วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

เรื่องของขวัญ
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน  

ขวัญเป็นความเชื่อของชาวล้านนาว่าสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคนพืช สัตว์หรือสิ่งของต่างมีขวัญทั้งสิ้น

ขวัญเป็นพลังของชีวิตเปรียบเสมือนเป็นแก่นหรือแกนกลางของชีวิตถ้าหากขวัญหายหรือเสียขวัญไปจะทำให้เสียสมดุลต่างๆ ในชีวิตดังนั้นจึงมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับขวัญหรือทำพิธีเรียกขวัญ ไม่ว่าจะเรียกขวัญของคน ข้าว หรือสัตว์เลี้ยงขวัญบ้านขวัญเมืองเชื่อว่าชีวิตจะมีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองเมื่อขวัญได้รับการดูแลใส่ใจ

ประเพณีเรียกขวัญ หรือฮ้องขวัญ เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมาสำหรับเรียกขวัญคนที่หายป่วยใหม่ๆ หรือผู้ที่กำลังป่วยไข้ให้มีกำลังใจ เชื่อว่าคนที่ป่วยถูกผีสางนางไม้ทักทาย ทำให้หวาดสะดุ้งขวัญหนีไป บางคน
เมื่อทำพิธีฮ้องขวัญแล้วทำให้หายป่วยเป็นปกติ

สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีฮ้องขวัญ ได้แก่หมากธูปเทียนผ้าแดงข้าวสาร 1 ถ้วย เงินเหรียญบาท 1 เหรียญจัดใส่พานไว้ อีกพานหนึ่งทำเป็นบายศรีใส่เครื่องบูชาเพื่อให้ขวัญกลับมารับ เช่นขนม เมี่ยงบุหรี่หมากไก่ต้ม ไข่ต้ม  และนำเสื้อผ้าผู้ป่วยหนึ่งชุดใส่ในพานวางไว้ใกล้ๆ ข้าวเปลือกนำใส่ถ้วยวางไว้สำหรับปู่อาจารย์ใช้เสี่ยงทายว่าขวัญของผู้ป่วยกลับมาหรือยัง

เมื่อเตรียมของทุกอย่างครบแล้วปู่อาจารย์ก็จะเริ่มทำพิธีโดยให้ผู้ป่วยหรือผู้ถูกเรียกขวัญนั่งพนมมืออยู่ด้านหน้าผู้เรียกขวัญจะกล่าวคำเรียกขวัญเป็นคาถาด้วยทำนองไพเราะน่าฟังทั้งปลอบทั้งเชิญให้ขวัญกลับมารับเครื่องบูชาที่จัดไว้

หลังจากเรียกขวัญจบลงครั้งหนึ่งแล้วปู่อาจารย์จะเสี่ยงทายว่าขวัญกลับมาครบหรือยังโดยหยิบข้าวเปลือกมาหยิบหนึ่งแล้วนับดู ถ้านับได้ 32 เม็ดแสดงว่าขวัญกลับมาครบแล้วปู่อาจารย์ก็จะนำด้ายแล้วกล่าวคาถาผูกข้อมือใช้ผูกข้อมือผู้ป่วย จากนั้นก็ให้พรถือว่าเสร็จพิธีฮ้องขวัญ

สำหรับผู้ป่วยเชื่อว่าบางครั้งเพราะผู้ป่วยได้รับความตกใจหรือขวัญเสียในสถานที่บางแห่งเพื่อต้องการให้หายจากอาการป่วยไข้ จะมีพิธีช้อนขวัญที่ตกหายไปคืนแก่เจ้าของอีกด้วย โดยมีอุปกรณ์ในการช้อนขวัญ ดังนี้

ด้ายสายสิญจน์ 1 เส้นให้มีความยาวพอประมาณ ข้าวเหนียวปั้นให้พอดีคำ 1 คำกล้วยน้ำว้าสุก 1 ลูก กระทงใบตองกล้วย 2 กระทง แซะหรือสวิง 1 อัน

