แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เสมาหินทรายบ้านบุ่งผักก้าม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เสมาหินทรายบ้านบุ่งผักก้าม

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  เลย

  • สถานที่ตั้ง วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
  • ประวัติความเป็นมา

เสมาหินบ้านบุ่งผักก้ามถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ และศิลปะโดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ สถานที่ที่มีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณ วัตถุจากประเทศใกล้เคียงและคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา จึงกำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๙๐๐ - ๑,๒๐๐ ปี เป็นแบบศิลปะทวาราวดี

  • ลักษณะทั่วไป

เสมาหินที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกันตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ ประดับอยู่เกือบทุกใบ บางใบเป็นหม้อ "ปูรณฆฏะ" ประกอบลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ใบเสมาทั้งหมดสามารถจำแนกได้เป็น ๗ กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรูปทรงใกล้เคียงหินธรรมชาติ กลุ่มที่สลักเป็นแผ่นเรียบมีรูปร่างค่อนข้างแน่นอน กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะมีสถูปตอนบน กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะสถูปตอนบนประกอบลายพันธุ์พฤกษา กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ประกอบลายพันธุ์พฤกษา กลุ่มใบเสมาที่เป็นเสาแปดเหลี่ยมฐานบัวปลายสอบเข้าหากัน จำนวน ๑ ใบ และใบเสมาที่มีอักษรประกอบ ๑ ใบ

  • หลักฐานที่พบ

พบใบเสมาปักรวมกันอยู่ที่คูน้ำคันดิน ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม มีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดนับได้ ๔๐ ใบ และใบเสมา ๑ ใบ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลยได้ทำสำเนาจารึกไว้พบว่าเป็นอักษรอินเดียใต้ (อักษรปัลลวะ) จำนวน ๑๒ บรรทัด ตัวอักษรลบเลือนอ่านได้เป็นบางคำ ลักษณะอักษรรูปแบบนี้สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบอักษรช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖

เส้นทางเข้าสู่แหล่งเสมาหินทรายบ้านบุ่งผักก้าม
จากจังหวัดเลย ไปตามถนนเลย-อุดร ผ่านที่ว่าการอำเภอวังสะพุง พอถึงวงเวียนก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนน วังสะพุง-ภูหลวง เลี้ยวขวาไปประมาณ ๕๐๐ เมตร