แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ภาพสลักผาหิน ถ้ำผาลาย ภูผายนต์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ภาพสลักผาหิน ถ้ำผาลาย ภูผายนต์

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สกลนคร

  • สถานที่ตั้ง บ้านนาผาง ซึ่งห่างกันในทางตรงประมาณ ๑ กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๘๐ เมตร สูงจากพื้นราบชายเขา ๒๐๐ เมตร
  • ประวัติความเป็นมา

ศิลปะถ้ำในจังหวัดสกลนคร เพิ่งเป็นที่รู้จักกันเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จากการค้นพบและประชาสัมพันธ์ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร (วิทยาลัยครูสกลนคร ในขณะนั้น) ต่อมาคณะสำรวจโบราณคดีของกรมศิลปากร จึงได้เดินทางไปศึกษารายละเอียดหลายครั้ง เพื่อจะได้นำข่าวสารที่น่าสนใจมาเผยแพร่ส่งเสริมให้เดินทางไปทัศนศึกษา แหล่งนั้น ๆ ในภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ

  • ลักษณะทั่วไป

ถ้ำผาลายคือ แหล่งที่มีภาพสลักรูปรอยลงในเนื้อหิน ส่วนหนึ่งของภูผายนต์ซึ่งติดกับภูต่าง ๆ มี ภูโล้น ภูบันได อยู่ทางเหนือ ภูหมากแงวตอนเหนืออยู่ทางทิศตะวันออก ภูหมากแงวตอนใต้อยู่ทางทิศใต้ ภูพอกแลง ภูอ่างขาม อยู่ทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีลำห้วยแห่งหนึ่งซึ่งเกิดจากภูเขาไหลผ่านระหว่างเชิงภูกับหมู่ บ้านนาผางไหลไปบรรจบกับลำน้ำพุงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ทางด้านทิศตะวันออกของภูผายนต์ มีห้วยปลาก้อนไหลลงบรรจบกับลำน้ำพุงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางด้านทิศเหนือมีลำห้วยพุง เมื่อพิจารณาที่ตั้งของภูผายนต์แห่งนี้จะเห็นว่ามีชัยภูมิแวดล้อมด้วยภูต่าง ๆ และลำน้ำถึง ๓ ด้านนับเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์และยังได้ใช้ภูเขาเป็นแหล่งทำพิธีกรรม หรือหลบซ่อนตัวยามมีภัยได้เป็นอย่างดี มีชัยภูมิเช่น นี้เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

แหล่งภาพสลักหิน อยู่ในส่วนพื้นที่เป็นหน้าผาหิน ทรายลักษณะเป็นเพิงผา ที่ชาวอีสานเรียกว่า "ถ้ำ" สันนิษฐานว่า แต่เดิมเพิงผาแห่งนี้อาจมีเพิงหินหลังคาและแนวหินด้านข้างหนาทึบ และภาพสลักก็อาจอยู่ลึกกว่านี้ แต่เนื่องจากการกัดกร่อนทางธรรมชาติ เช่น น้ำฝน ซึ่งมีกรดคาร์บอนิคกัดกร่อนหินทรายให้สลายออกไปทีละน้อย นอกจากนี้กระแสลมและแสงแดดก็มีส่วนทำให้เกิดการสึกกร่อนของหน้าผาได้เช่นกัน ทั้งนี้ด้วยเหตุที่เวลาล่วงเลยนับพันปีจึงทำให้เหลือเฉพาะเพิงผาตื้น ๆ ที่เห็นในปัจจุบันเท่านั้น

ลักษณะของเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นหน้าผายาว ๔๕ เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหลังคาหิน ๑๒ เมตร สูง ๔ เมตร มีโพรงลึกขนาดพอลอดได้อยู่กึ่งกลางผนังหิน หากโพรงมีภาพสลักหลายภาพ และอาจมีภาพสลักภายในโพรงหินซึ่งจะต้องมีการสำรวจข้างในขึ้นเนื้อหาราย ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

