แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เตาเครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เตาเครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  บุรีรัมย์

เตานายเจียน

เตาบะระแนะ

สถานที่ตั้ง อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์

  • ประติความเป็นมา

เครื่องเคลือบดินเผาซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เคลือบสีน้ำตาล สีเขียว และสีขาว มีคนพบตามศาสนสถานในอีสานใต้และในประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา มีผู้สนใจศึกษา โดยขุดค้นแหล่งที่พบตามปราสาทต่างๆกำหนดอายุและสถานที่ค้นพบเรียกเป็นยุคกุ เลน ลีเดอแวง ปาปวนชัยวรมันที่ ๕ นครวัด และบายน กำหนดอายุตามปราสาท คือราว ๑ พันปี แต่ไม่มีใครรู้แหล่งผลิต จึงเรียกรวมๆกันว่าเครื่องถ้วยเขมรจนกระทั่งมีการบุกเบิกพื้นที่ชายแดน ไทย-เขมร ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา มีการตั้งอำเภอบ้านกรวด ละหานทราย และบุกเบิกทำมาหากินมากขึ้น จึงมีผู้ค้นพบเตาและเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมาก มีผู้ทำธุรกิจซื้อขายกันทั่วไป กระทั่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากรจึงออกมาสำรวจและขุดค้น พร้อมทั้งอาคารคลุมเตาไว้ที่เตานายเจียนและเตาสวาย อำเภอบ้านกรวด เครื่องถ้วยนี้จึงเรียกเป็นเครื่องบ้านกรวด ตามแหล่งที่พบเตาส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด กว่าร้อยเตา

  • ลักษณะทั่วไป

เตาเครื่องเคลือบดินเผาแบบบ้านกรวด เป็นเตายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อขึ้นบนดินหรือเนินดินสูง ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่สาน ฉาบด้วยดินเหนียวเผาเป็นอิฐดิบ (ไม่ใช่อิฐเป็นก้อน) มีกองดินเป็นเสาค้ำอยู่ตรงกลาง บรรจุภาชนะด้านข้างเตา ความยาวของเตามีถึง ๑๒ เมตร กว้าง ๓ เมตร แต่ขนาดจะแตกต่างกันตามมาตรฐานของธุรกิจ เตาส่วนใหญ่หันปล่องเตาไปทางทิศใต้ ช่องบรรจุฟืนอยู่ทางทิศเหนือ แสดงว่าเผาในช่วงฤดูหนาวซึ่งลมพัดมาจากทิศเหนือ ปัจจุบันกรมศิลปากรทำหลังคาคลุมไว้มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษา

  • หลักฐานที่พบ

๑. โครงสร้างเตา ร่องรอยการขึ้นโครงเตา ปล่องไฟ
๒. เครื่องถ้วยชามชนิดต่างๆ เช่น ไห คนโทน้ำ ถ้วย แจกัน วัสดุก่อสร้าง เครื่องประดับตกแต่งตัวอาคารเป็นต้น
๓. เครื่องมือในการผลิต เช่น แท่นหินบด วัสดุทำเครื่องเคลือบ

  • เส้นทางเข้าสู่เตาเผาเครื่องเคลือบ

จากจังหวัดบุรีรัมย์ไปตามถนนหมายเลข ๒๑๙ สายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ระยะทางประมาณ ๔๔ กิโลเมตร จากนั้นไปตามถนนหมายเลข ๒๐๗๕ สายประโคนชัย-อำเภอบ้านกรวด ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร