วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

สู่ขวัญควาย
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

     ควาย เป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่ชาวไร่ชาวนามาช้านานตั้งแต่อดีตกาล เป็นสัตว์ให้คุณเป็นกำลังหลัก ของชาวนาในการปลูกข้าวเลี้ยงผู้คนมาโดยตลอด ปัจจุบันควายถูกใช้งานน้อยลงเพราะวิถีชีวิตเกษตรกร เปลี่ยนไปจากใช้แรงงานควายหันไปใช้แรงงานจากเครื่องจักรแทน

     ในสมัยก่อนการทำนากว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ไม่เร่งรีบเหมือนปัจจุบัน ในการ ใช้ควายไถนา ถ้าพื้นที่ประมาณ 1 งาน จะใช้เวลา 1-2 วัน ชาวนาจะใช้เวลาทำงานในตอนเช้าและเย็น เท่านั้น เพราะตอนกลางวันอากาศร้อน ทั้งคนและควายจะได้พักผ่อนเอาแรงก่อน

     ควายให้คุณแก่ผู้เป็นเจ้าของอย่างมากมาย นอกจากจะช่วยในการไถคราดแล้ว มูลควายยังนำมา ใช้ประโยชน์ได้อีก ชาวบ้านจะนำมาทำเสวียน เป็นอุปกรณ์ใส่เก็บข้าวเปลือกชนิดหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่รูป ทรงกลมเป็นแท่งยาว ขนาดตามความต้องการ หลังสานเสร็จแล้วเอามูลควายผสมดินเหนียว ทาผิว ไม้ไผ่ทั้งด้านนอกและด้านในตากให้แห้ง เป็นเสวียนที่แข็งแรงทนทานใช้งาน ได้ตลอดไปจนกว่า ไม้ไผ่จะผุ มูลควายเป็นปุ๋ยบำรุงดินในนาข้าว นอกจากนี้ มูลควายยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงจู้จี้ เด็ก ๆ จะชอบไปขุดในช่วงหน้าหนาว ในเรือกสวนไร่นาก็ประหยัดไม่ต้องใช้เครื่องตัดหญ้า หรือ ยาฆ่าแมลง แต่จะอาศัยให้ควายกินหญ้าทำให้ไม่รก

     คนมีความผูกพันกับควายถือว่าควายเปรียบเสมือนเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในครอบครัว เช่นเดียวกับ หมาแมวของคนในสมัยนี้ ควายยังเป็นเพื่อนเล่นของลูก เด็ก ๆ ในชนบทจะชอบขี่หลังควาย ช่วยหา เห็บหาเหาให้ควาย อาบน้ำให้ควาย ควายก็ให้ความเป็นมิตร สัตว์ทุกชนิดถ้าเราใส่ใจให้ความรัก มันก็ทอนคืนความรักให้เราเช่นเดียวกัน

     ในชนบท เวลา 3-4 โมงเย็น ก่อนเอาควายเข้าแหล่ง (คอก) เจ้าของโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะอาบน้ำ ให้ควาย โดยขี่หลังควายลงในแหล่งน้ำ ม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ หนองบึงต่าง ๆ ควายก็จะชอบดำผุดดำว่าย เด็กจะใช้แปรงจากกาบมะพร้าว ลูกบวบแห้ง ฟางข้าว หรือหญ้าแห้งถูทำความสะอาดหลังควาย จนเป็น สีดำมันเงา สบายตัวสบายใจทั้งคนและควาย

     ในฤดูทำนาหน้าฝน เป็นช่วงใช้แรงงานควาย ชาวนาจะเลี้ยงควายไว้ใต้ถุนบ้าน พอย่ำค่ำใช้ฟืน สุมไฟให้ควายกันยุง ได้ทั้งควายใต้ถุนและคนบนบ้าน

