แหล่งโบราณคดีภาคใต้ - ควนลูกปัด แหล่งชุมชนโบราณคลองท่อม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ควนลูกปัด แหล่งชุมชนโบราณคลองท่อ

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  กระบี่

  • สถานที่ตั้ง ชุมชนโบราณควนลูกปัด (คลองท่อม) ตั้งอยู่ประมาณเส้นละติจูดที่ ๗ ํ ๕๕ ๑๖" เหนือ และลองติจูดที่ ๙๙ ํ ๙ ๔๙" ตะวันออก ทิศเหนือจดที่ดินวัดคลองท่อม บ้านเรือนของชาวบ้าน ทิศใต้ติดกับที่ครอบครองของชาวบ้าน สวน และป่าละเมาะ ทิศตะวันออกติดต่อกับที่นาและสวนยางพารา ทิศตะวันตกติดต่อกับสวนผลไม้ บ้านเรือน และวัดคลองท่อม
  • ประวัติความเป็นมา

ประวัติชื่อชุมชน คำว่า "ควนลูกปัด" เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเมื่อมีการค้นพบลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ บนเนินดินบริเวณนี้ สมัยก่อนไม่มีใครสนใจเพราะเห็นว่าไม่มีค่าอะไร หรือเห็นว่าเป็นของโบราณเกรงจะเกิดอาเพทตามความเชื่อและเรียกบริเวณนี้ว่า ควนลูกปัด ส่วนชื่อ"คลองท่อม" เป็นชื่อหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ตั้งขึ้นตามชื่อ"ลำคลอง" ที่ไหลผ่าน คำว่า "ท่อม" มีผู้ให้ความเห็นดังนี้

"ท่อม" เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง สมัยก่อนขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณลำคลอง
"ท่อม" เลือนมาจากคำว่า "ทุ่ม" ซึ่งแปลว่า ทอดทิ้ง ละร้างไป สันนิษฐานว่าชุมชนแห่งนี้ถูกละทิ้งไปเพราะสาเหตุหลายประการ เช่น ถูกข้าศึกรุกราน หรือละทิ้งไปเพราะเกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง

  • ลักษณะ

ลักษณะของควนลูกปัดเป็นเนินดิน ไม่มีคูน้ำคันดินหรือคูเมือง เป็นเนินราบในระดับความสูง ๘ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ราบกว้างประมาณครึ่งตารางกิโลเมตร แวดล้อมด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ ป่าละเมาะและบ้านเรือนของชาวบ้าน ด้านตะวันออกเป็นแนวสูงต่อมาจากไหล่เขา เนินด้านเหนือไปสิ้นสุดกลางบริเวณที่ราบต่ำ ทางใต้และตะวันตกเป็นที่ราบมีลำคลองไหลผ่านชื่อคลองท่อม

  • หลักฐานที่พบ

หลักฐานทางโบราณคดี พบการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ แต่ก็มีการพบวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเนินดินคลองท่อมคงเป็นชนพื้นเมืองสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาใกล้เคียงนั่นเอง เพราะจากหลักฐานต่าง ๆ จากบริเวณอ่าวพังงาลงมาถึงบริเวณเขาขนาบน้ำ ถ้ำเสือ ถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก ถ้ำอ่าวโกบหน้าชิง ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ชุมชนคลองท่อมอยู่ใกล้ทะเล มีลำคลองไหลผ่าน อยู่ในเส้นทางการเดินข้ามแหลมจากตะวันตกไปตะวันออก เป็นที่ผ่านไปมาของบรรดาพ่อค้าต่าง ๆ เช่น จากอินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย เป็นต้น

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ประเภทวัตถุที่ทำด้วยหิน เช่น เครื่องมือหิน หินดุ แท่นหินสลัก แม่พิมพ์ ตราประทับ ลูกปัดหิน ก้อนรัตนชาติ หินบด หินลับ ครกหิน ฯลฯ

วัตถุที่ทำด้วยแก้ว มีลูกปัดแก้วหลายสีหลายขนาด กำไลแก้ว แก้วหล่อ เศษแก้วหลอม แหวน เศษภาชนะแก้ว ฯลฯ
วัตถุที่ทำด้วยดินเผา มีเศษภาชนะดินเผาทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบ มีลายและไม่มีลาย ตะคันดินเผา แวดินเผา แม่พิมพ์ ลายประทับรูปกลีบบัว รูปดอกไม้ ดินเผารูปสัตว์ รูปคนเล็ก ๆ หินดุ
วัตถุที่ทำด้วยสำริด มีจำพวกแหวนสำริด กำไล ตุ้มหู รูปสัตว์ต่าง ๆ เหรียญที่เป็นรูปสัญลักษณ์ต่าง ๆ ชิ้นส่วนคันฉ่องสำริดของจีน

วัตถุที่ทำด้วยเงิน มีจำพวกกำไล แหวน ตุ้มหู เหรียญรูปลักษณ์ต่าง ๆ แร่เป็นก้อนซึ่งสันนิษฐานว่าแร่เงิน
วัตถุที่ทำด้วยทองคำ มีจำพวกลูกปัดต่าง ๆ ทองคำแท่งหรือเป็นแผ่น แหวนทองคำ เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีคลองท่อมหรือควนลูกปัด เป็นสถานที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดี วัตถุโบราณส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม โดยพระครูอาทรสังวรกิจเป็นผู้ดำเนินการ ผู้สนใจทางโบราณคดีแวะไปชมและศึกษาอยู่เป็นประจำ

  • เส้นทางเข้าสู่ควนลูกปัด

โดยสารรถยนต์ประจำทางหรือรถส่วนตัว จากตัวเมืองกระบี่ไปตามเส้นทางกระบี่-ตรังผ่านกิ่งอำเภอเหนือคลอง ไปยังอำเภอคลองท่อมระยะทาง ๔๐ กิโลเมตร ผ่านตลาดคลองท่อมไปยังวัดคลองท่อมซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ เดินเท้าจากวัดไปยังแหล่งโบราณคดีควนลูกปัดซึ่งอยู่หลังวัด