วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

หมู่บ้าน

ม้งจะชอบตั้งบ้านอยู่บนดอยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้งบางกลุ่มจะมีการปลูกฝิ่นเป็นพืชหลัก แต่ในปัจจุบันนี้ ม้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นราบลุ่มเขา และยังมีม้งบางกลุ่มก็ยังคงตั้งรกรากอยู่บนดอย แต่ไม่ลึก เข้าไปเท่าไร การคมนาคมพอที่จะเข้าไปถึงได้ หมู่บ้านม้งจะประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายๆหย่อมแต่ละหย่อมจะมีบ้านราวๆ 7-8 หลังคาเรือน โดยที่มีเรือนใหญ่ของคนสำคัญอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือนที่เป็นเรือนเล็กจะเป็นลูกบ้านหรือลูกหลาน ส่วนแต่ละหย่อมนั้นจะหมายถึงตระกูลเดียวกัน หรือเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง ม้งจะมีการย้ายบ้านเมื่อมีโรคระบาด หรือมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดกับหมู่บ้าน หรือขัดแย้งกับราชการจนต้องมีการ ต่อสู้เกิดขึ้น ในการย้ายแต่ละครั้งจะมีการย้ายแบบระมัดระวังที่สุด เมื่อใกล้จะย้ายแล้วม้งมีการขุดหลุมเพื่อที่จะฝังสัมภาระที่เป็นหม้อข้าว-หม้อแกง ที่ไม่จำเป็นมาก และจะทำเครื่องหมายบางอย่างที่สามารถที่จะจำได้ไว้ เพื่อย้อนกลับมาเอาเมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อย เมื่อเริ่มย้ายม้งจะนำม้า เป็นพาหนะในการบรรทุกของ โดยให้ผู้ชายนำขบวนเดินทางพร้อมกับแผ้วถางทางเดินให้กับผู้หญิง และลูกเดินตามกับม้าที่บรรทุกของด้วย และจะไว้ผู้ชายที่มีอาวุธอยู่ท้ายขบวนคอยป้องกันดูแล เมื่อการเดินทางไปถึงบริเวณที่ต้องการที่จะตั้งรกรากแล้ว การที่จะอยู่ในบริเวณนั่นได้นั้น จะต้องให้คนที่เป็นหมอผีหรือคนทรงเจ้าจะเป็นคนเสี่ยงทายพี้นที่นั้นก่อน เพื่อความอยู่รอดของม้ง

ลักษณะตัวบ้าน

ตัวบ้านปลูกคล่อมอยู่บนพื้นดินที่ทุบแน่น วัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม่เนื้ออ่อน ผนังกั้นระหว่างห้องหรือบ้านทำใช้ลำไม้ไผ่ ผ่าคลี่เป็นแผ่น หลังคามุง ด้วยหญ้าคา หรือใบจาก แต่เสาจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แปลนเป็นแบบง่าย ๆ ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากอยู่ในที่อากาศหนาวเย็น ใกล้กับประตูหลัก จะมีเตาไฟเล็ก และแคร่ไม่ไผ่สำหรับนั่ง หรือนอน เอาไว้รับแขก กลางบ้านจะเป็นที่ทำงานบ้าน เข้าไปในสุด ด้านซ้ายจะเป็นเตาไฟใหญ่สำหรับ ทำอาหารเลี้ยงแขกจำนวนมาก และเอาไว้ต้มอาหารหมู บางบ้านจะมีครกไม้ใหญ่สำหรับตำข้าวเปลือก มีลูกโม่หินสำหรับบดข้าวโพด แป้ง ถั่วเหลือง ใกล้กับที่ทำงานจะมีกระบอกไม้ใผ่รองน้ำตั้งอยู่ สำหรับมุมบ้านฝั่งซ้ายมักจะกั้นเป็นห้องนอนของพ่อแม่ กับลูก

ภายในบ้านจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ 5 แห่ง คือ


1. ประตูทางเข้าหลัก


2. เสากลางบ้าน


3. ผนังบ้านที่ตรงข้ามกับประตูหลัก
(เป็นสถานประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของม้ง จะประกอบด้วยกระดาษที่ตัดมาติดเป็นแผ่นใหญ่และยาวเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมี การตั้งโต๊ะหมู่บูชาจะมีการนะกระป๋องหรือ กระบอกไม้ไผ่ใส่ข้าวเปลือก หรือ ขึ้เถ้า หรือข้าวโพดก็ได้ จะนำธูปจำนวน 7 ดอกมาปักข้าง ๆ กระบอกธูป จะมีกระบอกสุรา และกระบอกน้ำไว้เซ่นไหว้)


4. เตาไฟใหญ่

ชาวม้งจะไม่ค่อยย้ายที่อยู่บ่อยนักเมื่อเทียบกับเผ่าอื่น บางทีอยู่นาน 15-20 ปี จึงย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และอาจย้ายกลับมาที่เดิมอีกม้งมีระบบ เครือญาติที่มั่นคงมาก จึงเป็นการยากที่จะถูกกลืนโดยชนชาติอื่นๆ ในปัจจุบันนี้ยังมีการสร้างบ้านเรือนเช่นนี้อยู่ แต่พบน้อยมาก ส่วนใหญ่ม้ง จะรับวัฒนธรรมของสังคมอื่น ๆ มา จึงทำให้การสร้างบ้านเรือนเปลี่ยนแปลงไป โดยสร้างบ้านเรือนเหมือนกับคนไทยมากขึ้น
ความเชื่อก่อนที่จะปลูกบ้านเรือน
ม้งจะมีการเสี่ยงทายพื้นที่ที่จะมีการปลูกบ้านเรือนก่อน เพื่อครอบครัวจะได้มีความสุข และร่ำรวย โดยกระทำดังนี้ เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว จะขุดหลุมหนึ่งหลุมแล้วนำเม็ดข้าวสารจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัวโรยลงในหลุม แล้วโรยข้าวสารอีกสามเม็ดแทนสัตว์เลี้ยงเสร็จแล้ว จะจุดธูปบูชาผีเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาต และเอาชามมาครอบก่อนเอาดินกลบ รุ่งขึ้นจึงเปิดดู หากเมล็ดข้าวยังอยู่เรียบ ก็หมายความว่า ที่ดังกล่าวสามารถทำการ ปลูกสร้างบ้านเรือนได้รอบ ๆ ตัวบ้านมักจะมีโรงม้า คอกหมู เล้าไก่ ยุ้งฉางใส่ข้าวเปลือก ถั่ว และ ข้าวโพด ในปัจจุบันนี้ม้งยังมีความเชื่อนี้อยู่ และปฏิบัติอยู่