้ การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ได้ กระทำอย่างต่อเนื่อง และจริงจังในสมัยรัชกาลปัจจุบัน โดยใช้หลักวิทยาการสมัยใหม่เพื่ออนุรักษ์พระปฐมเจดีย์นี้ให้มั่นคงถาวรอยู่ คู่ฟ้าเมืองไทยตลอดไป

  • ลักษณะทั่วไป

มีลักษณะเป็นพระเจดีย์รูประฆังคว่ำปากผาย ขนาดสูง ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร โครงสร้างเป็นไม้ซุง ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องมีพระวิหารทั้งสี่ทิศ เชื่อมต่อด้วยคตพระระเบียง

  • ความสัมพันธ์กับชุมชน

๑. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระมหาสถูปเจดีย์ที่สำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึง การเผยแผ่ และการตั้งมั่นของพระพุทธศาสนา ในดินแดนนี้
๒. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่วิวัฒนาการรูปแบบมาจากรูปลักษณ์เดิม สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และเจดีย์ยอดพระปรางค์ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ปัจจุบันเป็นผลงานรวมของศิลปกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์ไทยโดดเด่น ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และประติมากรรม วิศวกรรม และจิตรกรรม
๓. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นเจดีย์ทางพุทธศาสนาที่สูงที่สุดในโลก สูงกว่าพระเจดีย์ชะเวดากองในประเทศพม่า
๔. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งคณะสมณทูตได้รับพระราชทานมาจากพระเจ้าอโศก ตั้งแต่ครั้งเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในดินแดนสุวรรณภูมิ
๕. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่รวมของศิลปวัตถุ และหลักฐานสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นอันมาก เป็นต้นว่าวิหารทั้งสี่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ วิหารคต จารึกพระธรรมคำสอนเป็นอักษรขอม พระพุทธรูปศิลาขาว จิตรกรรมฝาผนัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ที่มีขนาดสูงถึง ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามอย่างยิ่ง และได้รับการเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป
๖. องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาว จังหวัดนครปฐม องค์พระปฐมเจดีย์นั้นถือเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทุกชนิด ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ศาสนา การศึกษา และพาณิชยกรรม ก็ล้วนถือเอาองค์พระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น

  • เส้นทางเข้าสู่พระปฐมเจดีย์

ปัจจุบันการเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นไปโดยสะดวก จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ ๒ ทาง คือทางรถไฟ และรถยนต์
ทางรถไฟ โดยสารรถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือ สถานีรถไฟบางกอกน้อย มาลงที่สถานีรถไฟนครปฐม ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ มาตามเส้นทางถนนเพชรเกษม หรือ ถนนปิ่นเกล้า- นครชัยศรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง