วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ตานหลัวพระเจ้า
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน


ค่ำคืนนี้ท้องฟ้าแจ่มใส ไร้เมฆหมอกใด ๆ มาบดบัง พระจันทร์ดวงโต โดดเด่นอยู่เพียงลำพัง ส่องฉายรัศมีปกคลุมไปทั่วแผ่นน้ำแม่วัง แสงไฟอื่นใดดูด้อยค่าไปถนัดตา เมื่อเจอแสงสีนวล เร้าใจ ดึงดูดผู้คนริมสองฝั่งน้ำให้เข้าหา ต่างพาลูกจูงหลาน พร้อมถือสะเปา(กระทง)น้อย ในมือคนละอัน เพื่อไปขอขมาพระแม่คงคาผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีแก่ผู้คน ด้วยความอ่อนล้า

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พ่อหลวงคำมาเป็นผู้หนึ่งที่พาหลานชายหญิงคู่แฝด เดินไปที่ปงริมฝั่ง แม่น้ำ เช่นคนอื่น ๆ เสร็จจาก ขอขมาพระแม่คงคา และชื่นชมสะเปาน้อย ที่มีแสงเทียนระยิบ ระยับลอยผ่านไปตามลำน้ำแล้ว แกจึงชวนหลาน ๆ เดินกลับบ้านผ่านทุ่งนากว้าง เมื่อเช้าแกเห็น ต้นข้าวแก่ได้ที่ สีเหลืองทองไปทั้งทุ่ง กะว่าให้เสร็จงานบุญคราวนี้ คงจะได้เก็บเกี่ยวข้าวไว้ใน

ยุ้งฉางเสียที สายลมหนาวพัดผ่านกระทบผิวกายอันเหี่ยวย่นจนแกห่อตัวสะท้าน หลานคู่แฝดบ่นหนาว จนปากคอสั่น แกเร่งให้หลานเดินเร็วขึ้นเพื่อจะให้ถึงบ้านได้ห่มผ้าให้หายหนาว มองไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง ของท้องทุ่ง เห็นแสงไฟสลัวจากวัดประจำหมู่บ้านแกนึกถึงพระเจ้าที่แกเคารพบูชา ป่านนี้คงหนาวสั่น อยากให้ท่านได้อบอุ่นขึ้น เห็นทีพรุ่งนี้จะต้องเข้าป่าตามคำชวนของ หนานเมืองเพื่อเข้าไปหาหลัว ตานพระเจ้า

ชาวบ้านวังเลียบ หมู่บ้านเลียบน้ำวัง ได้มีประเพณีที่นึกถึงบุญคุณของพระเจ้าที่ท่านเสียสละ มานั่งเป็นพระประธานในโบสถ์ให้คนกราบไว้มาชั่วนาตาปี ทนร้อน ทนหนาว โดยไม่มีบ่นทุกข์ยาก ประการใดให้ได้ยิน ยิ่งยามหนาวโหดร้ายนัก ลูกเล็กเด็กแดง ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างปวดแสบผิวกายที่แตก เป็นขุย และมักจะเอาฟืนมาสุมก่อไฟให้ได้ผิงยามค่ำคืน หาเผือก หามันมาปิ้งกินให้คลายหนาว ชาวบ้านจึงคิดจะทำให้พระเจ้าอบอุ่นและได้ผิงไฟยามหนาวด้วย จึงได้มีประเพณี ที่เรียกว่า
ตานหลัวพระเจ้า


     ตาน คือ ทาน
พระเจ้า ที่ชาวบ้านเรียกหมายถึงพระพุทธรูปที่อยู่ในโบถ์ส
หลัว หมายถึง ฟืน


เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนยี่ชาวนาเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวกว่าจะเสร็จสิ้นก็เดือนสามถึง เดือนสี่ ยามว่างชาวบ้านจะชวนกันเข้าป่า ไปหาหลัวเตรียมไว้ในเดือนสี่ ชาวบ้านจะเลือกไม้ อย่างดี ที่สุด ไม้ที่นิยมนำมาทำเป็นหลัวให้พระเจ้า คือ ไม้จี้ ไม้ขนาดกลาง ลำต้นมีหนามขึ้นโดยรอบ ใบเล็ก ๆ คล้ายใบข่อย ผิวใบหยาบและสากมือ เป็นไม้เนื้ออ่อน เบา เวลาเผาไฟ จะมีควันไฟน้อย

