แหล่งโบราณคดีภาคกลาง - เมืองศรีมโหสถ (เมืองพระรถ, เมืองอวัธยะปุระ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองศรีมโหสถ (เมืองพระรถ, เมืองอวัธยะปุระ)


ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ปราจีนบุรี

  • สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ในเขต ๓ หมู่บ้านคือ บ้านสระมะเขือ บ้านโคกวัด และบ้านหนองสะแก ตำบลโคกปีบ อำเภอเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี
  • ประวัติความเป็นมา

จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับซากเมืองโบราณ ศาสนสถาน ตลอดจนที่ตั้งตามตำแหน่งภูมิศาสตร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่า "เมืองอวัธยะปุระ" หรือ"เมืองพระรถ" หรือ "เมืองศรีมโหสถ" เป็น "เมืองปราจีนบุรี" ในปัจจุบันได้เกิดขึ้นในอาณาจักรสุวรรณภูมิเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๓๐๐ ปี

  • ลักษณะทั่วไป

ขนาดของเมืองกว้าง ๗๐๐ เมตร ยาว ๑,๕๕๐ เมตร มีเนื้อที่ ๗๔๒ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา แผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างรี ขอบมุมทั้ง ๔ โค้งมน ลักษณะของเมืองมีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ภายในตัวเมืองมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น เทวาลัยพระนารายณ์ เทวรูปพระวิษณุ เทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระคเณศ ตรีศูล ศิวลึงค์ ซึ่งทำจากหินทรายขนาดใหญ่ทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีเนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ส่วนนอกตัวเมืองศรีมโหสถ พบหลักฐานและร่องรอยของศาสนสถานที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต และร่องรอยการอาศัยของชุมชนขนาดใหญ่อยู่โดยทั่วไป และปรากฎหลักฐานว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ภายนอกเมืองมีความเกี่ยวข้องกับพุทธ ศาสนา ทั้งลัทธิเถรวาทและลัทธิมหายาน สระมรกตเป็นโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในชุมชนนอกคันดินคูเมืองศรี มโหสถ ไปทางทิศใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร บริเวณสระข่อย หมู่ที่ ๑ ตำบลโคกไทยในปัจจุบัน และกรมศิลปากรได้ทำการปรับปรุงโบราณสถานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นต้นมา

  • หลักฐานที่พบ

หลักฐานที่ได้จากการขุดแต่งและชาวบ้านขุดพบในแหล่งโบราณสถาน และสระน้ำขนาดใหญ่ ๒ สระ คือ สระมรกตและสระบัวล้า นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธแทบทั้งสิ้น เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่ทำจากหินทรายและศิลาแลง พระพุทธรูปสมัยทวาราวดีทำด้วยสำริด พระพุทธรูปนาคปรกทำจากหินทราย จารึกเนินสระบัว รอยพระพุทธบาทคู่ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบ เครื่องปั้นดินเผา ลูกปัด แหวนทองคำ แหวนสำริด เศษภาชนะดินเผาสมัยทวาราวดี เศษเครื่องเคลือบราชวงศ์ซุ่ง เทวรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ฯลฯ
เมืองศรีมโหสถ เป็นโบราณสถานล้ำค่าเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าความเป็นมาทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคก่อนซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการใน ด้านชาติพันธุ์ของชุมชน

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองศรีมโหสถ (เมืองพระรถ, เมืองอวัธยะปุระ)

จากตัวเมืองปราจีนบุรีลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตรงไปอำเภอศรีมโหสถ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑๙ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข ๓๐๗๐ ถึงบริเวณเมืองโบราณ ตั้งอยู่ทางขวามือ รวมระยะทางจากปราจีนบุรีประมาณ ๒๐ กิโลเมตร