  • ความเชื่อของชาวบ้าน

แหล่งที่เป็นโบราณสถานทุกแหล่งมักมีความเชื่อหรือนิทานพื้นบ้านประกอบอยู่ เสมอ แหล่งภาพสลักแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของภูติผีปีศาจ ภูติผีเหล่านี้เคยไปก่อการรังควาญให้ชาวบ้านเจ็บป่วยอยู่เสมอ ในที่สุดต้องมีการสร้างสำนักสงฆ์ และนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา หลังจากนั้นความเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากผีรบกวนจึงน้อยลง
ในด้านนิทานพื้นบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่า แต่เดิมถ้ำผาลายแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มีเจ้าภูตนหนึ่งอาศัยในถ้ำ หากชาวบ้านที่ยากจนประสงค์เสื้อผ้า เครื่องประดับเพื่อแต่งไปในงานบุญก็จะมาบอกกล่าวขอยืม หลังจากนั้นจะมีข้าวของเครื่องใช้ไปวางไว้ที่ปากถ้ำ แหล่งที่ชาวบ้านไปแต่งตัวคือ เชิงเขาแห่งหนึ่งอยู่ตอนเหนือของหมู่บ้านที่เรียกว่า "โนนสาวเอ้" ชาวบ้านเชื่อว่าครั้งหนึ่งมีหญิงสาวไปขอยืมเสื้อผ้าจากเจ้าป่าเจ้าภูนำไป แต่งตัว แต่ผ้าซิ่นที่ยืมไปเปื้อนประจำเดือน และนำไปคืนโดยไม่ได้ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ทำให้เจ้าป่าเจ้าภูโกรธมากเกิดอาถรรพ์ในหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็ไม่อนุญาตให้ขอยืมข้าวของเครื่องใช้อีกต่อไป ชาวบ้านยังเชื่อว่า ในวันธรรมะสวนะในสมัยก่อนได้ยินเสียงฆ้องกลองดังอยู่แต่ไกลบนถ้ำแห่งนี้
นิทานเช่นนี้มีลักษณะคล้ายกับนิทานที่กล่าวถึงกำเนิดผีมเหสักข์ชาวผู้ไทย ซึ่งเล่าสืบมาช้านานเพียงแต่แตกต่างกันว่า คนใช้ซึ่งเป็นหญิงสาวของผู้วิเศษใช้ลิ้นเลียอิ้วฝ้ายที่แตกชำรุดของชาวบ้าน ซึ่งนำมาวางไว้หน้าปากถ้ำ แต่ชาวบ้านผู้นั้นก็หลบซ่อนตัวเพื่อลักลอบดูเหตุการณ์ เมื่อสาวใช้ใช้ลิ้นเลียอิ้วฝ้ายที่แตกทำให้ชาวบ้านตกใจเกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงร้องอุทานบอกว่าอิ้วฝ้ายแตกจะทำให้ลิ้นเป็นแผลความตกใจที่รู้ว่ามีผู้ ลักลอบดูเหตุการณ์ ทำให้อิ้วฝ้ายบาดลิ้นสาวใช้ของเจ้าภูผู้วิเศษเลือดไหลและวิ่งหนีเข้าถ้ำ เจ้าภูผู้วิเศษโกรธมากจึงแสดงฤทธิ์เดชเป็นหมอกควันปกคลุมไปทั่ววังสามหมอ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ให้สาวใช้ปรากฏร่างเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านอีกต่อไป ส่วนตนเองก็กลายเป็นผีมเหสักข์จะปรากฏต่อเมื่อมีการเชิญเข้าในร่างทรงของนาง เทียมที่
ตนเลือกไว้เท่านั้น

  • หลักฐานที่พบ

จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๐ โดย นายพะเยาว์ เข็มนาค และคณะ พบว่ามีภาพต่าง ๆ แยกประเภทได้ดังนี้
๑. ภาพคน มีทั้งหมด ๒๑ ภาพ มีทั้งภาพคนที่เหมือนจริงและภาพกึ่งเหมือนจริงภาพเหมือนจริง คือ ภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเหมือน เช่น ภาพคนเหมือนซึ่งเน้นแสดงโครงภายนอก ไม่มีรายละเอียดของอวัยวะ เช่น หู ตา ปาก จมูก นิ้วมือ นิ้วเท้า มีจำนวน ๙ ภาพ เป็นภาพเด็ก ๒ ภาพ ผู้ใหญ่ ๗ ภาพ ภาพกึ่งเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเป็นคนโดยสัดส่วน แต่จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น หัวคนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือแขน ขา ไม่เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อ แต่มีอวัยวะที่สำคัญครบส่วน เช่น หู ตา ปาก จมูก ไม่มีนิ้วมือ นิ้วเท้า ภาพประเภทนี้ มี ๑๒ ภาพ
๒. ภาพมือ มีเพียงภาพเดียว เป็นภาพมือขวาแบ หงายมือแสดงอุ้งมือ มีนิ้ว ๖ นิ้ว
๓. ภาพสัตว์ มีทั้งหมด ๒๑ ภาพ ภาพปลา ๘ ภาพ ภาพนำ ๔ ภาพ ภาพสุนัข ๒ ภาพ กระรอกหรือกระแต ๑ ภาพ ภาพควาย ๑ ภาพ วัวหรือควาย ๔ ภาพ กบหรือเขียด ๑ ภาพ
๔. ภาพลวดลายเรขาคณิต เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือทำเป็นลวดลายต่าง ๆ มีรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม กากบาท หัวลูกศร สามเหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายเส้นเดียว ลายเส้นเรียงแถวกัน ลายเส้นตัดกันไปตัดกันมาจนหารูปทรงที่แน่นอนไม่ได้ ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก
๕. ภาพสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ภาพที่คล้ายไถ เครื่องมือทำนาแสดงเฉพาะส่วนหัวที่เรียกว่า "หัวหมู" หรือ "ผาล" อยู่ตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีรูปจอบมีด้ามและรูปพัดสำหรับพัดให้กระแสลมพัดข้าวเมล็ดลีบออก

