วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

กฏข้อบังคับของม้ง มีลักษณะคล้ายกับกฏหมายอังกฤษ (Common Law) คือ เป็นกฎหมายที่สืบเนื่องจาก จารีตประเพณีได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะต่างกันตรงที่ม้งนำเอากฎหมายข้อบังคับไปผูกไว้กับภูติผี ม้งเองไม่มีภาษาเขียน ชาวม้งได้ถือหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ชาวม้งไม่มีหัวหน้าสูงสุด และไม่ได้รวมกันอยู่เป็นที่หนึ่งที่เดียวกัน แต่แยกหมู่บ้านออกไปปกครองกันเองเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับสังคม ซึ่งในแต่ละหมู่บ้าน จัดเป็นสังคมที่เล็ก สามารถเรียกว่า ประชุมโดยตรงได้ การกำหนดวิธีการปกครอง ก็ใช้วิธีออกเสียง ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่ากันหมด และถือเสียงข้างมากเช่นเดียวกับหลักสากลทั่วไปแต่ ผู้มีสิทธิออกเสียงในการปกครอง ได้แก่ ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผู้หญิง เด็กมีสิทธิเข้าร่วมประชุมรับฟัง และให้ความเห็น แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง เพราะถือว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เชื่อฟัง ปรนนิบัติสามีเท่านั้น สำหรับเด็กนั้น ม้งมิได้ถืออายุเป็นเครื่องวัด หากใช้วัดด้วยการเป็นผู้มีความรับผิดชอบ ความสามารถทำงานตลอดจน ผลงานที่ได้กระทำโดยที่ประชุมหมู่บ้าน จะเป็นผู้พิจารณากำหนดในปัจจุบันนี้ การปกครองของม้งยังคงใช้กฎข้อบังคับนี้อยู่ เฉพาะแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่สามารถตัดสินได้เท่านั้น ส่วนถ้าเป็นปัญหาที่ใหญ่ ๆ นั้นจะนิยมใช้กฎหมายของประเทศนั้น ๆ
หัวหน้าหมู่บ้าน
ในอดีตหัวหน้าหมู่บ้านมีฐานะเป็นประมุข และผู้นำหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านได้มาจาก การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวแทนในนามของหมู่บ้านนั้น ๆ หัวหน้าหมู่บ้านมีสิทธิแต่งตั้งผู้ช่วยได้ 2 คน ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านไม่มีกำหนดไว้ แต่จะหมดสภาพก็ต่อเมื่อตาย ลาออก อพยพไปอยู่ที่อื่น หรือถูกที่ประชุมหมู่บ้านปลดออกโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นการหมดสภาพทั้งสิ้น หน้าที่ของหัวหน้าหมู่บ้าน ได้แก่ เป็นผู้แทนของหมู่บ้านในการเจรจาติดต่อกับคนภายนอก รับผิดชอบในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ตัดสิน ข้อพิพาทระหว่างครอบครัว ตัดสินใจในการโยกย้ายหมู่บ้าน หรือมีอำนาจพิเศษในกรณีฉุกเฉิน เช่น ความปลอดภัยของหมู่บ้าน ในทางปฏิบัติแล้ว การบริหารงานของหัวหน้าหมู่บ้านจะถูกควบคุมโดยผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเปรียบเสมือนคณะที่ปรึกษาหมู่บ้าน ในทางอ้อมจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเสมอไป แต่มีอิทธิพลต่อหัวหน้าหมู่บ้าน ไม่น้อย เพราะเป็นคณะที่สามารถคุมเสียงข้างมากในการประชุมหมู่บ้านในปัจจุบันนี้ยังคงถือปฎิบัติอยู่
การประชุมหมู่บ้าน
การประชุมหมู่บ้านนี้ มีหน้าที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับจารีตประเพณี เพื่อบังคับใช้ภายในหมู่บ้าน การประชุมไม่จำกัดจำนวนเพศ วัย ทั้งไม่ระบุว่ามีเท่าใด จึงจะครบองค์ประชุม การออกเสียงถือหลัก 1 เสียง 1 คน หัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นประธาน ในกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานมีอำนาจชี้ขาดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และในกรณีที่มีการเลือก ตั้งหัวหน้าหมู่บ้านขึ้นใหม่ ที่ประชุมจะเลือกผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอาวุโสทำหน้าที่เป็นประธาน

