วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

บ้านคูเมือง

 

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  อ่างทอง

  • สถานที่ตั้ง บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
  • ประวัติความเป็นมา

หลักฐานบ้านเมืองเก่าสมัยทวาราวดี (พุทศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕) ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ อยู่อาศัยของคนเป็นจำนวนมาก นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ นายชอง บวสเซอลิเย่ (Dr. Jean Boisselier) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้มาสำรวจท้องที่ของอ่างทอง และสันนิษฐานว่า ดินแดนแห่งนี้ เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดีเพราะพบร่องรอยของคูเมืองที่มีลักษณะเป็นคู น้ำใหญ่ โอบล้อมรอบเมืองตามรูปแบบคูน้ำคันดินรอบชวากทะเล คือบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางแถบสิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง คูเมืองที่สำรวจพบนี้อยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๔ กิโลเมตร
ในบริเวณคูเมืองนี้มีผู้พบวัดร้าง และขุดพบพระพุทธรูปโบราณก่อนสมัยลพบุรีจำนวนหนึ่ง พบเศษกระเบื้อง ถ้วยชาม ลักษณะเป็นดินเผาเรียบ ลายเชือกทาบ และเคลือบสี รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ในดินแดนแห่งนี้ เป็นที่อยู่อาศัยทำมาหากินของผู้คนมาเป็นเวลาช้านาน
นอกจากนี้การสำรวจของกรมศิลปากรยังพบว่าเขตแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมอันเกิดจากการทับถมของโคลน ตะกอน ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ส่วนบนของดินดอนสามเหลี่ยม คือนครสวรรค์ ส่วนฐานด้านตะวันตกคือ เพชรบุรี ฐานด้านตะวันออกคือชลบุรี นั้นจัดว่าเป็นศูนย์กลางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จากหลักฐานทางโบราณคดี จะมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่ ลงมา ยังมีร่องรอยของเมืองโบราณขนาดใหญ่ ขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ในหลายยุค หลายสมัย ซับซ้อนกันอยู่ นับตั้งแต่สมัยทวาราวดีลงมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และจากนี้การศึกษาของ ดร. ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (สุพรรณภูมิอยู่ที่ไหน หน้า ๗๐) กล่าวว่าจำนวนเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองโบราณอยู่ถึง ๔๑ เมือง จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีร่องรอยเมืองโบราณ อยู่ในเขตการสำรวจของกรมศิลปากร ซึ่งสำรวจพบเมืองโบราณสมัยทวาราวดี เมื่อปี ๒๕๒๘ บริเวณบ้านคูเมือง ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

  • ลักษณะทั่วไป

เมืองโบราณ บ้านคูเมืองตั้งอยู่บนเนินดินสี่เหลี่ยมมุมมน กว้างยาวด้านละ ประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ เมตร รอบเมืองพื้นที่บริเวณเมืองโบราณจัดเป็นประเภทลานตะพัก ลำน้ำระดับต่ำ เกิดจากการทับถมของตะกอน ลำน้ำกลางเก่า กลางใหม่ ดินบริเวณนี้เป็นดินชุดนครปฐม และดินชุดกำแพงแสน มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงบ้านคูเมือง เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมน มีคูคลองขุดเชื่อมโยงกับคูเมือง และลำน้ำธรรมชาติ คูน้ำนั้นมีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ด้านพื้นที่ภายในประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร เมืองโบราณที่บ้านคูเมืองนี้มีร่องรอยของการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงสมัยทวาราวดี

  • หลักฐานที่พบ

๑. เศษภาชนะเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เป็นส่วนของขอบปาก ส่วนคอ ส่วนไหล่ และส่วนตัว การตกแต่งผิวภาชนะ เป็นลายเชือกทาบ ลายกดทับ สลับลาย ขูดขีด และแบบผิวเรียบ
๒. เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูง เป็นภาชนะผิวเรียบ ไม่มีลาย สีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน และสีเหลืองปนแดง
๓. พระพิมพ์ดินเผามีลักษณะคล้ายกับส่วนฐานของพระพิมพ์ มีสภาพชำรุด
๔. ชิ้นส่วนของหินบดยา ทำจากหินทรายแดง จำนวน ๒ ชิ้น
๕. กระดิ่งสำริด จำนวน ๑ ชิ้น
๖. กระดูกสัตว์ คล้ายส่วนโคนเขากวาง
๗. ลูกหินกลม
จากการสำรวจของกรมศิลปากร สรุปได้ว่า แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง มีการสร้างคูน้ำล้อมรอบ เป็นการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ส่วนโบราณวัตถุที่พบ ยืนยันถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีนี้ และสันนิษฐานว่าชุมชนนี้น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับชุมชนสมัยทวาราวดี เพราะมีคูน้ำล้อมรอบ และมีเศษภาชนะดินเผา ที่มีลักษณะเหมือนกับแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดีที่พบในภาคกลาง

  • เส้นทางสู่บ้านคูเมือง มี ๒ เส้นทางคือ

๑. จากจังหวัดอ่างทอง ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๑๑ สายอ่างทอง - แสวงหา ระยะทางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร และ เดินทางต่อด้วยถนนสายแสวงหา - ห้วยไผ่ ระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร
๒. จากจังหวัดสิงห์บุรี ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๙ ประมาณ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๐๓๒ รวมระยะทางถึงบ้านคูเมือง ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร