แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - พระธาตุนารายณ์เจงเวง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

พระธาตุนารายณ์เจงเวง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สกลนคร

  • ภูมิหลังของสถานที่

พระธาตุนารายณ์เจงเวงหรือปราสาทนารายณ์เจงเวง หรือในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ว่า "อรดีมายานารายณ์เจงเวง" โดยตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงโบราณสถานแห่งนี้ว่า สร้างโดยกลุ่มสตรีของพระนางนาเวงแห่งเมืองหนองหานหลวง แข่งขันกลุ่มสุภาพบุรุษชาวเมืองหนองหานน้อย เพื่อรอรับพระพระมหากัสสปะเถระ ซึ่งนำพระอุรังคธาตุไปบรรจุยังดอยภูกำพร้า โดยตกลงกันว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถสร้างพระธาตุเจดีย์ใหญ่เสร็จก่อนดาว เพ็กขึ้นแล้ว ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเริ่มก่อพระเจดีย์นั้น ฝ่ายสตรีได้รับคำสบประมาทท้าทายจากฝ่ายชายมาก แต่ก็ไม่วิตกกล่าวคืนฝ่ายชายว่าไม่มีผู้ใดเก่งเท่านารายณ์ ๔ กร และเมื่อได้เวลาก่อเจดีย์ใหญ่ ฝ่ายหญิงได้ไปชักชวนฝ่ายชายให้ทิ้งงานและทำโคมไฟแขวนขึ้นเหนือยอดไม้ชักชวน ให้เพื่อนๆ ที่ก่อเจดีย์ใหญ่ทิ้งงาน เพราะดาวเพ็กขึ้นแล้ว จึงเป็นอันว่าฝ่ายหญิงของพระนารายณ์เจงเวงได้ชัยชนะ เพราะกลอุบายของฝ่ายหญิง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เรียกชื่อโบราณสถานทั้งสองแห่งตามที่มาของการก่อสร้างว่า อรดีมายานารายณ์เจงเวง และดอยแท่นภูเพ็กมุสา

ตำนานอุรังคธาตุนิทานยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระและคณะบริวารเดินทางมาถึงเมืองหนองหานหลวง เมื่อสตรีชาวเมืองหนองหานทูลขอแบ่งอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาเถระผู้ใหญ่มิได้ทรงอนุญาตด้วยผิดวัตถุประสงค์ที่พระพุทธองค์ที่ตรัส ไว้ให้นำอุรังคธาตุไปประดิษฐานบรรจุเจดีย์ที่ภูกำพร้า กลางลำน้ำโขง (ธาตุพนมปัจจุบัน) แต่มิให้เสียศรัทธา พระมหากัสสัปะเถระผู้ใหญ่จึงมอบให้พระอรหันต์รูปหนึ่งไปนำเถ้าอังคารจากที่ ถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์กลุ่ม สตรีเมืองหนองหานหลวงแห่งนี้ จึงนับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสกลนคร

