กินอ้อ พิธีกรรมตอกย้ำความมั่นใจ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ อ.ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

กินอ้อ พิธีกรรมตอกย้ำความมั่นใจ

ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

เสียงลำนำขับขานซอจากสาวบัวซอน จ้างซอเสียงใส และอ้ายบุญยืน  จ้างซอหนุ่มขวัญใจสาวแก่แม่ม่าย

ในงานปอยหลวง งานบุญใหญ่ของหมู่บ้าน ผาม (ปะรำ) ที่ทำจากฝีมือหนุ่มสาวถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่าย ๆ

ประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี เป็นริ้วรุ้งอันอ่อนพลิ้ว  เพื่อเป็นเวทีประลองชั้นเชิงไหวพริบของจ้างซอ

หนุ่มสาว คำซอถูกกลั่นกรองออกมาจากใจด้วยปฏิภาณ เป็นถ้อยคำสำนวนดึงดูดใจ  บางครั้งออดอ้อน ชวนเอ็นดูสงสาร ถ้อยคำถากถางอย่างน่าชิงชัง บางคราวเรียกเสียงหัวเราะ จนน้ำหู น้ำตาไหล หรืออาจทำให้น้ำใสจากตาหล่นแหมะได้

เรื่องราวนิทานพื้นบ้านชาวเวียงละกอนเรื่องหมาขนคำ หรือหมาทองคำ ถูกถ่ายทอดจากคณะละครซอ ของพ่อครูอินถาผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นเรื่องราวประทับใจเหมือนมีมนตร์สะกดตรึงให้ผู้คนนั่งอยู่กับที่เพื่อรับ รู้ เรื่องราวของแม่หมาดำที่เจ้าของรังเกียจ จึงต้องไปอาศัยอยู่ในป่าที่ผาสามก้อน เกิดลูกมาเป็นผู้หญิง 2 คน ชื่อบัวแก้วและบัวตอง เฝ้าฟูมฟักเลี้ยงลูกจนโตเป็นสาวสวย

วันหนึ่งเจ้าเมืองพาราณสี เสด็จประพาสป่ามาพบเข้าจึงนำทั้งสองสาวเข้าวังไปเป็นมเหสี ฝ่ายแม่หมาดำ

เมื่อลูกหายไปจึงทนทุกข์ทรมานจนเทวดาสงสารมาบอกเรื่องราวให้รับรู้ ด้วยความรักจึงเดินทางไปหาลูก เมื่อผู้เป็นพี่สาวบัวแก้วเห็นแม่หมานึกรังเกียจจึงให้ทหารไล่ทุบตีจนได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แม่หมาจึงไปหาผู้เป็นน้องสาว เมื่อบัวตองเห็นแม่ได้รับบาดเจ็บจึงสงสารนำมารักษาพยาบาล และอาศัยอยู่ด้วย จนกระทั่งแม่หมาแก่และตายไป ด้วยความเคารพจึงไปขอหีบจากเจ้าเมืองพาราณสี เพื่อใส่ ซากแม่หมาดำ แกล้งบอกไปว่าจะนำ หีบไปใส่เงินทอง ต่อมาหีบนั้นกลายเป็นเงินทองสิ่งมีค่ามากมาย นางบัวตองบอกแก่เจ้าเมือง ว่าตนได้เงินทองมาจากป่า เจ้าเมืองจึงให้นางไปนำเงินทองมาให้อีก เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น นางจึงจนด้วยปัญญาไม่รู้จะหาเงินทอง มาจากไหน จึงเดินร้องไห้ในป่าแต่เพียงลำพัง ไปเจอผีตนหนึ่งซึ่งกำลังเป็นฝีที่หัวเข่า นางจึงวิ่งชนผีหมายให้ตนเองตาย ทำให้ฝีของผีตนนั้นแตกและหายเจ็บ ผีจึงบอกขุมทรัพย์ให้นาง นางจึงสร้างหอให้แม่ในป่า ที่เคยอยู่และทำทานไปให้แม่หมาดำ ส่วนนางบัวแก้วผู้พี่นึกอิจฉาน้องอยากมีทรัพย์สมบัติบ้าง จึงเข้าไปในป่า หมายจะไปเอาเงินทอง แต่ด้วยใจไม่บริสุทธิ์ นางไม่เคารพกราบไหว้เทวดาในป่าและไม่นึกถึงบุญคุณแม่หมา
ที่เลี้ยงดู จึงถูกผีสางในป่าฆ่าตาย

เสียงสะอื้นของผู้คนตอนแม่หมาถูกเฆี่ยนตีจากลูกสาว หรือเหตุการณ์เร้าใจในเรื่อง ผู้ถ่ายทอดอารมณ์ร่วมได้ดีคือ สาวน้อย บัวซอนผู้รับบทบัวตองน้องผู้กตัญญูนั่นเอง

บัวซอนและบุญยืนอาศัยอยู่กับพ่อครูอินถามาตั้งแต่เด็ก ด้วยเป็นเด็กกำพร้าทั้งคู่แม้จะมาจากต่างหมู่บ้าน ทั้งคู่เรียนจบแค่ชั้น ประถมสี่ ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ จึงติดสอยห้อยตามพ่อครูไปขับซอตามพื้นที่ใกล้   ๆ   จากช่วยยกของ ซื้อกับข้าว    ซักเสื้อผ้า ทำงานบ้านทุกอย่างให้พ่อครู จนกระทั่งเขยิบฐานะมาเป็นจ้างซอเอก ในค่ายของพ่อครูเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ด้วยการฝึกฝน เรียนรู้ จดจำและสังเกต ทั้งคู่มีความเชื่อว่าต่อไป ตนต้องมีฝีมือในการซอ ตั้งแต่เมื่ออายุย่างสิบขวบที่พ่อครูให้ทำพิธี กินอ้อ