จากนั้นผู้ทำพิธีช้อนขวัญ อาจเป็นหญิงผู้เฒ่าที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านนำกล้วยกับข้าวสุกวางไว้ที่จุดที่ผู้ป่วยตกใจหรือเสียขวัญใช้ด้ายสายสิญจน์แกว่งไปมาในบริเวณนั้นแล้วเอาแซะหรือสวิงช้อนขวัญที่คิดว่าหล่นหรือตกหายแล้วพูดว่า

 “ขวัญได้มาตกหกตกหาย ขอฮื้อเมียอยู่กับเจ้าจิ่มเน้อ”(ขวัญที่หล่นอยู่ที่นี่ขอให้กลับบ้านไปอยู่กับเจ้าของด้วย)

เมื่อเสร็จพิธีก็จะใช้กล้วยมาถูกับตัวผู้ป่วย หรืออาจให้ผู้ป่วยกินกล้วย จากนั้นใช้ด้ายสายสิญจน์ที่ทำพิธีผูกข้อมือผู้ป่วย

ชาวล้านนามีความเชื่อว่าเด็กทารกที่เกิดมาใหม่ขวัญจะอ่อนบางครั้งในตอนกลางคืนจะร้องไห้ไม่ยอมหยุด เพราะมีพ่อเกิดแม่ก๋าย (พ่อแม่ในอดีตชาติ)มาแวะดูลูกหลานที่ท่านส่งมาเกิดว่าเป็นอย่างไรบ้า งมาอยู่กับพ่อแม่ นี้สบายดีหรือไม่จึงมาหยอกล้อเด็กหรือบางครั้งอาจเป็นผีตายโหงไม่มีที่สิงสถิตมารบกวนเด็กให้ตกใจร้องไห้ไม่ยอมหยุด

ผู้ใหญ่ในบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นแล้วจิ้มไปที่ตัวเด็กแล้วโยนทิ้งไปทำ 3 ครั้งติดต่อกันพร้อมกับพูดว่า“ผีตายห่าตายโหงจะไปมาคุยเด็ก” (คุย ภาษาเหนือหมายถึงรบกวน)

ผู้ใหญ่จะเอามือป้ายไปที่ส้นเท้าตนเองแล้วเอาไปป้ายที่หน้าผากของเด็กจากนั้นจะผูกข้อมือเด็กด้วยด้ายสายสิญจน์ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะผูก 5 เส้นแต่ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะผูก 7 เส้นเอาห่อพริกห่อเกลือดอกไม้และธูป 2 ดอกนำมาบนบานศาลกล่าวใกล้ ๆ กับเด็กขอให้เด็กหยุดร้องไห้ ถ้าเด็กหยุดร้องอีก 3 วันตนจะเลี้ยงผี

จากความเชื่อที่ว่าก่อนเด็กจะเกิดมามีผีหรือผู้เป็นพ่อแม่ในอดีตเป็นผู้ดูแลก่อนผู้หญิงจะเกิดลูกผีจะเป็นผู้ปั้นรูปร่างลักษณะของเด็กแล้วผีจะคอยดักจับวิญญาณใส่รูปที่ปั้นเพื่อให้มีชีวิตแล้วผีจึงส่งเด็กเข้าสู่ครรภ์มารดา ดังนั้นเมื่อเกิดลูกออกมาพ่อแม่จึงกลัวว่าผีจะมาเอาลูกคืนไปจึงมีพิธีกรรมที่เรียกว่าทำขวัญ 3 วันขึ้นมา

ผู้เฒ่าผู้แก่จะจัดทำบายศรีมีเทียนไข 1 เล่ม มีโถใส่กระแจะแป้งเจิมหน้ามีน้ำในขันเป็นน้ำอุ่นกับช้อนเล็กๆสำหรับตักน้ำให้เด็กกินเมื่อถึงเวลาผู้ทำพิธีอาจเป็นปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่จะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยสวดคาถาชุมนุมเทวดาแล้วยกบายศรีตั้งตรงศีรษะที่เด็กนอนซึ่งจะมีผู้อุ้มอยู่นั่งข้างหน้าผู้ทำพิธี

