แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - โนนขี้กลิ้ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

โนนขี้กลิ้ง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุดรธานี

  • สถานที่ตั้ง โนนขี้กลิ้งตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองสระปลา ตำบลบ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
  • ประวัติความเป็นมา

เป็นชุมชนเกษตรกรรม ประชากรเป็นคนไทยอีสานที่อยู่ดั้งเดิม และพวกที่อพยพมาจากมหาสารคาม ร้อยเอ็ดเข้ามาอยู่ ต่อมาโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนายสถาพร ขวัญยืน และเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรได้ทำการขุดตรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เมื่อวัน ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นเนินดินที่มีลักษณะเป็นรูปรีขนาดกว้าง ๑๕๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร สูงจากพื้นนาโดยรอบประมาณ ๖ เมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๗๒ เมตร บริเวณนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นดินชุดร้อยเอ็ดที่เป็นดินร่วนล้อมรอบด้วย ดินชุดร้อยเอ็ด หลุมที่ขุดตรวจแบ่งชั้นดินโดยอาศัยสีเนื้อดินและสิ่งของที่พบได้เป็นจำนวน ๗ ชิ้น ลักษณะรูปร่างและขอบเขตของชั้นดินจากการขุดตรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแบบเรียบในแต่ละชั้นดินเกือบจะเป็นเส้นตรง

  • หลักฐานที่พบ

๑. เศษภาชนะดินเผาจำนวนมากที่นำมาวิเคราะห์มีจำนวนทั้งหมด ๑๒๙ ชิ้น แบ่งได้ ๖ แบบ คือ แบบผิวเรียบ แบบลายเชือกทาบ แบบเคลือบน้ำโคลนสีแดง แบบลายเขียนสีแดงบนผิวสีนวล แบบขูดขีดและแบบลายประทับ รูปแบบของภาชนะแบ่งได้ ๘๘ แบบ
๒. โครงกระดูกมีทั้งหมด ๑๒ โครง พบสิ่งของต่าง ๆ ฝังรวมกับศพ เช่น เครื่องสำริด ภาชนะดินเผา ลูกปัด โครงกระดูกเด็ก ๔ โครง
๓. โลหะแยกได้ดังนี้ คือ เหล็ก แต่จำแนกไม่ได้ว่าเป็นเครื่องมือประเภทใด สำริดพบเพียงเศษชิ้นเล็ก ๆ และทองคำเป็นต่างหูจำนวน ๒ วง
๔. ลูกปัด

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีโนนขี้กลิ้ง

จากตัวจังหวัดอุดรธานีไปตามถนนสายอุดรธานี-สกลนคร ระยะทางประมาณ ๔๕ กิโลเมตร ถึงทางแยกเลี้ยวขวามือเข้าอำเภอไชยวาน ประมาณ ๓ กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านหนองสระปลา เดินทางไปตามทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ ๙๐๐ เมตร