วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานเรน

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ชุมพร

  • สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่เขาฉานเรน ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร
  • ประวัติความเป็นมา

แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานเรน เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ยุคโบราณแห่งหนึ่งของอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่าบริเวณนี้มีเศษภาชนะกระจัดกระจายภายในถ้ำและบริเวณเพิงผาเป็นจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นที่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหิน ใหม่ เชื้อสายชนเผ่าออสโตรเนเซียน ที่อพยพถิ่นฐานมาจากตอนเหนือของจีน ราว ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากลักษณะถ้ำและเพิงหินในเทือกเขานี้เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานเรนตั้งอยู่ในภูเขาฉานเรน ระหว่างเขตอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร และอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เป็นเทือกเขาไม่มีที่ราบ แต่มีลำน้ำใกล้เคียง ลักษณะของแหล่งโบราณคดีเป็นเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ ๓๐ เมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๑๘ เมตร บริเวณด้านหน้าเพิงผามีลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่านพื้นที่เพิงผาอยู่ในระดับเดียวกับพื้นที่ด้านนอก โบราณวัตถุ พบบริเวณเพิงผา และภายในถ้ำ

  • หลักฐานที่พบ

เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ มีเม็ดทรายปนมาก ลักษณะเป็นการเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ขึ้นรูปด้วยมือ พบทั้งส่วนปาก ส่วนก้น ส่วนตัว ส่วนขา โบราณวัตถุที่พบมากเป็นภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา และเครื่องมือหินประเภทขวานหินขัด กำหนดอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ราว ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานเรน

เริ่มจากถนนเพชรเกษม ผ่านวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร กลับรถที่จุดกลับรถ จะพบสามแยกวัดเทพนิมิตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนซอย ขับไปตามทางข้ามสะพานคอนกรีตจะพบสามแยก ซึ่งมีศาลาเอนกประสงค์ เลี้ยวซ้ายขับตรงไปผ่านโรงเรียนสามแยกจำปา ระยะทางจากถนนแยกเพชรเกษมถึงบริเวณเขาฉานเรน ประมาณ ๑๒ - ๑๓ กิโลเมตร