โดยจะนำเด็กที่ใส่กระด้งแกว่งไปมาพร้อมกับพูดว่า

     “3 วันลูกผี 4 วันลูกคนลูกของใครมาเอาไปเน้อ” แล้วจะมีผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่งนำเงินโบราณ หรือเบี้ย มาซื้อ
เด็กไปพร้อมกับพูดว่า  “ฉันรับซื้อเป็นลูกฉันเอง” จะเรียกหญิงผู้เฒ่าที่รับซื้อเด็กนี้ว่าแม่ซื้อ

จากนั้นผู้ทำพิธีจะหยิบด้ายสายสิญจน์ขึ้นมาลูบลงบนแขนขาของเด็กเบาๆ ข้างละเส้นและลูบข้างตัวเด็กข้างละเส้นเรียกว่าฟาดเคราะห์ เพื่อแยกสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้ออกจากตัวเด็กจากนั้นนำด้ายทั้ง 4 เส้นไปเผาไฟ จากเทียนไขที่จุดไว้ แล้วหยิบด้ายเส้นใหม่ขึ้นมาให้พรแก่เด็กแล้วกล่าวว่า

“ขวัญเอ๋ยขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว”

พร้อมขมวดปมไว้ตรงกลางด้าย แล้วนำด้ายนั้นไปผูกข้อมือข้อเท้าทั้งสองข้างของเด็กเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผากตักน้ำอุ่นในขันให้เด็กกิน 3 ครั้งเป็นอันเสร็จพิธี

บางครั้งเวลาเด็กเล็กหกล้ม ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะปลอบโดยใช้มือลูบหลังแล้วพูดว่า

“ขวัญเอ๋ย ขวัญมาขวัญอยู่กับเนื้อกับตัว” เด็กๆ จะหยุดร้องไห้ ถือว่าเป็นการเรียกขวัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน

นอกจากการฮ้องขวัญเพื่อเรียกกำลังใจแก่ผู้ป่วยให้หายแล้วการฮ้องขวัญยังเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพเช่น
การฮ้องขวัญสำหรับบุคคลสำคัญผู้มาเยือนในถิ่นตนเป็นการให้เกียรติ

  • ฮ้องขวัญผู้อาวุโส เป็นการฉลองครบครบวันเกิดเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลมีอายุยืนนานเพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานต่อไป
  • ฮ้องขวัญในพิธีสำคัญ เช่น ฮ้องขวัญลูกแก้ว หรือนาคที่จะบวชในพุทธศาสนา เพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ก่อนบวช
  • ฮ้องขวัญคู่บ่าวสาวที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพื่อเป็นการเตือนสติ เสริมกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคู่
  • ฮ้องขวัญในงานศพ เพื่อเรียกขวัญญาติให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ให้ไปกับผู้ตาย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและ

ครอบครัว

นอกจากนี้ ชาวล้านนายังนึกถึงสัตว์เลี้ยงที่ให้คุณช่วยเหลือการงานด้วยความกตัญญูรู้คุณ รักและผูกพันกับสัตว์
และเชื่อว่าถ้าสัตว์ที่เลี้ยงมีขวัญและกำลังใจดีจะช่วยให้กิจการงานดีขึ้นและสัตว์จะมีกำลังกายเต็มใจที่จะช่วยเหลืองาน
และเป็นสิริมงคลกับผู้เป็นเจ้าของจึงจัดพิธีฮ้องขวัญสัตว์เลี้ยงได้แก่ฮ้องขวัญวัวควาย ช้างและม้าเป็นต้น

ขวัญยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงสังคมให้เกิดความรักและสามัคคีในหมู่คณะ มีการฮ้องขวัญในพิธีสืบชะตา
บ้านชะตาเมือง ตลอดจนป่าไม้และแหล่งน้ำที่ให้คุณแก่คนในสังคม

ฮ้องขวัญ พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวล้านนาช่วยสร้างเสริมกำลังใจพลังอันยิ่งใหญ่ในชีวิตให้มีสติอยู่คู่กาย เป็นการรักษาดุลยภาพแห่งชีวิตคนเรา