วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เขาคา

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  นครศรีธรรมราช

  • สถานที่ตั้ง เขาคาตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

  • ประวัติความเป็นมา

ชุมชนโบราณเขาคา สันนิษฐานว่าเจริญขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เขาคาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ได้พบร่องรอยหลักฐานสถาปัตยกรรมเทวาลัยตามแนวสันเขา เชื่อกันว่าชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนคงกระจายอยู่ตามพื้นที่ราบรอบเขาคา ซึ่งเป็นที่กว้างเหมาะแก่การทำเพาะปลูก ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในชุมชนที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างไปในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าเมื่อนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีอิทธิพลครอบคลุมเมืองสิบสองนักษัตร ผู้คนที่เคยอยู่แถบเขาคา อาจเคลื่อนย้ายอพยพไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ คงเป็นสาเหตุให้ชุมชนโบราณเขาคาถูกทิ้งร้างในเวลาต่อมา
การสำรวจพบเขาคาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เริ่มให้ความสนใจที่จะสำรวจโบราณ สถานในท้องถิ่นของตนขึ้น ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้าสำรวจศึกษาบันทึกข้อมูล และรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญ ๆ นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้งบประมาณดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ และสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโบราณวัตถุโบราณสถานที่พบในพื้นที่ โดยรอบเขาคา ปัจจุบันได้เปิดบริการให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้

  • ลักษณะทั่วไป

เขาคาเป็นภูเขาขนาดเล็กลูกโดด สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๗๒ เมตร มีพื้นที่กว้าง ๒๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร ทอดตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีคลองท่าทนไหลผ่าน ประกอบด้วยยอดเขาสองยอด มีลักษณะเป็นเนินบนตระพักเขา บนเนินยอดเขาทั้งสองมีโบราณสถานหลายแห่ง เรียงตามสันเขา บริเวณภูเขาปกคลุมด้วยป่า
โบราณสถานเขาคา มีประโยชน์ต่อการศึกษา มีร่องรอยของอารยธรรมความเจริญให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาพราหมณ์ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ศึกษารากเหง้าของตนเองได้มีความรู้ความเข้าใจใน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา และชาติพันธ์วิทยาของชาวนครศรีธรรมราชต่อไป เขาคายังเป็นสถานที่พำผ่อนหย่อนใจทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอสิชล เป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น

