แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ปราสาทหินศีขรภูมิ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ปราสาทหินศีขรภูมิ

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สุรินทร์

  • สถานที่ตั้ง บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
  • ประวัติความเป็นมา

ปราสาทหินศีขรภูมิสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๕๕๐-พ.ศ. ๑๗๐๐ จากลวดลายที่เสาและทับหลังของปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทั้ง ๔ องค์ มีลักษณะปนกันระหว่างศิลปขอมแบบปาปวน และแบบนครวัด สำหรับเป็นศาสนสถานภายใต้ศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาคงมีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

  • ลักษณะทั่วไป

ปราสาทศีขรภูมิ สร้างด้วยอิฐ หิน ทราย และศิลาแลง ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐ ๕ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม จัตุรัส โดยมีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์บริวาร ๔ องค์ ล้อมอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ศาสนสถานทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยสระน้ำ ๓ สระ มีรายละเอียดดังนี้
๑.ปรางค์ประธาน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ยี่สิบ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังประตูจำหลักภาพศิวนาฏราชบนแท่น มีหงส์แบก ๓ ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีภาพพระพิฆเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางบรรพตี (พระอุมา) อยู่ด้านล่างเสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดา ลายก้ามปู และรูปทวารบาล บริเวณหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น

๒. ปรางค์บริวาร แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ยี่สิบ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก เช่นเดียวกับปรางค์ประธาน มีทับหลัง ๒ ชิ้น ชิ้นที่หนึ่งเป็นภาพพระกฤษณฆ่าช้างและคชสีห์ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย) ที่ปรางค์บริวารองค์ทิศตะวันตก พบจารึกหินทรายที่ผนังกรอบประตูเป็นจารึกอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย-บาลี เรื่องราวที่จารึกกล่าวถึงกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาร่วมกันบูรณะ โบราณสถานแห่งนี้
๓. สระน้ำ มีจำนวน ๓ สระ สระที่หนึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ มีความยาวล้อมอ้อมไปถึงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีก ๒ สระ ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้

  • หลักฐานที่พบ

ปรางค์ก่ออิฐ ๕ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยปรางค์ประธาน ปรางค์บริวาร และสระน้ำ ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๐๔ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๐๔ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา

  • เส้นทางเข้าสู่ปราสาทศีขรภูมิ

จากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศตะวันออก ตามถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ คู่ขนานกับรางรถไฟสายสุรินทร์-อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ ๒๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอศีขรภูมิอีก ๑ กิโลเมตร