  • ลักษณะทางกายภาพและปัญหา

๑. สภาพสิ่งแวดล้อมทางโบราณสถาน
สภาพสิ่งแวดล้อมโบราณสถานที่มีปัญหาคือ การสร้างรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุในระยะกระชั้นชิด ทำให้เกิดปัญหา ๒ ประการคือ
๑. เป็นการบดบังองค์พระธาตุ หรือตัวปราสาท ในแง่ของสิ่งแวดล้อมโบราณสถาน ถือว่าเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
๒. ในแง่กฏหมายโบราณสถานของกรมศิลปากร การสร้างรั้วเหล็กในระยะประชิดตัวโบราณสถาน ถือว่าผิดระเบียบอย่างน้อยต้องสร้างห่างจากตัวโบราณสถาน ๑๐ เมตร และต้องไม่บดบังทำลายความงามหรือเกิดทัศนะอุจาดขึ้น
อย่างไรก็ตามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวงก็ชี้เหตุผลในการสร้างรั้ว เหล็กล้อมรอบองค์พระธาตุว่า เกิดจากสุนัขเข้าไปถ่ายมูล และมีวัยรุ่นไปหลบมุมนั่งพลอดรักตามมุมองค์พระธาตุ ทำให้พุทธศาสนิกชนเสียศรัทธา เมื่อมาไหว้องค์พระธาตุ เมี่อกั้นรั้วแล้วทำให้หมดปัญหาไป
๒. สภาพเขตพุทธาวาส - เขตสังฆาวาส
สภาพเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาสแยกออกจากกัน เขตพุทธาวาสอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศใต้ของโบราณสถาน ส่วนเขตสังฆาวาส คือ ศาลา หอฉัน และองค์พระธาตุอยู่ทางด้านตรงข้าม
๓. ทางเข้า ที่จอดรถ มุมมอง การใช้ที่ดินข้างเคียง
บริเวณวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง ส่วนหนึ่งด้านตรงข้ามกับโบราณสถานใช้เป็นที่จอดรถยนต์ทุกประเภทได้ แต่ทางเข้าวัดไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะเป็นบริเวณตลาดการค้า จึงมียวดยานพาหนะขวางถนนอยู่เสมอคาดว่าคงจะแก้ปัญหาได้ เมื่อตลาดแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเทศบาล
ปัญหาของภูมิสถาปัตย์
๑. สภาพของตัวสถาปัตย์ ศิลปกรรม
สภาพของตัวสถาปัตย์ ศิลปกรรมขององค์พระธาตุเจดีย์เป็นปราสาททรายขนาดกลาง ก่อด้วยหินแลทไลท์ ส่วนฐานส่วนบนก่อด้วยหินทราย มีหน้าบันด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพศิวนาฏราช หน้าบันทิศเหนือสลักเป็นภาพพระนารายณ์หรือพระวิษณุบรรทมเหนือทะเลน้ำนม (นารายณ์บรรทมสินธุ์) ส่วนทับหลังมีครบทั้ง ๔ ทิศ โดยการเปรียบเทียบตามหลักประติมาณวิทยา (Iconnography) และลักษณะทางรูปแบบศิลปกรรม (Art Style) จะเป็นศิลปะแบบขอมในสมัยปาปวน ซึ่งมีอายุในราวพุทธศตวรรษ ๑๕๕๐ - ๑๖๕๐ ทั้งสิ้นยกเว้นทับหลังด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าการยกทัพจับศึก คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่นำเข้าไปเพิ่มในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามสภาพของตัวโบราณที่ยังไม่สมบูรณ์นี้ เป็นผลมาจากการบูรณะซ่อมแซมโดยวิธี
อนัตติโลซิส ระหว่างพ.ศ.๒๕๒๑ - ๒๕๒๕
สภาพปัญหามิใช่อยู่ที่ตัวโบราณสถาน แต่หากอยู่ที่การจัดสภาพแวดล้อม เช่น การทำล้อมรั้ว การติดโคมไฟเหนือยอดปราสาท เป็นต้น
๒. องค์ประกอบของตัวสถาปัตย์
เป็นหิน ๒ ชนิด คือ หินแลทไลท์ แต่งเป็นก้อนขนาดใหญ่ บางส่วนเสริมด้วยหินแกรนิตและหินทราย ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งนำเข้ามาเสริมให้สมบูรณ์เมื่อมีการซ่อมแซมบูรณะครั้ง ใหญ่
๓. องค์ประกอบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ
เนื่องจากทางวัดถือว่าเป็นผู้ดูแลโบราณสถานแห่งนี้ ด้วยสาธารณูปโภค สาธารณูปการใช้ของวัดทั้งสิ้น ยังมิได้เป็นโบราณสถานที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดชอบแยกไปต่างหาก เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ที่กรมศิลปากรรับผิดชอบโดยเฉพาะ