แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เมืองหนองหานน้อย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองหนองหานน้อย

ภาค        ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด     อุดรธานี
สถานที่ตั้ง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

  • ประวัติความเป็นมา

ตามตำนานอุรังคธาตุเล่าว่า พระเจ้ากรุงอินทรปัตถ์ แคว้นกัมพูชา ให้ขุนขอมราชนัดดาไปตั้งเมืองหนองหานหลวงที่ท่าอาบนาง มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ทิศตะวันออกจดแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ทิศตะวันตกจดเทือกเขาเพชรบูรณ์ ต่อแคว้นทวาราวดี ทิศใต้จดแคว้นสาเกต ทิศเหนือจดหลวงพระบาง และแคว้นหริภุญไชย ขุนขอมมีโอรสชื่อสุรอุทกกุมาร เป็นผู้มีกฤษฎาภินิหาริย์ มีพระขรรค์มาด้วยแต่กำเนิด เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มาก เมื่อขุนขอมสิ้นพระชนม์ไป สุรอุทกกุมารได้ครองหนองหานหลวงสืบต่อมา สุรอุทกกุมารได้ไปตรวจอาณาเขตหนองหานหลวงจนถึงปากน้ำมูล ได้พบว่าบิดาได้มอบบริเวณนี้ให้ธนมูลนาคดูแลรักษา สุรอุทกกุมารไม่พอใจจึงท้ารบกับธนมูลนาค แต่ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ธนมูลนาคผูกใจเจ็บสุรอุทกกุมารมาก จึงแปลงกายเป็นเก้งเผือก (ฟานด่อน) ไปที่เมืองหนองหานหลวง สุรอุทกกุมารเห็นเก้งเผือกก็อยากได้จึงให้เสนาอามาตย์ไล่ล่า และยิง
เก้งเผือกด้วยธนูอาบยาพิษตาย ธนมูลนาคก็บันดาลให้เนื้อเก้งเผือกมีมากมายกินเท่าใดไม่หมด ผู้คนเมืองหนองหานหลวงก็ได้กินเก้งเผือกเกือบทุกคน ตกกลางคืนธนมูลนาคถล่มเมืองหนองหานหลวงจมบาดาลและฆ่าสุรอุทกกุมาร

โอรสทั้งสองของสุรอุทกกุมาร คือ ภิงคกุมาร และคำแดง ได้พาไพร่พลหนีไปอยู่ดอนโพนเมือง หาชัยภูมิสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ภิงคกุมารได้เห็นชัยภูมิที่ภูน้ำลอด (บริเวณพระธาตุเชิงชุมริมฝั่งหนองหานสกลนคร) ดีเหมาะจะสร้างเมือง ทั้งสุวรรณนาคผู้เฝ้ารักษาพระพุทธบาทที่ภูน้ำลอดนำน้ำเต้าทองคำใส่น้ำหอมมา ถวาย รดสรงให้ภิงคกุมารเป็นพญานั่งเมือง ภิงคกุมารจึงได้นามใหม่ว่า สุวรรณภิงคะ ครองเมืองหนองหานหลวงแต่นั้นมา

ส่วนพระยาคำแดงผู้น้อง เหล่าเสนาอำมาตย์เมืองหนองหานน้อย ได้มาอัญเชิญให้ไปเป็นพญานั่งเมืองหนองหานน้อย เรียกว่า พญาหนองหานคำแดง

เมื่อพระมหากัสสปะ ไปสร้างพระธาตุพนมที่ภูกำพร้า พระยาทั้งสองได้บริจาคทรัพย์สินและไพร่พลช่วยพระมหากัสสปะสร้างพระธาตุพนม ที่ภูกำพร้า บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าจนสำเร็จ

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพงศาวดารลาว (ฉบับมหาสีลา วรวงศ์) เล่าว่า พระเจ้าฟ้างุ้มแห่งศรีสัตตนาคนหุตล้านช้าง ได้ส่งครัวล้านช้าง ๑๐,๐๐๐ ครอบครัวมาไว้ที่เมืองหนองหานน้อย เมืองหนองหานหลวง เมืองสาเกต เมืองหนองหานตกอยู่ในอาณาจักรล้านช้าง มาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระองค์ได้ทูลขอพระเทพกษัตรีย์ พระราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นเอกอัครมเหสี พระองค์ท่านได้เสด็จมารอรับสมเด็จพระเทพกษัตรีย์ที่หนองหานน้อย และได้ฉลองพระธาตุที่เมืองหนองหานน้อย

