วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีถ้ำนาค

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พังงา

  • สถานที่ตั้ง ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

  • ประวัติความเป็นมา

ถ้ำนาค เป็นแหล่งศิลปะบนผนังหินปูน เป็นภาพเขียนสีแบบดั้งเดิม โดยใช้สีแตกต่างกัน โดยมีสีแดงชนิดสีเปียก สีแดงเข้มและสีดำ เป็นรูปขบวนเรือและปลา มีกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ และเครื่องทำมาหากิน และภาพเขียนสีแบบดั้งเดิม เป็นร่องรอยการอาศัยและกองกระดูกสัตว์ที่พบในคูหาที่ ๓ หลักฐานทั้ง ๓ ประเภทนี้ น่าจะมีความสัมพันธ์กันมากที่สุด อาจจะเกิดจากคนกลุ่มเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความสำคัญของคูหาที่ ๓ นี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เฉพาะการฝังศพของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณ นี้

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งโบราณคดีถ้ำนาค เป็นแหล่งศิลปะบนผนังหินปูนของคูหาเล็กของถ้ำนาค บนเกาะสองพี่น้อง หรือเขาสองพี่น้อง ห่างจากเขาระยะมาทางใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นแหล่งศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว ถ้ำนาคมีคูหา ๓ คูหา คูหาที่ใหญ่มากมี ๒ คูหา กว้างยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร เพดานถ้ำสูงมากกว่า ๕๐ เมตร นอกจากนี้ยังมีซอกหลืบมากมาย บริเวณพื้นถ้ำมีกองเปลือกหอยมากมาย ภาพเขียนสีเป็นแบบดั้งเดิม ซึ่งมีภาพเขียนด้วยสีแดง ชนิดสีเปียก เขียนด้วยสีแดงเข้ม และสีดำ โดยจะมีรูปขบวนเรือ ๒ แถว และรูปปลาแทรกอยู่ระหว่างเรือในแถวล่างและพบกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือกระดูกปลายแหลม

  • หลักฐานที่พบ

๑. ภาพเขียนสีแบบดั้งเดิม พบอยู่บนผนังด้านทิศตะวันออกของคูหาที่ ๓ แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่มคือ
กลุ่มที่ ๑ ตำแหน่งภาพอยู่ทางทิศเหนือสุดของผนัง เป็นภาพที่เขียนด้วยสีแดง ชนิดสีเปียก
กลุ่มที่ ๒ ตำแหน่งภาพอยู่ถัดจากกลุ่มที่ ๑ ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐๐ เมตร เขียนด้วยสีแดงเข้มและสีดำ
กลุ่มที่ ๓ เขียนด้วยสีแดง เป็นรูปขบวนเรือ ๒ แถว เขียนในแนวนอน และมีรูปปลาแทรกอยู่ระหว่างเรือในแถวล่าง
กลุ่มที่ ๔ ตำแหน่งภาพอยู่บนผนังเหนือภาพกลุ่มที่ ๓ มีลักษณะเป็นเรือขนาดใหญ่กว่าภาพในกลุ่มที่ ๓ และมีรูปคล้ายปลาอยู่ข้าง ๆ สภาพชำรุดเลือนลางมาก
กลุ่มที่ ๕ ภาพเขียนสีกลุ่มนี้ อยู่บนผนัง กลีบเล็ก ๆ ถัดไปทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นลายเส้นเขียนต่อกันคล้ายตารางเล็ก ๆ รูปแบบไม่ชัดเจน
๒. กระดูกมนุษย์ มีทั้งที่เผาไฟ และไม่เผาไฟ พบบนพื้นถ้ำคูหาที่ ๓
๓. กองกระดูกสัตว์ พบบริเวณทางเดินที่เชิงปากทางขึ้นคูหาที่ ๓ (ด้านทิศใต้) เป็นกระดูกสัตว์บกสี่เท้าประเภทวัว ควาย
๔. เศษภาชนะดินเผา เนื้อหยาบเผาไฟแรงต่ำ เป็นภาชนะประเภทแบบพื้นเมือง และเครื่องมือกระดูกปลายแหลม ๑ ชิ้นด้วย

  • เส้นทางเข้าสู่ถ้ำนาค

ไปตามเส้นทางถนนเพชรเกษม อยู่ระหว่างโคกกลอย ถึงพังงา ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ บริเวณบ้านกระโสม เลี้ยวไปตามทางแยกด้านทิศเหนือ ก็จะพบแหล่งโบราณคดีถ้ำนาค