กลองปู่จา คุณค่าแห่งความเอื้ออาทร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ อ.ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

กลองปู่จา คุณค่าแห่งความเอื้ออาทร

ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

ซังข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ชาวนาจะตัดให้สั้นถึงพื้นดิน นำมาปูบนผืนนาให้เต็มเพื่อเผาเป็นปุ๋ย ก่อนการใส่ถั่วเหลืองครั้งใหม่ อากาศเย็น ท้องฟ้าสลัวด้วยหมอกควันจาก ไฟฟางที่ไหม้แล้ว ประกอบกับหมอกหนาวที่มาพร้อมสายลมเย็น ชาวบ้านต่างเร่งรีบให้เสร็จภารกิจในนาก่อนงานบุญใหญ่ ของหมู่บ้านซึ่งจะมีขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า แม่หลวงแก้วนอนฟังเสียงกลองจังหวะเนิบนาบ ป๊ะ เท่ง เท่ง    

เท่ง เท่ง ป๊ะ โหม่ง….. เสียงดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ 3 - 4 ครั้ง เสียงหมาหอนโหยหวนวังเวง ดังจากวัด ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ต่อเป็นทอด ๆ ต่างส่งเสียงตอบรับกับมิตรที่อยู่ใกล้ไกลตามคลื่นเสียงจะสื่อถึงเสียงกลองเป็น สัญญาณเตือนให้รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันพระผู้คนจะได้เตรียมตัวไปวัดทำบุญเพื่อชำระล้างจิตใจ

ให้ผ่องใส แม่หลวงแก้วนอนนึกถึงข้าวเหนียวที่แช่ไว้ในหม้อ พรุ่งนี้ลูกสาวแกคงนึ่งให้แกตั้งแต่เช้ามืด คงปิ้งปลาช่อนที่ได้จากนาพร้อมอุ่นข้าวต้มมัดที่แกเตรียมไว้เมื่อตอนเย็น แกหวังว่าการทำบุญในพรุ่งนี้ คงจะช่วยให้แกมีความสุขมากขึ้นและสะสมบุญไว้ยามละโลกนี้ไป ผู้เฒ่าผู้แก่ ในหมู่บ้านบอกแกมาตั้งแต่ สมัยเป็นเด็กว่าการใส่บาตรที่ได้บุญมากต้องใส่ในวันเป็งปุ๊ด(เพ็ญพุธ)

เพ็ญพุธ หมายถึง วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรในวันนี้จะเป็นสิริมงคล และทำให้มั่งมีศรีสุข มีอานิสงส์แรง เพราะในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธนี้ พระอุปคุตเถระเจ้า จะแปลงตัวมาเป็นเณรน้อยโปรดสัตว์โลก ออกบิณฑบาตไปตามถนนตั้งแต่เช้ามืด ดังนั้น แม่ออกศรัทธา หรือผู้ที่สนใจจะทำบุญ ก็จะจัดเตรียมอาหารไว้สำหรับตักบาตร และตื่นแต่เช้า เมื่อหุงหาอาหารเสร็จแล้ว ก็จะไปคอยใส่บาตรอยู่ตามถนนหรือตามสี่แยกใกล้ ๆ บ้าน เพื่อให้ทันตักบาตร พระมหาเณรอุปคุต หลังจากใส่บาตรเณรน้อยอุปคุตตามตั้งใจแล้ว แกพร้อมเพื่อนผู้เฒ่าอีกหลายคนพากันเดินไปยังวัดประจำ

หมู่บ้าน ถือปิ่นโตเถาใหญ่ใส่อาหารคาวหวานพร้อมสวยดอกไม้ธูปเทียน กะจะไปตานขันข้าวให้สามี ผู้จากไปให้ได้อิ่มกายใจ อิ่มบุญพร้อมกับแกการตานขันข้าวเป็นประเพณีของชาวล้านนา ที่นิยมทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับ โดยชาวบ้านจะถือปิ่นโตเป็นเถาใส่อาหาร ขนม ผลไม้ ที่คิดว่า

ญาติผู้นั้นชอบ นำไปถวายพระสงฆ์ พร้อมแจ้งชื่อตนและชื่อญาติที่ต้องการให้รับ พระสงฆ์ให้ศีลให้พร หยาดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ถือว่าเสร็จพิธีญาติผู้ล่วงลับก็ได้รับผลบุญอาหารที่มอบให้ โดยมีพระสงฆ์เป็นสื่อกลาง

