แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ถ้ำฝ่ามือแดง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ถ้ำฝ่ามือแดง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  มุกดาหาร

  • สถานที่ตั้ง บ้านส้มป่อย ตำบลนาสีนวล อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
  • ประวัติความเป็นมา

ถ้ำฝ่ามือแดงแห่งนี้ นาย AFT แคร์ เป็นผู้กล่าวถึงการเขียนสีที่ถ้ำฝ่ามือแดงเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๒๔) ไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของสมาคมฯ เล่มที่ ๑๘ ภาค ๒ ค.ศ. ๑๙๒๔ หน้าที่ ๑๔๔-๑๔๖ ความว่า มีผาแห่งหนึ่งชื่อ "ผาแดง" ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำน้ำโขงห่างออกไป ๓ กิโลเมตร

  • ลักษณะทั่วไป

ลักษณะของภาพอยู่เหนือระดับพื้นผาถ้ำขึ้นไปประมาณ ๕ เมตร มีภาพฝ่ามือเขียนด้วยสีแดงและสีเทา จำนวน ๑๐ ภาพ ภาพคนยืน สูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เขียนด้วยสีแดงจำนวน ๖ ภาพ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ หน่วยศิลปากรที่ ๗ ไปสำรวจและรายงานว่าผาฝ่ามือแดงแห่งนี้ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ถ้ำผามือแดง" มีรูปมือ ๔ มือ โดยใช้สีพ่นรอบมือเป็นสีแดงและใช้สีแดงทาฝ่ามือหรือเอามือจุ่มสีแล้วทาบลง กับผนังถ้ำ ๒ มือ ปัจจุบันเรียกว่า "ถ้ำฝ่ามือแดง" บริเวณหลังถ้ำเป็นเพิงหินกว้างยื่นออกไปทางหน้าผา เหมาะสำหรับนั่งชมวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาที่สลับซับซ้อนกันอย่างงดงาม

  • เส้นทางเข้าสู่ถ้ำฝ่ามือแดง

จากจังหวัดมุกดาหารไปตามเส้นทางสายมุกดาหาร-ดอนตาล อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๘-๙ เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ถึงอ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์ และต้องเดินด้วยเท้าต่ออีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร (รวมระยะทางทั้งหมดจากจังหวัดมุกดาหารประมาณ ๑๐.๕ กิโลเมตร)