     เช้ามืดชาวนาจะจูงควายและแบกไถออกไปนา จะไถนาโดยเวียนซ้ายวนเข็มนาฬิกาเพื่อให้ขี้ไถ ออกจากไถเพราะเวลาไถนา ขี้ไถจะออกทางด้านขวา ชาวนาจึงต้องเดินเวียนซ้ายและ ขี้ไถจะช่วยกลบ หญ้าให้เป็นปุ๋ยในนาได้อีก ชาวนาจะไถนาและหมักไว้ 1 เดือน เรียกว่า ดองนา รอจนกระทั่งดินร่วนซุย หญ้าเน่า หลังการไถดองจะมีไส้เดือนขึ้นอยู่ตามขี้ไถ เป็นไส้เดือนสีแดง เด็ก ๆ จะใช้ไส้เดือน เป็น เหยื่อล่อปลา ชาวนาจะสังเกตถ้ามีไส้เดือนปริมาณมากแสดงว่าดินเน่าได้ที่ เหมาะสำหรับการปลูกข้าว แล้วจึงเริ่ม คราดนา สมัยก่อนไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไส้เดือน กาลเวลา และหญ้า จะช่วยปรับปรุงดินเองตาม ธรรมชาติ

     ในช่วงที่หมักนาทิ้งไว้นี้จะมีพวกปลาชนิดต่าง ๆ มาอาศัยและเจริญเติบโต ดังนั้น ตอนคราดนา เด็ก ๆ จะชอบเดินตาม หลังผู้ใหญ่เพื่อจับปลาที่กระโดดหนีเนื่องจากเมาขี้โคลน เด็กจะเอาข้องมัด ตรงเอว ปลาที่จับได้ส่วนมากจะเป็นปลาช่อน ปลาปก ปลาสะเด็ด จะนิยมนำมาทำแหนมปลา คือเอาปลา คลุกเคล้าเครื่องเทศ ได้แก่ ขมิ้น ตะไคร้ เกลือ พริกขี้หนูซอย ห่อใบตองปิ้งบนไฟ

     ตอนไถหรือคราดนา จะมีการเทียมแอก เพื่อยึดคอควายกับไถ มีทั้งแอกคู่และแอกเดี่ยว แอกคู่ จะใช้ควาย 2 ตัว เทียมแอก การใช้เทียมคู่จะทำให้ควายเหนื่อยน้อยลง ส่วนแอกเดี่ยวจะใช้ควายเพียง ตัวเดียว

     การใช้ควายไถและคราดนาจะมีคำสั่งเฉพาะ ได้แก่ หย่อ (หยุด) หน (ถอย) ฮุ่ย (เดินหน้า อ่อย (ค่อย ๆ หยุด) ซ้าย ขวา บางครั้งเมื่อควายไม่ทำตามคำสั่งจึงถูกลงโทษ โดยการดุด่า หรือเฆี่ยนตี

     ควายหงาน ควายที่แข็งแรงได้แรงงานเยอะ เป็นควายหนุ่มฉกรรจ์ กล้ามเนื้อเป็นมัด มีหนอกใหญ่ ใช้เป็นพ่อพันธุ์ ควายหงาน เมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มจะแย่งชิงความเป็นผู้นำจ่าฝูง โดยจะต่อสู้หรือชนกันเพื่อ แย่งชิงตัวเมีย เมื่อชนะก็ได้ผสมพันธุ์กับตัวเมีย

    ควายจะอยู่กับคนถูกเลี้ยงจนเชื่องและมีความเป็นมิตรกับคน คนจะเลี้ยงควายด้วยความรัก เมื่อเลี้ยงสิ่งใดก็รักและผูกพันสิ่งนั้น

