วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองพระรถ

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พัทลุง

  • สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๑ และ หมู่ที่ ๗ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

อาณาเขตปัจจุบัน
ทิศเหนือ จดโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
ทิศใต้ จดสวนยางเอกชน
ทิศตะวันออก จดทุ่งนา
ทิศตะวันตก จดถนนสายบ้านแร่ – บ้านควนกุฏ

  • ประวัติความเป็นมา

สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งเมืองพระรถคงเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณมา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ๑๗ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามีชุมชนอาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔ หรือไม่ หรือว่าอาจมีการทิ้งร้างไประยะหนึ่ง จึงมีชุมชนในสมัยอยุธยาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยซ้อนทับชุมชนโบราณเดิม อย่างไรก็ดีในชั้นต้นน่าจะสันนิษฐานว่า คูเมือง และกำแพงเมืองพระรถน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยอยุธยา อาจเป็นตัวเมืองเก่าสมัยอยุธยา หรือมีบางท่านให้แนวคิดว่า ชุมชนบ้านคูเมืองหรือเมืองพระรถนี้น่าจะเป็นลักษณะของชุมชนชั่วคราวแบบค่าย รบ (FORT)ในสมัยอยุธยา เนื่องจากพบกระสุนปืนใหญ่และอาวุธโบราณในบริเวณเมือง
จากซากอิฐที่พบกระจายอยู่ทั่วไป เป็นเนินอิฐขนาดใหญ่ ไม่ทราบลักษณะที่แน่นอน เนื่องจากฐานอิฐจมอยู่ใต้พื้นดิน อิฐมีขนาดใหญ่มาก เข้าใจว่าอาจเป็นฐานเจดีย์ หรือสถาปัตยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากกรมศิลปากรจะขุดค้นทางวิชาการแล้ว คาดว่าอาจพบหลักฐานที่จะสามารถนำมากำหนดอายุของเมืองได้อย่างแน่นอน ( ปัจจุบันโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์พัทลุงได้สร้างศาลพระภูมิเจ้าพ่อคูเมืองทับ เสียแล้ว)

  • ลักษณะทั่วไป

เมืองพระรถ ชาวบ้านเรียกว่า "บ้านคูเมือง" เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่าง ควนบ้านแร่ กับควนบ้านสวน โดยอยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกของควนทั้งสอง มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีกำแพงและคูเมืองล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันบางส่วนเป็นที่ตั้งของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จังหวัดพัทลุง
ภายในเมืองมีเนื้อที่ทั้งหมด ๖๕ ไร่ ๓ งาน กำแพงเมืองก่อด้วยดิน ซึ่งน่าจะเป็นดินที่ได้จากการขุดคูเมือง มีขนาดกว้างยาว ๒๐๐ เมตร สูง ๒.๒๐ เมตร ช่วงกำแพงกว้าง ๑๓ เมตร คูเมืองกว้าง ๑๒ เมตร ยาวเป็นแนวตลอดรอบเมือง ตามแนวกำแพงเมืองปัจจุบันตื้นเขินในบางส่วน มีประตูเมือง ๒ ประตู คือ ด้านทิศตะวันตก ๑ ประตู ขนาดกว้างประมาณ ๑๒ เมตร และประตูด้านทิศตะวันออก ๑ ประตู กว้างประมาณ ๘ เมตร

  • หลักฐานที่พบ

๑. ซากอิฐ พบกระจายอยู่ทั่วไป แต่ที่พบมากมี ๒ จุด ทางด้านทิศเหนือของเมือง ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นเนินอิฐขนาดใหญ่ ไม่ทราบลักษณะที่แน่นอน เนื่องจากฐานอิฐจมอยู่ใต้พื้นดิน อิฐมีขนาดใหญ่มาก เข้าใจว่าอาจเป็นฐานเจดีย์ หรือสถาปัตยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกจุดหนึ่ง คือบริเวณกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เข้าไปทำไร่แตงโมเล่าให้ฟังว่า เดิมมีฐานก่ออิฐขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต่อมาชาวบ้านได้ขุดรื้ออิฐออกมาจนหมดเพื่อใช้พื้นที่ปลูกแตง ปัจจุบันมีซากอิฐกระจายอยู่ทั่วไปไม่เป็นระเบียบ หาแผ่นที่สมบูรณ์ได้ยาก

๒. เครื่องปั้นดินเผา เมื่อประมาณกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ชาวบ้านขุดพบหม้อดินเผา ๑ ใบ ทางทิศเหนือของเมืองพระรถ แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ปรากฏว่ามีอยู่ชิ้นหนึ่งที่มีลวดลายนูนต่ำ เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับยืนภายในซุ้มรูปโค้ง แต่เนื่องจากไม่ชัดเจนพอจึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ใด ลักษณะได้รับอิทธิพลศิลปะปาละของอินเดีย จึงจัดเป็นศิลปะสมัยศรีวิชัย นอกจากนี้ ยังขุดพบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบอีกจำนวนมากทางทิศใต้ของเมือง พระรถ และภายในเมืองก็พบมากเช่นกันมีลักษณะเป็นหม้อและกุณโฑมีพวย และชิ้นส่วนเจดีย์ดินเผาบางชิ้นมีสีแดงทาด้วย จึงเข้าใจว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาสมัยศรีวิชัยแบบเดียวกับทัพพีเมืองสทิง พระ สทิงหม้อ จังหวัดสงขลา เพียงแต่ที่นี่เนื้อดินหยาบกว่า
เท่านั้น นอกจานี้มีเศษเครื่องถ้วยลายครามจีน สมัยราชวงศ์ชิงด้วย

  • เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ

"เมืองพระรถ" อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดพัทลุง ไปทางทิศตะวันออก ตามถนนอภัยบริรักษ์ ประมาณ ๕ กิโลเมตร จะมีทางแยกไปทางทิศใต้ ตามถนนสายบ้านแร่ - ควนกุฎ ประมาณ ๑ กิโลเมตร