แหล่งโบราณคดีภาคใต้ - แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  กระบี่

  • สถานที่ตั้ง หลังโรงเรียนทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
  • ประวัติความเป็นมา

การสำรวจแหล่งโบราณคดีในจังหวัดกระบี่ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยศาสตราจารย์ ดร. ดักลาส แอนเดอร์สัน และ ดร. วรรณี วิบูลสวัสดิ์ แอนเดอร์สัน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้มีการสำรวจอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ มี ดร.พรชัย สุจิตต์ ร่วมด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากคุณวินัย และคุณโอวาท อุกฤษณ์ ในการติดต่อกับผู้ให้ข้อมูล พบว่ามีแหล่งโบราณคดีถึง ๑๐ แหล่ง ต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๒๕ - เดือน มกราคม ๒๕๒๖ มีการสำรวจเป็นครั้งที่ ๓ โดยทีมงานชุดเดิมและได้รับความช่วยเหลือจากคุณจิรชัย อึ้งวิศิษฐ์วงศ์ จากการสำรวจพบว่ามีแหล่งโบราณคดีมากกว่า ๑๐ แหล่ง ในจำนวนนี้มีแหล่งที่น่าสนใจ คือแหล่งโบราณคดี " ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก "

ในการสำรวจครั้งที่ ๓ ศาสตราจารย์ ดร. ดักลาส แอนเดอร์สัน ได้ตัดสินใจเลือกถ้ำหลังโรงเรียนทับปริกเป็นแหล่งที่จะขุดค้นอย่างละเอียด ซึ่งจากการสำรวจพบว่าสภาพแวดล้อมบริเวณถ้ำ เป็นพื้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึงและมีเพิงกำบังลมและฝน เหมาะที่จะเป็นสถานที่พักชั่วคราว

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และ พ.ศ. ๒๕๒๘ ศาสตราจารย์ ดร. ดักลาส แอนเดอร์สัน ได้รับทุนสนับสนุนจาก สมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ กรุงวอชิงตัน (The National Geographic Society) ในการขุดค้นถ้ำหลังโรงเรียน และได้ขุดลึกลงไปถึงชั้นดินที่ ๑๐ จากการคำนวณอายุ โดยทางวิชาการในชั้นที่ ๙ ให้อายุถึง ๓๗,๐๐๐ ปี แสดงถึงยุคที่น่าสนใจมากในการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในเอเชีย เมื่อหมู่เกาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเชียกับแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียง ใต้เป็นพื้นแผ่นดินติดต่อกัน เป็นยุคการอพยพครั้งแรกสุดของมนุษย์ลงไปทางใต้สู่นิวกินี และออสเตรเลีย และเป็นช่วงที่มนุษย์สมัยโบราณ (Homo Sapians) พัฒนามาจากมนุษย์โบราณ (Hominids)

ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มีการขุดค้นเป็นครั้งสุดท้าย รวมหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบจากการขุดค้นมีทั้งหลุมฝังศพ โครงกระดูก เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ เครื่องมือหิน เครื่องมือจากเขาสัตว์และกระดูก รวมทั้งกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ เปลือกหอย และเมล็ดพืช หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ประมาณอายุได้ ๔๓,๐๐๐ ปี เป็นอย่างน้อย

  • ความสำคัญต่อชุมชน

เป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เพราะจากหลักฐานที่พบ คำนวณอายุได้ระหว่าง ๔๓,๐๐๐-๒๗,๐๐๐ ปี ซึ่งอยู่ในยุคไพลสโตซีน (Plistocene) นับว่าเป็นชุมชนที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเก่าแก่ที่สุดบนคาบสมุทรแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่

  • ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นหุบเขาตั้งอยู่ในลุ่มน้ำกระบี่ (คลองกระบี่ใหญ่) ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๔ กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เพิงผาอยู่ในที่โล่งตามรอยบากของภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๕ เมตร ภูมิประเทศรอบด้านเป็นที่ราบและที่ราบระหว่างหุบเขา เป็นสวนยางพาราและสวนผลไม้ของชาวบ้าน

  • เส้นทางเข้าสู่ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก

ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริกอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนราดยางตลอดสาย สามารถโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือขับรถยนต์เข้าไปโดยผ่านสามแยกตลาดเก่าเลี้ยวขวาไปยังถนนศรีตรัง เมื่อถึงปากทางเข้าไปบ้านคลองใหญ่เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางถนนราดยาง จนถึงโรงเรียนทับปริกจึงเดินเท้าเข้าไปทางหลังโรงเรียนลัดเลาะชายป่าและเชิง เขาก็จะถึงเพิงผาที่เป็นแหล่งขุดค้น