แหล่งโบราณคดีภาคใต้ - เนินประวัติศาสตร์ (นิเวศน์คีรี)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เนินประวัติศาสตร์ (นิเวศน์คีรี)

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ระนอง

  • สถานที่ตั้ง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง บริเวณทางขึ้นศาลากลางจังหวัดระนอง
  • ประวัติความเป็นมา

เป็นบริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ในอดีต ซึ่งพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เจ้าเมืองระนอง สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จเลียบแหลมมลายู ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยทรงประทับแรมที่พระที่นั่งดังกล่าวเป็นเวลา ๓ ราตรี สมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอยู่หงี่) เป็นเจ้าเมืองระนอง ได้ดัดแปลงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์เป็นรูปเรือนตึก ๒ ชั้น แล้วใช้เป็นศาลากลางของเมืองระนอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพักแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ๒ ครั้ง ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ พักอยู่ ๔ ราตรี และ พ.ศ. ๒๔๖๐ พัก ๓ ราตรี สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ก็ได้ประทับแรม ๑ ราตรี

  • ลักษณะทั่วไป

เป็นเนินดินไม่มีสิ่งก่อสร้างปรากฏเนื่องจากพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ถูกรื้อ ถอนไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ แต่ก็ยังปรากฏร่องรอยเป็นบันไดทางขึ้นและบริเวณให้เห็น

  • หลักฐานที่พบ

บันไดทางขึ้น ฐานปืนใหญ่ และต้นมะขามที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปลูกไว้จำนวน ๒ ต้น ส่วนองค์พระที่นั่งนั้นยังปรากฏภาพถ่ายเป็นหลักฐาน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงบันทึกถึงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ว่า ใช้ไม้พื้นเมืองทั้งหมด กรอบฝาใช้ไม้แก่น ตัวฝาทำด้วยไม้ระกำ เพดานใช้ไม้ลอกประกอบอย่างดี บานประตูหน้าต่างอย่างฝรั่ง หลังคาแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องไม้ ส่วนหลังอื่น ๆ มุงจาก มีบราลีบนหลังคาทำอย่างวิจิตรสอดสีเขียวสีแดงปิดทอง พื้นชั้นล่างปูกระเบื้องหน้าวัว ชั้นบนเป็นพื้นกระดาน ใช้โคมใหญ่โคมแขวนเป็นระย้ามีโคมเงาะติดฝาทุกเสา มีเครื่องประดับตกแต่งทุกห้อง ทุกอย่างทำอย่างประณีตให้งามและถาวร บริเวณชั้นล่างเป็นพื้นดินแต่ราบเรียบก่ออิฐเป็นขอบ ปลูกต้นไม้เป็นหย่อม ๆ ทำเป็นเขาจำลองและตุ๊กตารูปสัตว์ มีกระถางต้นไม้แบบจีนวางรายตามทางและหน้าท้องพระโรง และเมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ได้บันทึกไว้ว่า ตั้งอยู่บนยอดเขาและมีต้นไม้ล้อมรอบทุกด้าน เป็นที่น่าสบายอย่างยิ่ง ตัวพระที่นั่งเป็นเรือนตึก ๒ ชั้น รูปยาวไปตามรูปยอดเขารับลมเย็นสบายดีนัก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้กล่าวถึงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ไว้ว่า มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่อยู่ข้างในใหญ่หลังหนึ่ง ยกเป็นห้องนอนสูงขึ้นไปหลังหนึ่งที่หลังเล็กซึ่งเป็นที่นอน และที่หลังแปดเหลี่ยม แลดูเห็นเมืองระนองทั่วทั้งเมือง

  • เส้นทางเข้าสู่เนินประวัติศาสตร์

จากตัวเมืองไปตามถนนลุวังประมาณ ๑๐๐ เมตร ใกล้ศาลากลางจังหวัดระนอง