วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

การแข่งขันประชันโรง
         
    การประชันโรงของหนังตะลุง เป็นที่ชื่นชอบของชาวปักษ์ใต้มาเป็นเวลานานปี นับแต่สมัย ร.๕ จนถึงปัจจุบัน การประชันโรงมีตั้งแต่ ๒ โรงขึ้นไป ถึง ๑๐ โรง เลือกเฟ้นเอาหนังที่มีชื่อเสียงระดับเดียวกัน ถ้าเปรียบกับภาษามวยเรียกว่าถูกคู่ ในงานเทศกาลสำคัญๆ มีการแข่งขันประชันโรงแพ้คัดออก มีประชันติดต่อกันหลายคืน เอารองชนะเลิศมาแข่งขันกันในคืนสุดท้าย นอกจากเงินราดแล้วมีการตั้งรางวัลเกียรติยศ เช่น ฤาษีทองคำ หรือขันน้ำพานรอง หรือถ้วยของบุคคลสำคัญ งานประชันหนังตะลุงที่สนามหน้าเมือง สนามหน้าอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สนามกีฬา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง มีหนังตั้งแต่ ๑๐ คณะ ถึง ๒๕ คณะ ผู้ชนะเลิศย่อมได้รับการยกย่อง มีงานแสดงมากขึ้น ค่าราดโรงเพิ่มขึ้น

    เมื่อผู้เขียนอยู่ในวัยเยาว์จนเข้าวัยหนุ่ม หนังตะลุงประชันกันในวัด เพราะเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีเพียง ๒ โรง เคร่งครัดต่อกติกา ทำเป็นหนังสือสัญญา ๓ ฉบับ นายหนังหรือเจ้างานผิดสัญญาปรับไหมกันได้ ถือกติกาธรรมเนียมดังนี้
    ๑.นายหนังทั้ง ๒ โรง ต้องมาถึงสถานที่แข่งขันก่อนค่ำอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง
    ๒.ต้องจับฉลากขึ้นโรง จะเลือกที่โรงเอาเองตามใจชอบไม่ได้
    ๓.มาตกลงข้อสัญญา และเทียบเวลากับนาฬิกากองกลางเพื่อให้เวลาตรงกันทั้ง ๒ โรง
    ๔.๑ ทุ่มตรง ลงโรง หรือโหมโรง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ ๑
    ๕.๒ ทุ่มตรง ออกฤาษี ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ ๒
    ๖.เที่ยงคืน หยุดพัก ๑ ชั่วโมง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ ๓
    ๗.เวลา ๑ นาฬิกาตรง แสดงต่อ ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ ๔
    ๘.เวลา ๕ นาฬิกาตรง ใช้สัญญาณย่ำตะโพนเป็นครั้งที่ ๔ เพื่อบอกให้นายหนังรูตัวว่ายังเหลือเวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็จะถึงเวลาเลิกแสดง ใครมีทีเด็ดเม็ดทราย ก็ใช้กันในตอนนี้เรียกว่าชะโรงเพื่อให้คนจากอีกโรงหนึ่ง มาอยู่หน้าโรงของตน แม้ว่าแพ้มาตลอดคืน แต่ตอนใกล้รุ่งสามารถกู้หน้าไว้ได้
    ๙.เวลา ๖ นาฬิกาตรง ตะโพนย่ำให้สัญญาณเป็นครั้งสุดท้ายเลิกการแสดงได้
   ๑๐.เจ้างานต้องเลี้ยงดูอาหารมื้อเย็น และจัดอาหารว่างตอนหยุดพัก อาหารต้องปราศจากยาพิษ ที่ฝ่ายตรงกันข้ามอาจลอบใส่ลงได้ เจ้างานต้องรับผิดชอบ
   ๑๑.ต้องจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามใต้ถุนโรงตลอดเวลา
   ๑๒.ให้ค่าราดโรงครบตามสัญญา

    การแข่งขันประชันโรงหนังตะลุหลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๐ ไม่ค่อยเคร่งครัดในกติการสัญญา หนังแต่ละโรงต่างรู้จักกันดี แข่งขันเอาแพ้ชนะตามความสามารถตน ไม่ผูกแค้นจองเวรซึ่งกันและกัน พิธีกรรมทางไสยศาสตร์แทบไม่มี
นับถอยหลังไปจาก พ.ศ.๒๕๐๐ ในการแข่งขันประชันโรง ใช้พิธีกรรมทางไสยศาสตร์กันอย่างเคร่งครัด ใช้ชิน ใช้ผี ให้ไปทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เสียงแหบแห้ง ความทรงจำเลอะเลือน ตลกไม่ออก ตลกแล้วไม่มีคนหัวเราะ
ผู้เขียนเป็นคนไม่เชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่เยาว์ แต่ไม่ตำหนิติเตียนผู้ที่มีความเชื่อ อย่างน้อยก็ช่วยให้เกิดความมั่นใจ ที่ใกล้บ้านผู้เขียนมีหมอทางไสยศาสตร์คนหนึ่ง เป็นที่เชื่อถือของหนังทั่วไป มีความสามารถในการทำให้จอของฝ่ายตรงกันข้ามมืด มองรูปบนจอไม่ชัดเจน คืนหนึ่งมาขอช่วยให้ผู้เขียนไปทำให้ ถ้าทำเองมีคนรู้จักมาก คืนนั้นเป็นเวลา ๙ ทุ่มแล้ว จึงไปถึงหน้าโรงหนังที่ไปหาท่านเอาไว้ มอบหลอดไม้ไผ่เล็กๆ ให้แก่ผู้เขียน และบอกว่าในหลอดนี้มีชันบดผง ถ้าเราเป่าไปบนจอหนังตรงตะเกียงจอร้อน ชันที่บดละเอียดพอกระทบกับจอ ก็จะละลายจับผ้าจอ หนึ่งหลอดก็พอแล้ว และสั่งว่าถ้าหนังมีคนดูไล่เลี่ยกัน ไม่ต้องทำ จอเขาติดชันซักออกยาก เป็นบาปเป็นกรรม ผู้เขียนโชคดีไม่ต้องใช้ผงชัน เพราะการแข่งขันอยู่ในเกณฑ์เสมอกัน และการใช้ผงชัน ถ้าเขาจับได้ เสี่ยงอันตรายมากทีเดียว

    ผู้เขียนชอบดูการแข่งขันประชันโรง ผู้คนนับหมื่น พ่อค้าแม่ขายเต็มไปหมด หนังแต่ละโรงเตรียมตัวมาอย่างดี แสดงสุดความสามารถ และที่อยากดูที่สุด โรงไหนเป็นฝ่ายแพ้ โรงไหนเป็นฝ่ายชนะ


จากหนังสือ ความรู้เรื่อง"หนังตะลุง" อนุสรณ์งานพระราชทางเพลิงศพ อาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๑