วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พังงา

  • สถานที่ตั้ง บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง ๘ องศา ๓๕ ลิปดา ๒๐ พิลิปดาเหนือ เส้นแวง ๙๘ องศา ๑๖ ลิปดา ๕๒ พิลิปดาตะวันออก

  • ประวัติความเป็นมา

แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา หรือที่เรียกว่า แหล่งโบราณคดีบ้านทุ่งตึก เกาะคอเขา เป็นเกาะขนาดเล็กยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า มีลักษณะคล้ายสันทราย มีป่าไม้โกงกางทางด้านฝั่งตะวันออกของเกาะส่วนทางด้านฝั่งตะวันตกของเกาะหัน หน้าออกสู่ทะเลอันดามัน ของมหาสมุทรอินเดีย ทางด้านเหนือของเกาะมีภูเขาเตี้ย ๆ ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญบนเกาะคอเขาตั้งอยู่ในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ทุ่งตึก" หรือ "เหมืองทอง" เหตุที่เรียกเช่นนี้คงจะเป็นเพราะว่าในบริเวณนี้มีซากอาคารโบราณสถานอยู่ ๓ แห่ง นอกจากนี้ในบริเวณนี้ยังได้พบฐานเทวรูปเหรียญเงินอินเดีย เศษทองคำ และผงทรายทอง ปัจจุบันโบราณสถานดังกล่าวถูกทำลายไป คงเหลือแต่เพียงซากของฐานก่ออิฐเพียงบางส่วนเท่านั้น แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา หรือเหมืองทองได้มีการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยพบซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐขนาดยาว ๖๐ หลา กว้าง ๓๐ หลาสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๖ ฟุต และพบเศษภาชนะดินเผาที่ผลิตในสมัยราชวงศ์ถังของจีน (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) และเครื่องแก้วของชาวเปอร์เซียโดยที่ไม่ได้ดำเนินการขุดค้นในชั้นดิน ธรรมชาติ โบราณวัตถุเหล่านี้จัดได้ว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ จากโบราณวัตถุที่พบเป็นจำนวนมาก แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อาจจะเป็นศูนย์กลางในการค้าขายของศรีวิชัย

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขามีซากอาคารโบราณสถานอยู่ ๓ แห่ง และพบฐานเทวรูป เหรียญ เงินอินเดีย เศษทองคำ และผงทรายทอง และโบราณสถานก่อด้วยอิฐขนาดยาว ๖๐ หลา กว้าง ๓๐ หลา สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๖ ฟุต และได้พบเศษภาชนะดินเผาที่ผลิตในสมัยราชวงศ์ถังของจีน เครื่องแก้วของชาวเปอร์เซีย

  • หลักฐานที่พบ

๑. ประติมากรรมเทพีและโอรส ประติมากรรมชิ้นนี้ทำจากหินปูน แต่ลวดลายต่าง ๆ ลบเลือนมาก เทวรูปนี้มีฐานกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ส่วนสูง ๖๕ เซนติเมตร ประติมากรรมเทพีประทับนั่งชันพระชงฆ์ซ้ายวางพระบาทซ้ายทับบนพระบาทขวา พระหัตถ์ซ้ายโอบโอรส พระหัตถ์ขวาถือลูกกลมหรือก้อนดิน หรือธรณี โอรสประทับนั่งบนพระชงฆ์ซ้ายเทพีโดยพระบาทลงเบื้องล่าง พระหัตถ์ขวาชูเหนือเศียร ทั้งเทพีและโอรสมุ่นมวยผมสูง ทรงสวมกรองคอพาหุรัด ส่วนกุณฑลทรงกลม นุ่งผ้าเว้าลงใต้พระนาภี ปรากฏชายผ้านุ่งที่ของพระบาททั้งสองข้าง
๒. ฐานเทวรูป เป็นฐานเทวรูปที่ทำจากหินปูน ตรงกลางจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๑๒ เซนติเมตร
๓. แท่งหินปูน เป็นแท่งหินปูนที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดกว้าง ๓๑ เซนติเมตร สูง ๕๕ เซนติเมตร แท่นนี้อาจจะเป็นที่สำหรับวางรูปเคารพก็ได้
๔. เครื่องประดับทำด้วยหิน แร่ประกอบหิน เช่น กำไล หิน จักรหิน ลูกปัดหิน
๕. เศษภาชนะดินเผา ก็จะมีภาชนะประเภทพื้นเมือง เช่น พวยการูปแบบตรงกลางป่องเป็นรูปวงแหวน เนื้อละเอียดและพวยกาสั้นและยาวแต่โค้งลง เนื้อมักหยาบ และภาชนะดินเผาประเภทที่มาจากต่างประเทศ เป็นภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล แบบฉาง-ชา (Shang - Sha) ในมณฑลโฮนาน (Honan) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ (สำริด - เหล็ก)

  • เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ

เส้นทางจากอำเภอตะกั่วป่า ไปยังแหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา เป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด จากถนนหน้าเทศบาลตะกั่วป่าไปตามเส้นทางเพชรเกษม - บ้านบางม่วง ประมาณ ๗ กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังบ้านน้ำเค็ม ในบริเวณท่าเรือ จะมีแพขนานยนต์ข้ามไปยังบ้านทุ่งตึก ก็จะถึงแหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา