แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุดรธานี

สถานที่ตั้ง บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

  • ประวัติความเป็นมา

การค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณ หมู่บ้านเชียงนั้น เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียงบางคนสังเกตเห็นและมีความสนใจเศษภาชนะดินเผาที่มีลวด ลายเขียนสีแดงที่มักพบเสมอ เมื่อมีการขุดพื้นดินในบริเวณหมู่บ้าน จึงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านและจัดแสดงให้ผู้คน สนใจได้เข้าชม

พ.ศ. ๒๕๐๙ นายสตีเฟน ยัง (Stefhen Young) นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาศึกษาเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวบ้านเชียง จึงได้พบเห็นเศษภาชนะดินเผาเขียนสีกระจายเกลื่อนอยู่ทั่วไปตามผิวดินของหมู่ บ้าน จึงได้เก็บไปให้ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประจำกองโบราณคดี กรมศิลปากร ศึกษาวิเคราะห์และได้ลงความเห็นว่าเป็นเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคหินใหม่ (Neotelhic Period)

ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ กองโบราณคดี กรมศิลปากร จึงดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอย่างจริงจัง และส่งโบราณวัตถุไปหาอายุโดยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ (C-๑๔) ที่มหาวิทยาลัยเพนซินเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า โบราณวัตถุเหล่านั้นมีอายุ ประมาณ ๕,๖๐๐ ปีมาแล้ว

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๓ หน่วยศิปลากรที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าไปสำรวจโบราณวัตถุที่บ้านเชียง แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นเรื่องราวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่เข้าใจกันมากนัก จึงไม่มีการค้นคว้าทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง

พ.ศ. ๒๕๑๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอีกครั้งหนึ่งบริเวณวัดโพธิ์ศรี ใน และบริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ โดยได้ปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์สถานกลางแจ้งแห่งแรกในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นที่บ้านเชียง เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

  • ลักษณะทั่วไป

วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง แบ่งออกเป็น ๓ ระยะใหญ่ ตามลักษณะการฝังศพและภาชนะดินเผาที่บรรจุลงเป็นเครื่องเซ่นในหลุมฝังศพ ดังนี้
๑. สมัยต้นบ้านเชียง อายุระหว่าง ๕,๖๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๒. สมัยกลางบ้านเชียง อายุระหว่าง ๓,๐๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว
๓. สมัยปลายบ้านเชียง อายุระหว่าง ๒,๓๐๐-๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว
จากการวิเคราะห์วิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ้านเชียงโดยนักวิชาการพบว่า คนบ้านเชียงสมัยนั้นได้เลือกที่จะตั้งหมู่บ้านในพื้นที่เนินสูงปานกลางใกล้ จุดที่ทางน้ำธรรมชาติสองสายมาบรรจบกัน และมีพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่รอบๆ มีการปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์กันแล้ว แต่ก็ยังล่าสัตว์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำมาเป็นอาหาร บ้านพักอาศัยมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างอยู่บนเสาสูงทำให้มีใต้ถุนบ้าน สามารถใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ได้

  • หลักฐานที่พบ

๑. โครงกระดูกมนุษย์
๒. กระดูกสัตว์
๓. ภาชนะดินเผาลายขูดขีด ลายเชือกทาบ และลายเขียนสี
๔. ลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว
๕. เครื่องประดับ เครื่องใช้ ใบหอก และใบขวานสำริด

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

จากจังหวัดอุดรธานีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ เส้นทางอุดรธานี-สกลนคร ถึงกิโลเมตรที่ ๕๐ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๒๕ เข้าสู่หมู่บ้านเชียงอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองอุดรธานีถึงบ้านเชียง ๕๖ กิโลเมตร