วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ยะลา

  • สถานที่ตั้ง ภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทุ่งกาโล ในตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
  • ประวัติความเป็นมา

ภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่น เป็นภูเขาหินปูน มีถ้ำใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภูเขาวัดถ้ำ มีถ้ำที่สำคัญ คือ ถ้ำแจ้ง หรือถ้ำพระนอน อันมีโบราณวัตถุจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ และถ้ำศิลป์ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยศรีวิชัย พระพุทธไสยาสน์ และจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘

  • ลักษณะทั่วไป

ภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่น เป็นภูเขาหินปูนโดยเฉพาะภูเขากำปั่น มีถ้ำสำคัญอยู่ ๒ ถ้ำ คือ ถ้ำสำเภา และถ้ำคนโฑ ถ้ำสำเภาอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา ปากถ้ำสูงกว่าพื้นดินประมาณ ๓ เมตร ถ้ำคนโฑอยู่ตอนกลางของภูเขากำปั่นอยู่สูงจากพื้นดินมากต้องไต่ขึ้นไปตามโขด หิน บางแห่งต้องปีนหน้าผา แต่เป็นถ้ำที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภูเขากำปั่น เป็นถ้ำหินอ่อนที่มีหินงอก หินย้อยเป็นรูปร่างต่าง ๆ สวยงามมาก

  • หลักฐานที่พบ

ในถ้ำสำเภา มีการขุดพบพระพุทธรูปปูนปั้น พระพิมพ์ดินดิบ และพระสำริด มีหินงอก หินย้อย บางช่วงเป็นห้องโถงกว้าง มีผนังถ้ำมีลวดลายของหินตามธรรมชาติ เพราะเป็นถ้ำหินอ่อนสำหรับถ้ำคนโฑมีการขุดค้นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นั้นมีการค้นพบวัตถุโบราณ ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูป และเครื่องถ้วยชามโบราณมากมาย พระพุทธรูปที่พบที่ถ้ำคนโฑ เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหิน มีอยู่ ๓ องค์ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดสลักในแผ่นหินกว้าง ๒๑.๕ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำ รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ส่วนพระพุทธรูปสำริดที่พบที่ถ้ำคนโฑมีจำนวนมากมายส่วนใหญ่ตกเป็นสมบัติของ เอกชนไม่เปิดเผยว่าอยู่ที่ใดบ้าง

  • เส้นทางเข้าสู่ภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น

จากจังหวัดยะลาไปทางทิศตะวันตกตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๙ บริเวณกิโลเมตรที่ ๔ ถึงกิโลเมตรที่ ๘ อันเป็นที่ตั้งของตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำ มีที่ราบที่เรียกว่าทุ่งกาโล ทางด้านตะวันตกของทุ่งกาโล มีภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่นกั้นเป็นฉากหลังอยู่