มาในสมัยกรุงธนบุรี เกิดกบฏเจ้าสิริบุญสารเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เป็นแม่ทัพยกไปปราบกบถเจ้าสิริบุญสารที่เวียงจันทน์ กองทัพไทยไปตีจนถึงแคว้นเชียงขวางของพวน และสิบสองเจ้าไท ได้เวียงจันทน์ไว้ในอำนาจ พวกพวนได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านดงแพง และอพยพตามกันมาจนต้นรัตนโกสินทร์ และได้เปลี่ยนชื่อบ้านดงแพงเป็น "บ้านเชียง" นอกจากลาวพวนที่อพยพเข้ามาอยู่หนองหานน้อยแล้ว ยังมีพวกลาวเวียงและไทยอีสานเข้ามาอยู่ เมืองหนองหานจึงเป็นชุมชนใหญ่มาแต่โบราณ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แม่ทัพใหญ่หนใต้ในการปราบฮ่อ ได้ย้ายกองบัญชาการจากเมืองหนองคายมาอยู่ที่บ้านหมากแข้ง ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งของเมืองหนองหาน ต่อมาบ้านหมากแข้งพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองอุดร และเมืองหนองหานลดลงเป็นอำเภอหนึ่งในอุดรธานี

  • ลักษณะทั่วไป

ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ ๑,๒๕๐ x ๑,๐๕๐ เมตร มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ลักษณะเมืองเป็นรูปสม่ำเสมอ ตามแบบลพบุรี บริเวณรอบ ๆ เมืองมีที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ หลายสายสลับกับที่เนินสูง ด้านทิศตะวันออกตัวเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีลำห้วยทรายไหลผ่าน ส่งเข้าไปเลี้ยงชาวเมือง ด้านทิศตะวันตกเป็นหนองน้ำ ชื่อ หนองบ่อ และมีลำน้ำสายต่าง ๆ ไหลลงมา ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำ มีการขุดคลองตรงรับน้ำจากคูเมืองด้านทิศตะวันตก และยังมีลำห้วยแยกจากมุมคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือรับน้ำจากคูเมืองไป ออกด้านเหนือห้วยด่าน

ปัจจุบันคูเมืองถูกทางหลวงแผ่นดินอุดรธานี-สกลนครตัดผ่าน และคูเมืองด้านทิศเหนือถูกบุกรุกทำที่อยู่อาศัย และคูเมืองด้านทิศใต้ยังเหลืออยู่บริเวณหลังโรงเรียนหนองหานวิทยา

  • หลักฐานที่พบ

มีซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากมายในหนองหานน้อย พบเสมาหินทรายแดงที่วัดสามัคคีบำเพ็ญ พบซากสถูปที่ก่อด้วยอิฐ ๑ องค์ เดิมเป็นศิลปะลพบุรี ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นเจดีย์แบบลาวล้านช้างในสมัยหลัง พบพระพุทธรูปลพบุรีที่ถูกโบกปูนทับเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง แต่จากปูนกะเทาะทำให้เห็นองค์ข้างในเป็นหินทรายชัดเจน พบซากโบราณสถานแบบลพบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอโรคยาศาลา ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน หน้าที่ทำการสถานีอนามัยอำเภอหนองหาน และพบเสมาหินทรายสมัยทวาราวดีที่วัดโพธิ์ศรีในบ้านเชียงอีก ๑ หลัก

นอกจากซากเมืองแบบลพบุรี หนองหานน้อยยังเป็นเขตสะสมทางวัฒนธรรม ทั้งชุมชนศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ยังเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงมากมายหลายแห่ง เช่น ที่บ้านเชียง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม บ้านดุง บ้านสะแบง บ้านอ้อมแก้ว บ้านนาดี บ้านโนนขี้กลิ้ง ฯลฯ

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองหนองหานน้อย

เดินทางจากตัวเมืองอุดรธานี โดยทางหลวงแผ่นดินอุดรธานี-สกลนคร ระยะทางประมาณ ๓๕ กิโลเมตร