วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีเขาเวียง (เขาพระนารายณ์)

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พังงา

  • สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๓ บ้านพระนารายณ์ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
  • ประวัติความเป็นมา

บริเวณนี้ได้พบเทวรูปศิลา ๓ องค์ ล้วนเป็นประติมากรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ชาวบ้านเรียกเทวรูปองค์กลางว่า พระนารายณ์ จึงเรียกเขาเวียงว่าเขาพระนารายณ์ เทวรูปอีก ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นรูปบริวารชายชาวบ้านเรียกว่าพระลักษณ์ และเรียกองค์ที่เป็นสตรีเรียกว่านางสีดา ต่อมา ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ลงความเห็นว่าเทวรูปทั้ง ๓ องค์นี้เป็นประติมากรรมแบบสกุลปัลลวะอายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๔ รูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์นั้นเป็นลักษณะของพระวิษณุประทับยืนในแบบโยคะ อันประกอบด้วยบริวาร อินเดีย เรียกว่า พระวิษณุมัธยมโยคสถานกมูรติบริวารชาย (ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระลักษณ์) คือฤาษีมารกัณฑยะและองค์ที่เป็นสตรี (ที่ชาวบ้านเรียกว่านางสีดา) คือ นางภูเทวี เดิมเทวรูปพระนารายณ์ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาเวียง ต่อมาเมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพ ทัพพม่าได้ขนย้ายลงมาจากยอดเขา เพื่อจะนำกลับไปพม่า แต่เกิดพายุ ทำให้มาตั้งองค์เทวรูปทิ้งไว้บริเวณเขาพระนารายณ์หรือที่พระนารายณ์ในปัจ ุบัน

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งโบราณเขาเวียง (เขาพระนารายณ์) เป็นภูเขามีเทวรูปศิลา ๓ องค์ ล้วนเป็นประติมากรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และยังพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบ เนื้อแกร่ง ประติมากรรมในพุทธศาสนา หรือศาสนาฮินดู เช่น รูปเคารพ พระพิมพ์ และซากสถาปัตยกรรมโบราณ

  • หลักฐานที่พบ

๑. เทวรูปศิลา ๓ องค์ ล้วนเป็นประติมากรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เทวรูปองค์กลางเป็นพระนารายณ์ เทวรูปอีก ๒ องค์ข้างเป็นพระวิษณุมัธยมโยคสถานกมุรติ และนางภูเทวี เทวรูปทั้ง ๓ องค์นี้เป็นประติมากรรมแบบสกุลปัลลวะ อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๔ และประติมากรรมในพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดู เช่น รูปเคารพ พระพิมพ์ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์
๒. เศษภาชนะดินเผาเคลือบ เนื้อแกร่ง สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์
๓. ซากสถาปัตยกรรมโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีเขาเวียง (เขาพระนารายณ์)

ไปตามเส้นทางถนนสายตะกั่วป่า - กะปง ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ก็จะเห็นทางเข้าไปยังแหล่งโบราณคดีเขาเวียง ในบริเวณอำเภอกะปง