วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

บ้านคูเมือง (เมืองขีดขิน, ปรันตปะ, เสนาราชนคร)

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สระบุรี

  • สถานที่ตั้ง บ้านคูเมือง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี

  • ประวัติความเป็นมา

บ้านคูเมืองมีอีกชื่อว่าเมืองขีดขิน และตำนานพระพุทธบาทเรียกเมืองนี้ว่าปรันตปราชธานี
พงศาวดารเหนือ (ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย)) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระเจ้าไกรสรราช จึงสั่งให้เสนาในให้สร้างเมืองใกล้เมืองละโว้ ทาง ๑๐๐ เส้น จึงแต่งพระราชวังและคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงบริบูรณ์แล้ว จึงให้อำมาตย์รับเอาพระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชกับราชเทวี ไปราชาภิเษกร่วมกัน เมืองนั้นจึงชื่อว่าเสนาราชนคร แต่นั้นมา..."

พระเจ้าไกรสรราช ที่กล่าวนี้ คือ พระราชโอรสของพระเจ้าศรีธรรมปิฎก หรือพระเจ้าพรหมมหาราชแห่งนครโยนกเชียงแสน พระราชบิดาส่งพระองค์มาครองเมืองละโว้ ภายหลังปี พ.ศ. ๑๕๐๐ อันเป็นเมืองลูกหลวงทางใต้สมัยนั้น พระองค์เสกสมรสกับพระนางสุลเทวี ราชธิดาแห่งกรุงศรีสัชนาลัย ทรงมีพระโอรสพระนามว่า "พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช" ซึ่งต่อมาถูกส่งไปครองเมืองเสนาราชนครปี พ.ศ. ๑๗๕๔ มีหลักฐานยืนว่าพระเจ้าไกรสรราชครองเมืองละโว้จริง จะเห็นได้จากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ได้มาสร้างลพบุรีเป็นราชธานีที่ ๒ พระองค์ทรงขนานนามพระที่นั่งองค์หนึ่งว่า "พระที่นั่งไกรสรสีหราช" ที่ว่าเมืองเสนาราชนครอยู่ห่างจากเมืองละโว้ ๑๐๐ เส้นนั้น พอเชื่อถือได้ เมื่อครั้งคณะโบราณคดีสัญจรของกรมศิลปากรมาสำรวจเส้นทางเสด็จนมัสการพระ พุทธบาทและถนนฝรั่งส่องกล้อง ได้ไปชม

เมืองโบราณแห่งนี้และสันนิษฐานว่าเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองเสนาราชนครตาม ปรากฏในพงศาวดารเหนือจริง เพราะเมืองโบราณแห่งนี้ก็อยู่ห่างจากเมืองละโว้ ๑๐๐ เส้น

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมืองเสนาราชนครเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้ และเป็นเมืองท่าเรือในสมัยนั้นด้วย สมัยนั้นสองเมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นแหล่งการค้าและการศึกษาศิลปวิทยาที่มีชื่อเสียง ตามพงศาวดารโยนกยังกล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย พญาคำเมือง สมัยที่เป็นพระยุพราชเจ้าฝ่ายเหนือ เคยเสด็จมาศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองละโว้
พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชครองเมืองเสนาราชนครเมื่อ พ.ศ. ๑๗๕๔ สวรรคต พ.ศ. ๑๗๙๔ ทรงมีพระโอรสพระนามว่า "พระเจ้าธรรมิกราช" ได้ขึ้นครองเมืองเสนาราชนครสืบต่อมา แต่การบูรณะสร้างสรรค์มักไปปรากฏที่เมืองอโยธยาเป็นส่วนมาก
ตำนานพระพุทธบาทและคำให้การขุนโขลน (ในชุมนุมพงศาวดาร ภาค ๗) กล่าวว่า "ภายหลังรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงค้นพบรอยพระพุทธบาทแล้ว พระองค์ได้ทรงอุทิศที่ดินหนึ่งโยชน์ถวายเป็นพุทธกัลปนาผล บริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์กินเนื้อที่ถึงอำเภอบ้านหมอ อำเภอหนองโดนสมัยนี้ด้วย แล้วทรงขนานนามเป็นเมืองว่า "ปรันตปะ" หรือ "เมืองขีดขิน" ดังปรากฏใน "คำให้การขุนโขลน" ตอนหนึ่งว่า "เมืองนครขีดขิน ในพระบาลีเรียกว่า ปรันตปนครราชธานี" เหตุที่เรียกว่าเมืองขีดขินคงเป็นเพราะอิทธิพลเรื่องรามเกียรติ์ที่เล่ากัน สมัยนั้นว่า เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้วพระรามพระราชทานเมืองละโว้แก่หนุมาน พระราชทานเมืองเสนานครแก่สุครีพ ชาวบ้านจึงเข้าใจว่าเมืองเสนานครคือเมืองขีดขินในเรื่องรามเกียรติ์
ตำนานพระพุทธบาทกล่าวเท้าความถึงกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งว่า "...ถึงสมเด็จพระบิดาพระนเรศ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่หงสาวดีลิ้นดำ ครั้งนั้นคนศีรษะใหญ่เท่าบาตร ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กวาดเอาไพร่บ้านพลเมืองกับพระนเรศวรและสมเด็จพระพี่นาง นั้นไป บ้านสัจพันธคามและเมืองสุนาปรันตปะก็สูญไปแต่ครั้งนั้น" ข้อความนี้ส่องว่าเมืองปรันตปะหรือเมืองเสนาราชนคร หรือเมืองขีดขิน ต้องร้างไปในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งแรก

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นที่ราบที่มีคลองชลประทานหรือคลองอนุสาสนานันท์เลียบไปแนวเหนือใต้ อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านคูเมือง บ้านคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมน กว้างประมาณ ๓๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร พื้นที่โดยประมาณ ๐.๒๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๐-๘๐ ไร่ ความเจริญของบ้านคูเมืองจัดอยู่ในสมัยลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘)

  • หลักฐานที่พบ

ศิลารูปพระโพธิสัตว์กับรูปทวารบาลหรือเทวบาล (ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระพุทธบาท) อันเป็นศิลปะขอมสมัยเดียวกับพระปรางค์สามยอดลพบุรี หลักฐานอีกประการหนึ่งคือกำแพงเมืองและช่องประตูเมืองด้านทิศตะวันออก

  • เส้นทางเข้าสู่บ้านคูเมือง

เริ่มจากตัวเมืองสระบุรีตามทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) ไปทางเหนือประมาณ ๗ กิโลเมตรถึงทางแยกบ้านห้วยบง เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวง ๒๐๔๘ (ถนนสายบ้านห้วยบง-ท่าลาน) ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตรถึงบริษัทปูนซีเมนต์ไทยท่าหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคันคลองชลประทาน ๗ กิโลเมตร ถึงบริเวณที่จะเข้าที่ว่าการอำเภอบ้านหมอ เลี้ยวขวาข้ามสะพานชลประทานสู่ทางหลวง ๓๐๒๒ (ถนนพระพุทธบาท-ท่าเรือ)ประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายประมาณ ๑๕๐๐ เมตร ถึงบริเวณบ้านคูเมือง