     เสร็จพิธีทางศาสนา รับประทานอาหารเช้าที่เหลือจากการฉันของพระสงฆ์แล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อยู่ช่วย เตรียมงานใหญ่ประจำปี ของวัด คือการฉลองศาลาที่เพิ่งสร้างเสร็จ พวกผู้ชายกวาดลานวัด พวกผู้หญิง นั่งทำตุงเพื่อใช้ประดับประดาในพิธีและบริเวณงานล้างเช็ดถูถ้วยชามและหม้อไหในเข่ง ส่วนคนหนุ่มสาว จะมาช่วยงานวัดอีกครั้งก็ต่อเมื่อถึงกลางคืนยามว่างงานจากในนากลุ่มเด็กผู้ชายมุงดูกลองใหญ่ในวัด ด้วยอยากเรียนรู้และฝึกหัดเพื่อต่อไปจะได้สืบต่อการตีกลองจากผู้ใหญ่ ต่างตั้งใจฟังพ่อน้อยทูน สอนลีลา ท่าทางการตีกลองปู่จา

     กลองปู่จา เป็นกลองที่มีอยู่ประจำทุกวัดในภาคเหนือ ประกอบด้วยกลองใหญ่ เรียกว่า กลองแม่
จำนวน 1 ใบ และกลองเล็ก เรียกว่า ลูกตูบ จำนวน 3 ใบ ใช้ตีในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้

  • ตีก่อนวันพระ เพื่อเตือนศรัทธาชาวบ้านให้รู้ว่าพรุ่งนี้จะถึงวันพระ เพราะในสมัยก่อนไม่มีสื่อใด ๆ ที่จะบอกวัน เดือน ปี นอกจากปฏิทิน แต่บางครอบครัวปฏิทินก็ไม่มี เป็นการให้เตรียมกาย เตรียมใจ ไปวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม จำศีล ภาวนาจะตีกลองนี้ตอนค่ำก่อนชาวบ้านจะเข้านอน โดยตีเป็นจังหวะช้า ๆ เนิบนาบ นุ่มนวลและลุ่มลึกน่าฟัง ผู้ตีจะตีกลองแม่ แล้วไล่ตี ตามลูกตูบแล้วมาลงท้าย ด้วยการตีฆ้องโหม่ง ซึ่งฆ้องโหม่งนี้จะมีคนตีอีกคนหนึ่ง
  • ตีประโคมในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานทำบุญกินข้าวสลากภัตต์ งานบุญเฉลิมฉลองกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น การตีแบบนี้ไม่มีแบบอย่างหรือกติกาใด ๆ ผู้ตีจะตีตามความถนัด ตามท่วงที ีลีลาของตนเอง นอกจากนี้ยังใช้ตีเพื่อเรียกประชุมศรัทธาของชาวบ้านและเมื่อมีเหตุการณ์ สำคัญ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น ไฟไหม้ ระดมคนไล่ล่าโจรที่มักมาปล้นวัวปล้นควายของชาวบ้าน เพราะ สมัยก่อนไม่มีเครื่องยายเสียงเช่นปัจจุบัน มีการตีแตกต่างกันดังนี้
  • ตีเพื่อเรียกประชุมธรรมดา จะตีรัวช้า ๆ 3 - 4 ครั้ง
  • ตีเพื่อบอกเหตุเภทภัยและต้องการความช่วยเหลือ จะตีรัว เร็ว ๆ ดัง ๆ หลายครั้งติดต่อกัน

เสียงประโคมเร้าใจจากกลองใหญ่น้อยฝีมือการตีของพ่อน้อยทูน จังหวะกลองที่บางครั้งเร่งเร้าบีบรัดในใจ บางคราว เนิบนาบผ่อนคลาย ผสมเสียงฆ้องโหม่งเป็นจังหวะดังก้องกังวานไปทั่วบริเวณ วัดใหญ่ประจำหมู่บ้าน สลับสับเปลี่ยนกับฝีมือฝึกหัดของกลุ่มเด็กผู้ชาย ส่วนเด็กผู้หญิงสนใจอยากทดลอง ตีแต่ไม่กล้าเพราะกลัวคำที่ผู้ใหญ่สอนว่า ผู้หญิงถ้าตีกลองแล้วนมจะยาน ความต้องการสวยงามมี มากกว่าดังนั้นจึงมีสิทธิ์เป็นแค่คนดู

วิถีชีวิตผู้คนชนบทล้านนา เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับพุทธศาสนา ต่างเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกัน มีสัญลักษณ์เตือนใจเป็นเสียง กลองปู่จา ที่แทนค่าของความเอื้ออาทร