วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ผาแต้ม

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุบลราชธานี

  • สถานที่ตั้ง บ้านกุ่มและบ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

  • ประวัติความเป็นมา

ผาแต้มเป็นหนึ่งในศิลปะถ้ำของถ้ำผาขาม อำเภอโขงเจียม เป็นภูผาทรายส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน มีลักษณะเป็นผาสูงขึ้นขนานไปตามแนวแม่น้ำโขงยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร ประกอบด้วยแหล่งศิลปะถ้ำ ๔ แห่ง คือ ผาขาม ผาแต้ม ผาหมอนและหมอนน้อย คนส่วนใหญ่เรียกรวมว่า " ผาแต้ม " เป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในกลุ่มศิลปะถ้ำ ของจังหวัดอุบลราชธานี มีอายุ ๓,๐๐๐ ปีก่อนประวัติศาสตร์

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นภาพเขียนสี สีแดง และภาพสลักบนผนังหินเรียงกันเป็นแนวยาวประมาณ ๙๐๐ เมตร ภาพเขียนที่ปรากฏมีมากกว่า ๓๐๐ ภาพ มีภาพคน ภาพสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ปลาบึก เต่าหรือตะพาบน้ำ ภาพวัตถุ ภาพสัญลักษณ์และภาพมือ ซึ่งภาพเป็นแบบทาบและแบบพ่น

  • หลักฐานที่พบ ภาพที่ปรากฏบนผาแต้ม ชี้ให้เห็นถึง

๑. เรื่องราวการดำรงชีวิต แสดงชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของผู้เขียนภาพขณะนั้น เช่น การล่าสัตว์ การจับปลา หรือแสดงความเป็นเจ้าของสถานที่ด้วยการวาดภาพปะปนไปกับกลุ่มภาพ
๒. การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดังปรากฏการเขียนรูปคนที่อิริยาบถแปลก แต่งตัวพิเศษกว่าเพื่อน สันนิษฐานว่าอาจจะหมายถึงบุคคลที่มีความสำคัญ อาทิ พ่อหมอที่สามารถสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่คนเกรงกลัว
๓. กลุ่มชนที่เขียนภาพ ไม่อาจกำหนดได้ชัดเจนว่าเป็นคนในสมัยใด แม้จะพบเครื่องมือหินขัดที่ถ้ำลายมือ บ้านปากลา หรือเครื่องมือ หินกระเทาะของชุมชนสังคมล่าสัตว์ที่สำนักสงฆ์ถ้ำช้างสี อำเภอเขมราฐ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เป็นเจ้าของเครื่องมือจะเป็นผู้เขียนภาพหรือไม่
๔. จากภาพอนุมานได้ว่า การแกะสลักบนผนังหินต้องใช้เครื่องมือที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือโลหะ ส่วนสีแดงที่ใช้ในการเขียนลวดลาย และเคลือบน้ำดินสีแดง ก็ปรากฏบนภาชนะดินเผาของชุมชนสังคมเกษตรกรรมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบใน เขตอีสานล่างเมื่อ ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปี

  • เส้นทางเข้าสู่ผาแต้ม

โดยทางรถยนต์ เป็นถนนลาดยางตามเส้นทางหลวงหมายเลขที่ ๒๑๗ เข้าสู่อำเภอโขงเจียม จากอำเภอโขงเจียมเดินทางต่อไปอีก ๑๔ กิโลเมตร ตามเส้นทางโขงเจียม-ศรีเมืองใหม่ แล้วแยกไปอีก ๖ กิโลเมตร