๖.ภาพอาคาร มีลักษณะคล้ายบ้าน ๒ ภาพ เป็นทรงบ้านหลังคาสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภาพหนึ่งมีสุนัขอยู่ข้างในบ้าน อีกภาพหนึ่งเป็นบ้านที่มียอดหลังคาไขว้คล้ายเรือนกาแล หรือเถียงนาในภาคอีสาน และมีภาพคล้ายคนอยู่ในบ้าน
ภาพสลักหินถ้ำผายนต์ ถือว่าเป็นภาพที่มีคุณค่าต่อการทำความเข้าใจปัจจุบันการเลือกที่อยู่อาศัย และสภาพชุมชน โดยอาศัยจากการศึกษาจากภาพสลักที่ผนังถ้ำ แต่นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นยุคที่ผู้คนได้เริ่มลงมาอาศัยพื้นที่ราบทำการ เพาะปลูกแล้ว ทั้งนี้เพราะมีภาพสลักเป็นรูปจอบ ไถ สัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย สุนัข ทำให้สันนิษฐานว่า ชุมชนดังกล่าวเป็นสังคมที่พ้นยุคเร่ร่อนแล้วแต่หากได้ตั้งหลักฐานทำการเกษตร และอาจเป็นชุมชนที่มีหลายครัวเรือนได้พากันขึ้นมาทำพิธีกรรมในระบบความเชื่อ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลเหล่านี้นับถืออะไร เช่น ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ นอกจากนี้ยังพบลานหินกว้างบนยอดเขาชั้นบนเป็นลานกว้าง นักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า อาจใช้บริเวณนี้เป็นแหล่งชุมชนเพื่อทำให้พิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มคน และใช้เวลาว่างในการสลักภาพต่าง ๆ เพื่อเหตุผลบางประการ
การค้นพบภาพสลักหินที่ถ้ำแห่งนี้และอีก ๒ แห่ง คือ ถ้ำพระด่านแร้งและถ้ำม่วง ทำให้เชื่อว่ามีชุมชนอีกหลายแห่งในบริเวณเทือกเขาภูพาน ชุมชนต่าง ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน และมีการถ่ายทอดศิลปะหรือคนเหล่านี้มีความคิดคล้าย ๆ กัน
การกำหนดอายุศิลปะถ้ำแห่งนี้ นักโบราณคดีผู้สำรวจของกรมศิลปากรเชื่อว่ามีอายุราว ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยเปรียบเทียบกับหลักฐานควายใช้งานที่ขุดพบที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และเชื่อว่าร่องหินทรายที่เซาะเป็นทาง เกิดจากโลหะปลายแหลมซึ่งหมายถึงเหล็กนั้นคือสังคมแห่งนี้ได้วิวัฒนาการผ่าน ยุคเหล็กไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักโบราณคดีอีกหลายคนที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานเช่นนี้ นักโบราณคดี
บางคนเชื่อว่า ภาพสัญลักษณ์หลายภาพมีรูปทรงคล้ายกับภาพสัญลักษณ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในต่าง
ประเทศ เช่น จีน อินเดีย ซึ่งถือกันว่ามีอายุเก่าเกิน ๓,๕๐๐ ปีแน่นอน

นักโบราณคดีอีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการใช้ภาพสลักมาเปรียบเทียบกับภาพที่พบ ในต่างประเทศที่ได้กำหนดอายุไว้แล้ว โดยเฉพาะในแหล่งโบราณคดีในยุโรปแต่เห็นเพิ่มเติมว่าควรต้องวิเคราะห์ภาพแต่ ละภาพโดยการตีตารางกริด ทั้งนี้เพราะสังเกตว่าภาพต่าง ๆ มิได้เขียนพร้อมกันครั้งเดียว แต่หากเขียนขึ้นหลายครั้ง จึงทำให้มีทั้งที่เป็นภาพเก่าและภาพใหม่ ในขั้นนี้จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าภาพทั้งหมด เป็นภาพอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป แหล่งโบราณคดีแห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งภาพสลักหินที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเท่า ที่นักโบราณคดีได้พบเห็นในปัจจุบัน และยังอาจเชื่อมโยงกับแหล่งที่มีภาพลักษณะเดียวกันในบริเวณเทือกเขาภูพานอีก หลายแห่งซึ่งจะทำให้เกิดการค้นคว้าเพื่อหาข้อเท็จจริงในอดีตต่อไป

  • เส้นทางเข้าสู่ภาพสลักผาหิน ถ้ำผาลาย ภูผายนต์

ตามเส้นทางหลวงสกลนคร-กาฬสินธุ์ กิโลเมตรที่ ๓๔ จะมีป้ายชื่อบอกแหล่งภาพสลักหินก่อนประวัติศาสตร์ มีทางแยกเป็นถนนลูกรังประมาณ ๑๗ กิโลเมตร