แหล่งโบราณคดีภาคกลาง - แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแม่น้ำน้อย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแม่น้ำน้อย

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สิงห์บุรี

  • สถานที่ตั้ง วัดพระปรางค์ บ้านโคกหมอ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
  • ประวัติความเป็นมา

เตาเผาแม่น้ำน้อย สันนิษฐานว่าเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๒๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว) ยกทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือที่อยู่ในความปกครองของสุโขทัย โดยกวาดต้อนผู้คน ซึ่งอาจจะมีช่างเตาเผารวมอยู่ด้วย และได้มารวมกลุ่มกันบริเวณแม่น้ำน้อย ส่วนอีกแนวทางหนึ่งจากหลักฐานเอกสารจีน โดย ดร.สืบแสง พรหมบุญ ศึกษาวิเคราะห์กรณีเจ้านครอินทร์ (พระนครอินทราธิราช) เมื่อครั้งเป็นอุปราชเมืองสุพรรณ ได้เป็นทูตไปเมืองจีน จักรพรรดิได้อนุญาตให้นำช่างปั้นหม้อจีนมาเมืองไทยได้ จึงทำให้มีอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกิดขึ้น เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิต ได้แก่ ไหสี่หู ครก ขวด หรือแจกัน ท่อประปา และชิ้นส่วนเครื่องประกอบอาคาร

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นเตาเผาที่มีขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐมีลักษณะเป็นเรือประทุน จึงเรียกว่า เตาประทุน ระบายความร้อนเฉียง สภาพที่ขุดและตกแต่งโดยกรมศิลปากร จะเห็นการพังทลายส่วนที่เป็นประทุนยุบลงมา แต่ก็ยังพอจะเห็นร่องรอยที่ขุด โดยตกแต่งแล้วมีประมาณ ๙ เตา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

  • หลักฐานที่พบ

จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี และหลักฐานเครื่องปั้นดินเผา ในเรือโบราณที่จมอยู่ในอ่าวไทย ในเขตน่านน้ำต่างประเทศ และจากเอกสารเครื่องปั้นดินเผาในประเทศออสเตรเลีย ของโรส แมรี่

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งเครื่องปั้นดินเผาแม่น้ำน้อย

จากตัวเมืองสิงห์บุรี ไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสิงห์บุรี-บางระจัน ๑๐ กิโลเมตร และแยกไปตามถนนบางระจัน-ชันสูตร ประมาณ ๕ กิโลเมตร