แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ถ้ำพระด่านแร้ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ถ้ำพระด่านแร้ง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สกลนคร

  • สถานที่ตั้ง ภูดงสามปี บ้านห้วยหวด ตำบลจานเพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
  • ประวัติความเป็นมา

ศิลปะถ้ำพระด่านแร้ง เป็นแหล่งศิลปะถ้ำที่ค้นพบเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยคณะสำรวจจากกรมศิลปากรที่เดินทางมาสำรวจแหล่งศิลปะถ้ำผาลาย ภูผายนต์ บ้านนาผาง และถ้ำม่วง ซึ่งอยู่ในเขตกิ่งอำเภอเต่างอย (ในขณะนั้น) หลังจากนั้น นายโกวิทย์ ศรีนุกูล หัวหน้ากิ่งอำเภอห้วยหวด ได้แนะนำให้รู้จัก นายหนู โคตรสี ผู้เชี่ยวชาญในการเดินป่า นายหนู ได้เล่าให้คณะสำรวจฟังถึงแหล่งภาพสลักหินถ้ำพระด่านแร้งที่รกร้างตั้งทิ้ง ไว้หน้าปากถ้ำ คณะสำรวจทางโบราณคดีกรมศิลปากรจึงออกเดินทางไปยังแหล่งโบราณคดีดังกล่าว
ตำแหน่งของแหล่งศิลปะถ้ำพระด่านแร้งอยู่เส้นรุ้งที่ ๑๖ ๕๔ ๕๐ และเส้นแวงที่ ๑๐๔ ๐๙ ๓๐ ตะวันออก พิกัดนี้จะเดินทางไปถึงแหล่งดังกล่าวได้โดยรถยนต์สายสกลนคร-อำเภอเต่างอย ซึ่งสามารถไปได้หลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางจะมีระยะห่างประมาณ ๑๕-๑๗ กิโลเมตร จากนั้นเดินทางออกจากอำเภอห้วยหวด ประมาณ ๖ กิโลเมตร ไต่ลัดเลาะไปตามสันเขื่อนเข้าสำนักงานอุทยานแห่งชาติห้วยหวด ซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านหน้าประมาณ ๑ กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามผาหินตามเชิงเขาด้านล่างจะเป็นเพิงผาขนาดย่อมเป็นแนวยาว

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งภาพสลักหินเป็นเพิงผาหินทรายส่วนหนึ่งของภูดงสามปี เป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกอ้อมมาตอนเหนือของหมู่บ้านห้วยหวด โดยมีภูอ่างบกและภูก่ออยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภูหมากแงวเหนืออยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ในบริเวณภูดงสามปีอยู่ในบริเวณห้วยหวด และมีภาพสลักหินผานั้นเป็นบริเวณที่พื้นที่ลาดเอียงเชิงเขายาวประมาณ ๖๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เนื้อที่ที่เป็นภาพสลักมีขนาดกว้าง ๑.๕ ตารางเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นแผ่นหินที่หลุดออกมาจากแผ่นหินหน้าผาอันเกิดมาจากการทรุด ตัวจนแผ่นหินส่วนนี้หลุดออกมา ในเวลาต่อมาได้มีพระธุดงค์มาจำวัดในบริเวณถ้ำแห่งนี้ได้ก่อไฟหุงหาอาหารทำ ให้ควันไฟรมแผ่นหินที่สลักเป็นภาพ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นสีน้ำตาลคล้ำ ๆ นอกจากนี้ยังตกแต่งถ้ำด้วยการทุบแผ่นหินเข้าปูลาดแต่งบริเวณให้เป็นลานที่ นั่งปฏิบัติพิธีกรรม ในปัจจุบันปูลาดซีเมนต์ทะลุเข้าไปในถ้ำ มีการนำพระพุทธรูปมาตั้งเป็นพระประธาน ต่อไฟฟ้าเข้าสู่ถ้ำที่พัก การตกแต่งบริเวณถ้ำเช่นนี้เป็นการเปลี่ยนสภาพถ้ำให้ผิดไปจากเดิม เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมศิลปกรรมอย่างน่าเป็นห่วง

