วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ชุมชนโบราณเวียงสระ

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  สุราษฎร์ธานี

  • สถานที่ตั้ง หมู่ที่ ๗ บ้านเวียง ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ประวัติความเป็นมา

เมืองเวียงสระเป็นเมืองและแหล่งชุมชนโบราณแห่งหนึ่งทางภาคใต้ เชื่อกันว่าเมืองเวียงสระมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ จดหมายเหตุจีน กล่าวถึงเมืองพัน - พันว่า ได้มีการติดต่อส่งทูตไปยังราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง เมื่อราว พ.ศ.๙๖๗ เมืองเวียงสระเจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน แต่ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีหลักฐานการจารึกที่แน่ชัดว่ามีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันมา อย่างไร แต่มีหลักฐานทางโบราณวัตถุที่พอจะยืนยันได้แน่ชัดว่า เมืองนี้ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากอินเดียแน่นอน และเชื่อกันว่าการล่มสลายของเมืองเวียงสระน่าจะเนื่องมาจากการเกิดไข้ห่า ระบาด

  • ลักษณะทั่วไป

เมืองโบราณเวียงสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดเนื้อที่ ๓๘๖ ไร่ ๑ งาน ๑๕.๓๘ ตารางวา เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ มีคูน้ำล้อมรอบ ๒ ชั้น ทำให้แยกเมืองโบราณออกเป็น ๒ ชั้น คือเมืองชั้นนอก และเมืองชั้นใน ส่วนทางทิศเหนือกับทิศตะวันตกใช้แม่น้ำเป็นคูเมืองทางทิศเหนือใช้แม่น้ำตาปี และคลองตาล ทิศตะวันตกใช้แม่น้ำตาปีเป็นแนว มีสระน้ำขนาดใหญ่ ๒ สระ จึงเรียกว่า เวียงสระ

  • หลักฐานที่พบ

บริเวณเมืองเวียงสระได้พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีมากมาย ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยุคต่อเนื่องเรื่อยมาจน ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าชุมชนโบราณเวียงสระนั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่อยมาทั้งเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีค่อนข้าง สูง หลักฐานทางโบราณคดีที่นักวิชาการได้ศึกษาค้นคว้ามาแล้วและค้นพบใหม่มีดังนี้
๑. เครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นขวานหินขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายมน ทำด้วยหินควอร์ตสีเหลืองปนแดง
๒. พระพุทธรูปหินทรายแดงนูนสูง เป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนี
๓. เทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก ทำด้วยศิลา
๔. พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอก
๕. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ๔ กร
๖. พระวฑุกะไภลพ
๗. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร
๘. เทพีอุ้มโอรส
๙. แท่นโยนิโทรณะ
๑๐. พระพุทธรูปหินทรายแดง
๑๑. เหรียญอาหรับ

  • เส้นทางเข้าสู่ชุมชนโบราณเวียงสระ

จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี โดยทางรถยนต์ ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร ถึงอำเภอเวียงสระ หรือโดยทางรถไฟไปลงที่สถานีรถไฟบ้านส้อง แล้วต่อด้วยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปยังหมู่ที่ ๗ ถึงชุมชนโบราณระยะทางห่างจากสถานีรถไฟ ๗ กิโลเมตร