     การสู่ขวัญควาย เป็นการเตือนสติ เตือนจิตเตือนใจ ให้คนมีความกตัญญูกตเวทีรำลึกถึงบุญคุณ ของผู้ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ตน ว่าเมื่อได้รับผลประโยชน์จากผู้อื่นแล้ว ก็มากระทำการ หรือแสดงการ ตอบแทนบุญคุณที่ผู้อื่นได้ทำแก่ตน อย่างเช่น "ควาย" คนได้ใช้แรงงานในการไถคราด พลิกแผ่นดิน อันเป็นของหนักให้ เพื่อหว่าน เพาะปลูกข้าว ปลูกพืชผักในพื้นแผ่นดิน จนคนได้รับผลประโยชน์จาก แรงงานของควาย คือได้ข้าวมาสำหรับบริโภค เลี้ยงชีวิตตนและครอบครัว ในขณะที่คนได้ไถคราดนั้น บางทีได้ดุด่า เฆี่ยนตีควายซึ่งทำไม่ได้ดั่งใจ ทั้งที่กำลังมีแอกต่างคออยู่หนักแสนหนักเหนื่อยแสนเหนื่อย

     เมื่อคนระลึกนึกถึงบุญคุณของควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณไม่มีส่วนที่ได้รับผลประโยชน์อันใด ชาวนาจึงมีการหาวิธีที่จะ ตอบแทนบุญคุณของควายขึ้น โดยวิธี "สู่ขวัญควาย" ขออโหสิกรรมต่อควาย

     ชาวนาจะทำบายศรี 1 ชุด ขนม ข้าวต้ม เหล้าไห ไก่คู่ ไข่ต้ม 1 คู่ เอี้ยงหมายนา 1 ต้น (ดอกไม้จำ พวกไพล ขิง ข่า มีเหง้าในดิน สูงประมาณ 1 เมตร ดอกสีขาว หน่อในดินกินลวกหรือต้มจิ้ม น้ำพริก) ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู ด้ายสายสิญจน์ผูกเขาควาย หญ้าอย่างดี 1 หาบ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วงา กล้วยสุก บางแห่งจะมีสะตวง (กระทงที่ทำจากกาบกล้วย) 1 อัน มีขันปู่อาจารย์ ผ้าขาว ผ้าแดง เงิน 10 สลึง ปัจจุบันใส่ 12 บาท

     โดยมีปู่อาจารย์ผู้ทำพิธีสู่ขวัญควาย คล้ายกับพิธีฮ้องขวัญหรือสู่ขวัญของคนเมืองเหนือ เนื้อหา จะกล่าวเป็นค่าวฮ่ำ ทำนองเสนาะเมืองเสียงจ้อยซอ มีการสัมผัสคำในภาษาที่ใช้พรรณนาถึงคุณความดี ของควายที่มีต่อเจ้าของ ในการทำไร่ไถนาซึ่งเป็นภาระอันหนักทั้งคนและควาย ต้องทำงานร่วมกัน ตลอด ระยะเวลา 3 เดือน ในฤดูหว่านไถจนกระทั่งปลูกเสร็จ ดังนั้น เพื่อความเป็น สิริมงคลในครอบครัวและเป็น การเตือนสติให้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวที รักสัตว์ และรักษาสัตว์ไว้เพื่อใช้งานต่อไป มองเห็นคุณค่า ของสิ่งที่ตนมีอยู่ว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์

     เมื่อปู่อาจารย์กล่าวจบ ผู้เป็นเจ้าของควายจะนำกรวยดอกไม้ไปผูกกับเขาควาย ให้ควายกินปลาย กล้าข้าว หรือหญ้าอย่างดีที่เตรียมไว้ เพื่อแสดงความรักและเมตตาต่อควาย ควายเองก็เป็นสัตว์ที่รู้ ภาษามนุษย์ และเข้าใจความเมตตาที่ชาวนาแสดงออกอย่างเป็นมิตร เหมือนช้าง ม้า และสัตว์อื่น ๆ ที่มนุษย์ชอบเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนและใช้แรงงาน

     คนกับควายวิถีชีวิตชาวชนบท ผูกพันลึกซึ้ง มีความรักและเอื้ออาทรต่อกัน ไม่ว่าคนหรือสัตว์ มิตรภาพที่จะดำรงอยู่ได้เนิ่นนาน สายใยผูกรัดไม่ให้ขาด คือ น้ำใจ