  • หลักฐานที่พบ

ภาพที่เหลือในแผ่นหินมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะแผ่นหินส่วนหนึ่งได้กระเทาะหลุดลงและถูกทุบทำลายไปแล้ว แต่ส่วนที่เหลือสันนิษฐานได้ว่า ใช้วิธีการทำรูปรอยลงในหินด้วยวิธีฝนเซาะร่อง (abrading) กับการจาร (graving) เป็นเส้นเป็นสายต่าง ๆ คล้ายกับที่ถ้ำผาลาย ภูผายนต์ ภาพดังกล่าวอาจแยกเป็น ๔ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มภาพเครื่องหมายและสัญลักษณ์
๒. กลุ่มภาพส่วนประกอบของร่างกายคน
๓. กลุ่มภาพสัตว์
๔. กลุ่มภาพต้นไม้และกิ่งไม้

๑. กลุ่มภาพเครื่องหมายและสัญลักษณ์
ภาพสลักเกือบทั้งหมดที่ปรากฏอยู่เป็นภาพลายเส้นเรขาคณิต เส้นที่พบมากที่สุดคือ เส้นที่ขีดเป็นรอยลึกรูปยาวรี โป่งตรงกลางเส้นความหมายของลายเส้นเหล่านี้ไม่สามารถจะแปลออกได้ แต่อาจเป็นที่เข้าใจกันระหว่างคนโบราณที่อยู่ในถ้ำพระด่านแร้งแห่งนี้ ภาพในกลุ่มนี้ที่อาจสันนิษฐานรูปร่างได้ เช่น รูปกากบาท ภาพสี่เหลี่ยม คล้ายกับอวัยวะเพศหญิง หรือ ปลา ภาพเครื่องหมายแสดงการร่วมประเวณี และภาพสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบ ๆ มีเส้นตัดขวาง ๑ เส้น คล้ายสัญลักษณ์ขององคชาติเพศชาย
๒. กลุ่มภาพส่วนประกอบของร่างกายคน
เห็นชัดได้เพียงภาพเดียว เป็นภาพมือมีครบ ๕ นิ้ว ไม่ได้ร่องที่เซาะหินออกเป็นนิ้ว แต่ใช้หินระหว่างร่องเป็นนิ้วมือ ความยาวของนิ้วมือเกือบเท่ากัน
๓. กลุ่มภาพสัตว์
มีภาพเส้นที่ประกอบขึ้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตัดด้วยเส้นกลางตัว ๒ ภาพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายปลา อาจมีภาพสัตว์มากกว่านี้ แต่ภาพที่ทำนั้นทับเส้นและซ้อนภาพมากจึงทำให้ดูสับสน
๔. กลุ่มภาพต้นไม้และกิ่งไม้
มีภาพหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นไม้ ประกอบด้วยเส้นตรงเส้นหนึ่ง มีเส้นคั่น ๆ ขีดเฉียงคล้ายกิ่งสน ภาพกิ่งไม้ประกอบด้วยใบไม้ เป็นภาพหยาบ ๆ
เมื่อพิจารณาลักษณะการสำรวจภาพของแหล่งภาพสลักหินผาทั้ง ๒ แห่ง คือ ถ้ำผาลาย และถ้ำพระด่านแร้ง อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นศิลปะร่วมยุคสมัยเดียวกัน ทั้งนี้เพราะบริเวณที่ตั้งหลักแหล่งภาพอยู่เทือกเขาเดียวกัน และอยู่ห่างจากกันเพียง ๒๐ กิโลเมตร และไม่ห่างจากแหล่งภาพสลักที่ถ้ำพระด่านแร้ง ยังมีภาพสลักหินผาที่ถ้ำม่วง เป็นภาพคล้ายภาพคน จึงอาจสรุปได้ว่า ภาพสลักผาหินทั้ง ๓ แห่ง เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของสกลนคร

  • เส้นทางเข้าสู่ถ้ำพระด่านแร้ง

จากบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหวดไปศูนย์พัฒนาฯ ทางเดินเท้าบนแผ่นศิลาหน้าผา ทางที่ใช้ไต่หน้าผา บริเวณแหล่งภาพสลัก