  • หลักฐานที่พบ

๑. โบราณสถานบนยอดเขาทางทิศเหนือ เป็นศาสนสถานที่ใช้หินธรรมชาติมาก่อล้อมเป็นฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้วยกำแพงแก้ว ประดิษฐานศิวลึงค์ขนาดใหญ่ที่ปรับแต่งจากแท่งหินธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ โดยรอบแท่งหินมีร่องรอยการกะเทาะให้มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ ด้านล่างมีร่องโสมสูตรเพื่อรับน้ำจากการบูชาให้ไหลผ่านไปทางทิศเหนือ ลงสู่ลาดเขาต่ำลงไปเบื้องล่าง
๒. กลุ่มโบราณสถานบนยอดเขาจากทิศใต้ ประกอบด้วยอาคาร ๔ หลัง เรียงตามลำดับจากทิศเหนือ-ทิศใต้
๒.๑) โบราณสถานหมายเลข ๑ เป็นกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๒๖.๖๐ x ๖๐ เมตร ด้านทิศเหนือของกำแพงแก้วเปิดเป็นช่องประตูและบันไดเพื่อเป็นทางเข้าออก ภายในกำแพงแก้วมีหลักฐานว่าเป็นลานปูอิฐ พบส่วนฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๘.๔๐ x ๑๓.๘๐ เมตร ตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ธรณีประตู กรอบประตู และฐานเสา
๒.๒ โบราณสถานหมายเลข ๒ เป็นประธานของศาสนสถานบนเขาคาตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของสันเขา เป็น
เทวาลัยสำหรับประดิษฐานศิวลึงค์ การสร้างเทวาลัยบนยอดเขาคามาจากความเชื่อโดยสมมติให้เขาคาเป็นเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลที่สถิตประทับของเทพเจ้าสูงสุด คือองค์พระศิวะ โดยมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอาคารก่อล้อมด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๒๖ x ๒๖ เมตร มีประตูและบันไดเข้า-ออก ที่กำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ ระหว่างกำแพงแก้วกับตัวอาคารเป็นลานปูอิฐ ตัวอาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด ๑๗x๑๗ เมตร ด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหน้าทำเป็นมุขกึ่งกลางเป็นบันไดทางขึ้นจากพื้นลานสู่โถงภายใน ใกล้กึ่งกลางของฐานอาคารด้านทิศเหนือมีบ่อรูปสี่เหลี่ยมใช้เป็นบ่อรับ น้ำมนต์ซึ่งไหลตกลงมาจากท่อโสมสูตรที่ตั้งอยูบนอาคารด้านทิศเหนือ
๒.๓ โบราณสถานหมายเลข ๓ เป็นอาคารขนาดเล็กอยู่ทางด้านทิศใต้หรือด้านหลังของอาคารประธาน สภาพหลังการขุดแต่งค่อนข้างชำรุด พบฐานเสาอาคารเป็นฐานเสาหินประมาณ ๕ เสา กระจัดกระจายอยู่โดยรอบโบราณสถาน
๒.๔ โบราณสถานหมายเลข ๔ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้สุดของสันเขา มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๗.๕๕x ๑๓.๘๐ เมตร ประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ โดยรอบอาคารมีฐานเสาวางกระจัดกระจายอันเกิดจากการลักลอบขุดของคนในชั้นหลัง โบราณวัตถุสำคัญที่พบ คือฐานโยนิ ลักษณะเลียนแบบธรรมชาติที่มีลักษณะสวยงามที่สุดชั้นหนึ่งที่เคยพบในภาคใต้ ของไทย
๓. สระน้ำโบราณ
สระน้ำบนยอดเขาเกิดจากการปรับแต่งร่องเขาขนาดเล็กระหว่างลาดเขาใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ มีทั้งหมด ๓ สระ ได้แก่
๓.๑ สระน้ำหมายเลข ๑ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๑ กับโบราณสถานหมายเลข ๒ ขนาดกว้าง ยาวประมาณ ๑๒x๒๔ เมตร
๓.๒ สระน้ำหมายเลข ๒ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๒ กับโบราณสถานหมายเลข ๓ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร
๓.๓ สระน้ำหมายเลข ๓ อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข ๑ กับเนินโบราณสถานด้านทิศเหนือ ขนาดกว้าง-ยาวประมาณ ๔x๑๐ เมตร
๔. โบราณวัตถุ
โบราณวัตถุมีหลายชิ้นที่สำคัญ ได้แก่
๔.๑ ศิวลึงค์ เป็นรูปเคารพในลัทธิไศวนิกายมีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่รูปแบบที่นิยมมีสามส่วนคือ
ส่วนฐาน เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า พรหมมภาค หมายถึงพระพรหม ส่วนกลาง เป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึง พระวิษณุ ส่วนยอด เป็นทรงกลมโค้งมน เรียกว่า รุทรภาค หมายถึง พระศิวะ
๔.๒ ฐานโยนิโทรณหรือฐานศิวลึงค์ พบเป็นจำนวนมาก ทำมาจากหินปูน มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันหลายรูปแบบและหลายขนาด
๔.๓ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ที่พบมากมีธรณีประตู โสมสูตร ฐานเสา ขึ้นส่วนกรอบประตูทำมาจากหินปูน
๔.๔ เทวรูปและชิ้นส่วนเทวรูป มีการขุดพบหลายชิ้น ทำมาจากหินปูน

  • เส้นทางเข้าสู่เขาคา

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๑ นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๖๓ กิโลเมตร ถึงสามแยกเข้าบ้านเขาคา เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางประมาณ ๔ กิโลเมตร ก็จะถึงแหล่งโบราณคดีเขาคา