ชาวบ้านจะตัดไม้จี้เป็นท่อนๆ ขนาดพอเหมาะแล้วแต่ความชอบ บางคนอาจยาวคืบ บ้างยาวศอก บางคนอาจยาววา จะนำท่อนไม้ที่ได้มาถากและเหลาให้เกลี้ยงเกลาสวยงาม ประดับประดาตกแต่ง ด้วย กระดาษหลากสี พันเป็นริ้วรอบท่อนไม้แต่ละท่อน บางคนตกแต่งด้วยตุงกระดาษเล็ก ๆ (ธงสามชาย) การตกแต่งหลัวนี้จะไม่จำกัดขอบเขต แล้วแต่ใครจะคิดสร้างสรรค์ตกแต่งเอง เมื่อ ตกแต่งเสร็จแล้วจึงมัดรวมกันเตรียมไปถวายพระที่วัด จำนวนเท่าใดก็ได้แล้วแต่ศรัทธา

เมื่อถึงเดือนสี่ เช้ามืดผู้ใหญ่จะพาเด็ก ๆ ไปวัด ถือขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน มีข้าวใหม่กลิ่นหอม ข้าวหลามอุ่น ๆ เพื่อถวายพระ พร้อมหลัวเพื่อตานพระเจ้า ผู้คนต่างทยอยกัน เข้าไปที่โบสถ์ อันดับแรกเมื่อไปถึงคือกราบ พระประธาน พร้อมนำดอกไม้ธูปเทียนใส่ขันแก้วเพื่อ บูชาพระ และนำหลัวที่เตรียมไปกองรวมกันหน้าพระประธาน โดยเขียนชื่อผู้เป็นเจ้าของใส่แผ่น กระดาษติดกับหลัว ถ้าจะอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับก็จะเขียนชื่อลงไป จากนั้นพระสงฆ์ จะทำพิธีทางศาสนาไปตามลำดับขั้นตอน พระสงฆ์จะเผาหลัวจำนวนเล็กน้อยพอให้เป็นพิธี จบลงด้วย การให้ศีลให้พร หลัวที่เหลือจากพิธี พระสงฆ์จะนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ ของวัดต่อไป

พระฉันอาหารเช้าเสร็จเป็นทีของชาวบ้านและเด็ก ๆ กินต่อ อาหารหลากรสจากฝืมือหลายคน ในหมู่บ้านที่ต่างบรรจงปรุงอย่างตั้งใจและสรรหาอาหารที่ดีที่สุด เพื่อนำไปถวายพระ สุดท้ายทุกคน ก็ได้อิ่มอร่อยจากฝีมือตนเอง กินเสร็จช่วยกันเก็บกวาด ผู้ใหญ่กวาดลานวัด ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งคุยกัน เด็ก ๆ เมื่อกินอิ่มแล้ววิ่งเล่น ก่อนกลับบ้าน เด็ก ๆ ยังได้หิ้วขนมอร่อยกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นขนมจอก ขนมปาด ข้าวหลาม เป็นต้น เอาไว้กินร่วมกันตอนอยู่บ้าน

เด็ก ๆ สนุกสนานจากการได้วิ่งเล่น ผู้ใหญ่ได้อุ่นกายอุ่นใจจากการได้ทำบุญตานหลัวพระเจ้า เรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เกิดขึ้นและผ่านไป ถูกถ่ายทอดและสืบต่อสู่รุนใหม่

พ่อหลวงคำมาได้เล่าเรื่องราวการตานหลัวพระเจ้าให้หลาน ๆ ฟัง แกเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการ ล่องสะเปา หรือตานหลัวพระเจ้า จะทำให้เด็ก ๆ รุ่นลูกหลานของแกได้นึกถึงบุญคุณ สิ่งที่ทำประโยชน์ให้ตน

แม้สิ่งเหล่านั้นจะไม่เรียกร้องผลตอบแทนแต่คนก็สำนึกในใจเอง แกแอบคิดว่า ในวันข้างหน้า หลาน ๆ ของแกคงนึกถึงแกบ้าง