     กินอ้อ เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อว่า ใครก็ตามที่ได้ผ่านพิธีกินอ้อแล้วจะทำให้ความจำดีขึ้น และเรียนหนังสือเก่ง

     คำว่า อ้อ อ่องอ้อ เป็นคำที่หมายถึง สติปัญญา มันสมอง อีกความหมายหนึ่งหมายถึง ต้นไม้ที่ชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะ ลำต้น เป็นปล้องแข็ง ใบเรียวเหมือนต้นแขมหรือหญ้าคา มีดอกสีขาว เวลาบานจะเป็นปุยนุ่นแผ่กระจายสวยงาม แพร่พันธุ์และแตกกอ ได้ง่าย ตายยาก

     จ้าง คือ ช่าง หมายถึง ผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ เช่น จ้างซอ หมายถึงผู้มีความเชี่ยวชาญในการขับซอ ซึ่งเป็นศิลปะ พื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ในสมัยก่อนผู้ที่จะเป็นจ้างซอนอกจาก จะเสียงดีแล้วต้องเป็นคนฉลาดมีปฏิภาณไหวพริบ สามารถ ตอบโต้คารมกับจ้างซออีกฝ่ายหนึ่งได้ บุคคลที่จ้างซอ เคารพนับถือมากที่สุดคือพ่อครูหรือแม่ครู ผู้ที่อบรมสั่งสอน ให้ความรู้ วิชาเกี่ยวกับซอ

     ลูกศิษย์ของพ่อครูทุกคนต้องผ่านการกินอ้อ โดยพ่อครูจะนำต้นอ้อหลวงที่ขึ้นตามแม่น้ำนำมาตัดเป็นปล้องให้มีความยาว เท่ากับ 1 นิ้วมือของศิษย์ หรือประมาณ 5-6 นิ้ว เทน้ำผึ้งลงในขันหรือถ้วย จากนั้นพ่อครูจะร่ายคาถา เสกลงในน้ำผึ้ง เรียกว่ามนตร์น้ำผึ้ง กรอกน้ำผึ้งบรรจุในกระบอกอ้อ ให้ศิษย์ดื่มน้ำผึ้งจากกระบอกอ้อนั้น เมื่อดื่มน้ำผึ้งจนหมดแล้วพ่อครู จึงให้ลูกศิษย์บีบ หรือขบกระบอกอ้อจนแตกแล้วโยนทิ้งทางด้านหลังข้ามศีรษะไป

     เครื่องที่ใช้ประกอบพิธีนอกจากมีน้ำผึ้งและอ้อเป็นอุปกรณ์สำคัญแล้ว ยังต้องมีดอกไม้ ธูปเทียน 8 คู่ และค่ายกครูจำนวน  36 บาท

     พ่อครูอินถาบอกว่า การกินอ้อมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน และผู้ที่เป็นจ้างซอจะต้องกินครบทั้งหมด ได้แก่

  •  อ้อผญา กินเพื่อให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
  • อ้อมหาเสน่ห์ กินแล้วมีเสน่ห์ ถูกตาต้องใจผู้คนพบเห็น ทำให้มีอำนาจในตัวเอง มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า

อ้ออำนาจ

  • อ้อจำ หรือ อ้ออาจิณจำ เมื่อกินแล้วทำให้มีความจำเป็นเลิศ ไม่หลงลืม
  • อ้อพูด หรือ อ้อเว้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับวาทศิลป์ มีสำนวน คารมคมคาย พูดเก่ง พูดคล่อง ฟังแล้วชวนประทับใจ

ในวันนั้นบัวซอนและบุญยืนทำตามคำบอกของพ่อครูอย่างเคร่งครัด ดื่มน้ำผึ้งจนหมดเกลี้ยงหยดสุดท้าย พร้อมตั้งใจว่า ชีวิตนี้จะเอาดีทางการเป็นจ้างซออย่างพ่อครูให้ได้ รานั้นที่ทำพิธีก็ไม่ค่อยเข้าใจนักแต่คิดว่าเมื่อตนผ่านพิธีกินอ้อแล้ว จะต้องเก่งและมีสติปัญญา จึงทุ่มเทเวลาที่มีให้กับการฝึกซ้อมจนในที่สุด นถิ่นนี้ไม่มีใครสู้จ้างซอเอก อย่างบัวซอนและบุญยืนได้เลย

นอกจากจ้างซออย่างบัวซอนและบุญยืนแล้ว ชาวบ้านยังนิยมนำลูกหลานที่เรียนหนังสือไม่เก่ง พามากินอ้อจำ และอ้อผญาจากพ่อครูเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงปี๋ใหม่เมืองในวันพญาวัน (วันที่ 15 เมษายน) หากไม่ใช่ในช่วง สงกรานต์จะทำพิธีในวัน พฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันครู พ่อแม่จะทำสวยดอกไม้ (กรวยดอกไม้) ธูปเทียนไปยังบ้านพ่อครู พิธีการก็จะทำเช่นเดียวกันกับการกินอ้อของจ้างซอลูกศิษย์พ่อครู

การกินอ้อเป็นการเสริมสร้างภูมิพลังทางด้านจิตใจให้มีความเชื่อมั่นในความสามารถด้านสติปัญญา และความสามารถในตนเอง มีครูผู้ให้กำลังใจอยู่กับตนเสมอ

มนุษย์มีศักยภาพในตนเองเพียงพอสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งงดงามได้มากมาย หากไม่ปิดกั้นความเชื่อมั่น ทางออกสู่ความ สำเร็จในชีวิต ดังนั้น การกินอ้อ พิธีกรรมตอกย้ำความมั่นใจ จึงอยู่คู่วิถีชีวิตผู้คนตลอดมา