แหล่งโบราณคดีภาคใต้ - แหล่งโบราณคดีวัดสุวรรณคูหา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีวัดสุวรรณคูหา

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พังงา

  • สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๒ ตำบลกะโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
  • ประวัติความเป็นมา

การค้นพบแหล่งโบราณคดี มีลักษณะของตัวแหล่งรวมทั้งโบราณวัตถุที่พบเป็นแหล่งโบราณคดีใช้เป็นที่พัก อาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่สังคมเกษตรกรรมมีการล่าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลจะอยู่ในถ้ำสุวรรณคูหาหรือ "วัดถ้ำ" โบราณวัตถุของมนุษย์ที่พบที่วัดสุวรรณคูหา ได้แก่ ภาชนะดินเผา ขวานหินขัด กำไล และเปลือกหอยต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุที่จัดอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุราว ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว เป็นเพิงหินธรรมชาติ ตั้งอยู่บนเขาหินปูนขนาดเล็ก "เขาถ้ำ" สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ ๑๐๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปากถ้ำกว้างประมาณ ๕ เมตร ตัวถ้ำด้านในกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ลึกประมาณ๑.๕๐ เมตร และสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีทางน้ำไหลผ่านคลองถ้ำสภาพพื้นถ้ำลักษณะขรุขระ

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นแหล่งโบราณคดีที่ใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนก่อนประวัติ ศาสตร์ สมัยหินใหม่ในสังคมเกษตรกรรม วัตถุโบราณที่พบมีภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผา ขวานหินขัด กำไลที่ทำจากเปลือกหอยและเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ซึ่งพบภายในถ้ำเป็นเพิงหินธรรมชาติ สภาพพื้นถ้ำขรุขระ

  • หลักฐานที่พบ

หลักฐานที่พบเป็นโบราณวัตถุหลายประเภท มีดังนี้
๑. ภาชนะดินเผาและเศษภาชนะดินเผา เนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีทั้งผิวเรียบและตกแต่งผิวด้วยลายขูดขีดและลายเรขาคณิต
๒. ขวานหิน ชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า ทำจากหินปลิ้นท์แวสเปรอร์ คาลซิโดนี และหินทราย ได้แก่ หินลับทำด้วยหินปูนและหินควอตซ์ มีด้วยกัน ๓ อัน เครื่องมือสะเก็ดหินขูดรูปไข่ทำจากหินควอตซ์สีน้ำตาลเข้ม เครื่องมือสะเก็ดหินพบจำนวน ๒ ชิ้น ทำด้วยหินควอตซ์มีด้วยกัน ๓ อัน เครื่องมือสะเก็ดหินขูดรูปไข่ ทำจากหินควอตซ์สีขาวและสีน้ำตาลแผ่นหินกลมทำด้วยหินชนวน ขวานหินขัดมีรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีคมสอบลงด้านเดียว ขวานรูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชนิดมีบ่า ทำด้วยหิน ควอตซ์ หินปูนและหินเซิร์ต
๓. กำไล ทำจากเปลือกหอย หินทุบเปลือกไม้ และลูกปัดสีส้ม ทำจากหินคาร์นีเลียน
๔. เปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ได้แก่ หอยกาบ หอยแครง หอยน้ำพริก หอยกระดุมจุด หอยหลักควาย (หรือที่เรียกว่าหอยสันขวาน) และหอยติบ

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีวัดสุวรรณคูหา

ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) ระหว่างโคกกลอย - พังงา ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ แล้วแยกไปตามถนนทางด้านทิศเหนือประมาณ ๘๐๐ เมตร ก็จะถึงแหล่งโบราณคดีวัดสุวรรณคูหา