วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

บ้านโมคลาน

 

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  นครศรีธรรมราช

  • สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ ณ บ้านยิงและบ้านโมคลาน หมู่ที่ ๙ ตำบลหัวตะพาน และหมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๘ ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

  • ประวัติความเป็นมา

"ตั้งดิน ตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง" บทกลอนนี้แสดงให้เห็นความเก่าแก่ของบ้านโมคลานซึ่งเป็นชุมชนโบราณ ที่มีอายุประมาณ ๘,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการศึกษาสำรวจชุมชนโมคลานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ศาสตราจารย์ลูฟส์ (H.H.E.Loofs) แห่งโครงการสำรวจทางโบราณคดีไทย-อังกฤษ ได้เข้าสำรวจและมีความเห็นว่า เนินโบราณสถานของโมคลาน หรือแนวหินตั้งจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ และห่างจากเนินโบราณสถานโมคลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นพรุลึกมากเรียกว่า "ทุ่งน้ำเค็ม" ปัจจุบันตื้นเขิน ชาวบ้านได้ขุดพบเงินเหรียญแบบฟูนัน จึงสันนิษฐานว่า

บ้านโมคลานอาจเป็นชุมชนเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีการติดต่อกับชุมชนภายนอก จากหลักฐานที่พบทั้งเทวสถาน โบราณวัตถุในศาสนาพราหมณ์ สระน้ำโบราณ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายในบ้านโมคลาน แต่ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาได้เข้ามาแพร่หลายในบ้านโมคลาน เพราะพบหลักฐานโบราณวัตถุสถานทางศาสนาพุทธอยู่มากเช่นเดียวกัน แต่โบราณสถานทางศาสนาของบ้านโมคลานคงจะถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน อาจจะก่อนหรือพร้อมกับการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยมุสลิม จากรัฐไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของบ้านโมคลาน จึงเป็นไทยมุสลิม ร้อยละ ๗๐ อีกร้อยละ ๓๐ เป็นชาวไทยพุทธ

  • ลักษณะทั่วไป

บ้านโมคลานเป็นชุมชนใหญ่ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติการตั้งถิ่นฐานของประชากร ตั้งอยู่ตามแนวยาวของสันทรายเก่า ลักษณะของชุมชนกระจายในแนวยาวเหนือ-ใต้ มีลำน้ำไหลมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช ผ่านชุมชนโมคลาน ๒ สาย แล้วไปลงทะเลที่อ่าวไทย ได้แก่ คลองชุมขลิง (คลองยิง) และคลองโต๊ะแน็ง (คลองโมคลาน) แต่เดิมคลองทั้งสองนี้คงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่เพราะยังมีร่องรอยของตะกอนและการ กัดเซาะ แต่ปัจจุบันตื้นเขิน มีที่ราบลุ่มทั้งสองฝั่งของคลอง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรในชุมชนโมคลานจึงมีอาชีพทำนา และทำสวนมะพร้าว ยางพารา และสวนผลไม้บนสันทราย และยังมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผามีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยก่อน

  • หลักฐานที่พบ

๑. หลักหิน มีหลักหินแสดงขอบเขตของโบราณสถาน หรือเขตวัดจำนวนหลายแนว แต่ละแนวปักหลักหินเป็นแนวตรงกันไป ทุก ๆ ต้นปักเป็นระยะห่างเท่า ๆ กัน
๒. ซากเจดีย์ พบอยู่ทางทิศตะวันออกของแนวหลักหินแนวแรก มีลักษณะคล้ายจอมปลวก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เมตร มีผู้คนจำนวนมากได้ขุดหาสมบัติ เพราะพบลายแทง ได้พบของมีค่าหลายอย่าง เช่น เงิน และทอง เป็นต้น
๓. ซากเทวสถาน พบใกล้ ๆ ซากเจดีย์ ได้ค้นพบหินที่เป็นชิ้นส่วนของอาคารวางระเกะระกะอยู่บนเนินทั้งธรณีประตู กรอบประตู เสา ฐานเสา ต่อมาได้นำชิ้นส่วนของอาคารเหล่านี้มาสร้างกุฏิทางทิศเหนือของเนินโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ ในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของเสากุฏิดังกล่าวอยู่ ชิ้นส่วนของอาคารที่นำมาสร้างกุฏินี้ส่วนหนึ่งเป็นหินที่มีการสลักลวดลาย ด้วย ส่วนโบราณวัตถุหลายชิ้นที่พบบนเนินโบราณสถาน ได้เคลื่อนย้ายออกมาวางไว้ตามบริเวณโคนต้นไม้ทางทิศเหนือของเนิน
๔. โยนิโทรณะ ได้พบโยนิโทรณะในซากของเทวสถานหลายชิ้น แต่บางชิ้นก็ไม่สมบูรณ์ ส่วนศิวลึงค์ในเทวสถานนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งได้เคลื่อนย้ายออกไปนอกชุมชน โบราณโมคลาน
๕. พระพุทธรูปปูนปั้น ได้พบพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งชำรุดขนาดสูงราว ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ องค์ ปัจจุบันไม่ทราบว่าถูกเคลื่อนย้ายไป ณ ที่ใด และพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปมากมายทั้งบริเวณบนเนินโบราณสถานและใต้ต้นจันทน์ ทางทิศเหนือของเนิน ปัจจุบันเศียรพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งยังประดิษฐานอยู่ในวิหารของวัดโมคลาน
๗. สระน้ำโบราณ ทางทิศตะวันออกของเนินโบราณสถานมีสระน้ำโบราณอยู่ ๓ สระ สระน้ำโบราณเหล่านี้มีขนาดใหญ่มาก ขุดเป็นแนวไปตามสันทราย สระแรกห่างจากเนินโบราณสถานประมาณ ๕๐ เมตร และสระสุดท้ายซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ ถึง ๖๐ เมตร อยู่ห่างจากเนินโบราณสถานมากที่สุดคือ ประมาณ ๑๐๐ เมตร

  • เส้นทางเข้าสู่บ้านโมคลาน

จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข ๔๐๑ นครศรีธรรมราช -ท่าศาลา สภาพเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ตรงกิโลเมตรที่ ๙.๕ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๔๑๔๑ บ้านหน้าทับบ้านดอนคา สภาพถนนลาดยาง ถึงบ้านสี่แยกวัดโหนด เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายสี่แยกวัดโหนด-บ้านในเขียว สภาพเป็นถนนลาดยางใช้ระยะทาง ๑ กิโลเมตร ก็ถึงบ้านโมคลาน