กระบวนการยุติธรรม
ในอดีตเมื่อเกิดกรณีพิพาท หรือเหตุการณ์ร้ายแรงในหมู่บ้าน ม้งจะไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เข้าไปดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. คณะผู้เฒ่าผู้แก่ของสกุล ตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ผู้เสียหายนำความไปร้องเรียนเพื่อให้คณะผู้เฒ่าผู้แก่ในสกุลเดียวกันตัดสิน และจะถือว่าคำตัดสินนั้นเป็นการตัดสินที่เด็ดขาด ในกรณีเช่นนี้หัวหน้าหมู่บ้านจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว
2. คณะกรรมการกลางตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีต่างสกุลกัน ผู้เสียหายนำความไปร้องเรียนต่อหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาสอบถาม และจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลางตัดสินข้อพิพาทดังกล่าว

ซึ่งมีวิธีการแต่งตั้ง 2 วิธี
2.1 หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้แต่งตั้งโดยการยินยอมของคู่กรณี หัวหน้าหมู่บ้านจะแต่งตั้งบุคคลใดมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ยกเว้นคนที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับคู่กรณี
2.2 คู่กรณีสมัครใจแต่งตั้งเอง คู่กรณีจะต้องเลือกบุคคลซึ่งจะมาเป็นกรรมการฝ่ายละเท่า ๆ กัน จะเลือกคนในสกุลของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นกรรมการฝ่ายตนก็ได้ แต่ห้ามเลือกคนในกลุ่มเดียวกัน จำนวนกรรมการทั้งสองกรณีนี้ไม่จำกัด โดยปกติจะมีประมาณ 6-10 คน การพิจารณาตัดสินคดีจะกระทำที่บ้านพักของหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งประธาน และคณะกรรมการจะซักถามข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้ว คณะกรรมการจะตัดสินโดยการออกเสียงถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน หัวหน้าหมู่บ้านในฐานะประธานกรรมการจะเป็นผู้ชี้ขาด จะเห็นได้ว่าหัวหน้าหมู่บ้านนอกจากจะมีอำนาจบริหาร แล้วยังมีอำนาจ ในทางตุลาการอีกด้วย สำหรับบทลงโทษจะอาศัยจารีตประเพณีเป็นเกณฑ์ ถ้าเป็นกรณีใหม่คณะกรรมการก็จะพิจารณา บทลงโทษขึ้นใหม่และให้ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อ ๆไปด้วย ปัจจุบันนี้ยังยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้
กลุ่มการเมือง
ในอดีตการปกครองของม้งถือหลักเสียงข้างมาก ม้งจึงรวมพลังกันได้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนระบบพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ถืออุดมการณ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสมาชิก หากแต่ถือสายสัมพันธ์ทางสกุลเป็น เครื่องรวมพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้นสกุลใดใหญ่มีสมาชิกมากก็จะมีเสียงข้างมาก ในการดำเนินงานทั้งปวง แต่ก็อาจมีสกุลเล็ก ๆ แต่รวมกันได้ จนได้เสียงข้างมากมาบริหารงานของกลุ่ม แต่ละกลุ่มขึ้นอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอาวุโสของสกุลดัง เช่นในกรณีเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้าน ผู้อาวุโสของแต่ละสกุลจะเรียกสมาชิกของสกุลมาประชุม เพื่อคัดเลือก ผู้แทนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งก่อนออกเสียงส่วนใหญ่ แล้วมีมติให้สมาชิกทุกคนทำตามมติที่วางไว้ และสมาชิกทุกคนจะต้องไปออกเสียงตามมติของกลุ่มของหมู่บ้านอย่างพร้อมเพรียงกัน หากพิจารณาการปกครองของชาวม้งอาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะมีอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุด ชาวม้งได้ใช้อำนาจนี้ในการตัดสิน และกำหนดวิธีการปกครองหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองในปัจจุบันการปกครองของม้งเริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นกว่าเดิมคือ วิธีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ผู้ที่จะได้เป็นผู้นำนั้นจะต้อมีความรู้ความสามารถในการติดต่อสื่อการ กับสังคมภายนอกได้