วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ขะต้ำ ค่ายกลดักปลาช่อน
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

     " วังเลียบ"    หมู่บ้านเลียบน้ำวัง    หนึ่งในสายน้ำหลักของประเทศไทย ณ ที่แห่งนี้มีปลาชุกชุมมากพอ ที่จะเลี้ยงผู้คนตลอดริมฝั่งน้ำ มีพ่อเปี้ยเป็นพรานหาปลา ผู้ทรงภูมิปัญญาของหมู่บ้าน ในเรื่องการจับปลาและเครื่องมือหาปลา เด็กเล็กเด็กน้อยตลอดถึง หนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกใกล้เคียงต่างรับรู้ถึง กิตติศัพท์ความใจดี ไม่หวงวิชา และพร้อมที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญา เพื่อให้เป็นความรู้ติดตัวในการทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัวเครื่องมือ หาปลาจากพ่อเปี้ยจะทำและดัดแปลงมาจาก ธรรมชาติ จากเชือก ไม้ หรือเหล็ก โดยใช้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของปลาและธรรมชาติรอบข้าง วิธีการหาปลาของพ่อเปี้ยไม่เอาเปรียบธรรมชาติ กล่าวคือ ผู้ล่าถ้าเก่งกว่าผู้แพ้ก็สังเวยด้วยชีวิต แต่ยังให้โอกาสผู้ถูกล่าที่ฉลาดและเก่งให้มีชีวิตรอดเสมอสามารถไป วางไข่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ ดังนั้นปลาจึงมีเหลือมากพอที่จะเลี้ยงคนทั้งชุมชน

     พ่อเปี้ยรู้จักธรรมชาติของปลาเกือบทุกชนิด ได้รับคำตอบจากพ่อเปี้ยว่าที่รู้จักธรรมชาติของปลาเพราะ การสังเกตและใส่ใจจึงทำให้ได้ปลาเสมอเวลาออกล่า ยามว่างพ่อเปี้ยมักถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแก่คนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้ธรรมชาติของปลา เช่นปลาแต่ละชนิดกินอาหารอย่างไร ปลาชนิดใดกินพืช หรือกินสัตว์ เช่น ปลาตะเพียนกินพืช ปลาช่อนกินสัตว์ เป็นต้น ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ปลาออก" ซึ่งหมายถึงการออกมาหายใจเอาออกซิเจนหรือการกินเหยื่อพวกแมลงต่าง ๆ ที่อยู่ผิวน้ำ ลักษณะการหายใจของปลา แต่ละชนิดและการกระเพื่อมของน้ำก็แตกต่างกัน เช่น ปลาช่อนกระโดดแรงและเสียงดังมากกว่าปลาดุก วงกระเพื่อมของน้ำจึงไกลกว่า ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาแต่ละชนิดที่ชอบ เช่น น้ำเชี่ยว , น้ำตื้น , น้ำลึก โพรงหิน,โพรงไม้ , โคลน , ทราย

     "ปลาขึ้นน้ำ" เป็นการว่ายทวนน้ำของปลาเพื่อไปวางไข่

     "ปลาลงน้ำ" คือ พอหมดหน้าฝนเข้าหน้าแล้ง น้ำตามลำห้วยเล็ก ๆ หรือตามหนองบึงจะแห้ง ปลาจะว่ายน้ำลงสู่ลำน้ำใหญ่

     นอกจากนี้การใช้เครื่องมือก็มีความสำคัญมาก หากใช้ผิดเวลา ผิดประเภทและผิดโอกาส หรือแม้แต่ผิดฤดูกาล ตลอดจน การหันหัวหันท้ายตามน้ำหรือทวนน้ำของเครื่องมือจับปลาแต่ละชนิด ถ้าทำไม่ถูกมีสิทธิ์อดอาหารโปรตีน พ่อเปี้ยมีกลเม็ดต่าง ๆ เล่าสู่แก่ผู้สนใจ ส่วนเด็ก ๆ ก็เล่าถึงข้อผิดพลาดที่ไม่ได้ทำตามคำแนะนำของพ่อเปี้ย ผลของความผิดพลาด คือ ปลาตัวใหญ่อาจหลุดมือไป หรือได้ปลามาเพียงไม่กี่ตัว แต่เด็ก ๆ ก็มีโอกาสในการแก้ตัวเสมอที่วังเลียบ

     ปลาที่วังเลียบมีมากมายหลายชนิด ที่พลีชีวิตเลี้ยงผู้คนสองริมฝั่งน้ำมาหลายชั่วอายุคน มีปลาที่รู้จักและถูกจับ มาเป็นอาหาร เช่น ปลาตอง ,  ปลาลิ้นหมา ,  ปลาบอก ,  ปลาซิว ,  ปลาซุ่นทราย ,  ปลาหลิม ,  ปลากด ,  ปลาแค้ , ปลาปก ,  ปลาปีก ,  ปลาน้ำบี้ ,ปลาบ่าเจอเก่อ , ปลาเกล็ดถี่ , ปลาสร้อย , ปลาเข็ม , ปลาผี , ปลาเต๊าะ , ปลาค้าว , ปลาสลาก , ปลากัด , ปลาเสด็จ , ปลาหลิด ,ปลาหลาด , ปลาขาว , ปลาหยั่น , ปลาดุก , ปลาผา เป็นต้น

     จากความหลากหลายของชนิดปลาและการการสังเกตธรรมชาติ ตลอดจนรู้จักนิสัยของปลา สามารถนำมาดัดแปลง เป็นเครื่องมือหาปลา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมกับปลาแต่ละชนิด วิธีการหาปลาสามารถ หาได้ทั้งเป็นทีมและหา เดี่ยววิธีหาปลาที่หาเป็นทีม ได้แก่ ลากฆ้อน , อยู่จิบ , ใส่ค้าง , หะปลา , ลงปลา , ลากเชือก , ลากมอง ส่วนวิธีหาปลาที่สามารถหาเดี่ยว หรือหาเป็นทีม ได้แก่ ทอดแห , ตั้งจำ , แทงส้อม , โต้งเต้น , ตกเบ็ด ( เบ็ดราง - เบ็ดสาย - เบ็ดกอง) , จิจะล่อม , ใส่ขะต้ำ , ใส่สา ,ก้านปลา , ใสซ่อน , ใส่ไซ , ใส่แน่ง , ซ่อนแซะ , ซ่อนหิง , โผกปลา , ยิงปลา เป็นต้น

     วิธีการหาปลาชนิดหนึ่งที่มนุษย์ใช้ความฉลาดและการเข้าใจลักษณะนิสัยของปลา คือ ขะต้ำ ส่วนใหญ่ปลา ที่ได้จากขะต้ำ คือ ปลาช่อนและมักจับได้เป็นคู่ ปลาช่อนหนุ่มสาวหรือพ่อแม่ปลาช่อน จะไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นคู่ ปลาช่อนเป็นปลาที่น่าสนใจ และศึกษาการดำรงชีวิต ปลาช่อนเป็นตัวอย่างของปลาที่มีความรับผิดชอบและรักครอบครัว ปลาช่อนตัวผู้ช่วยปลาช่อนตัวเมียเลี้ยงลูก ซึ่งผิดกับปลาบางชนิดที่ตัวผู้ทิ้งให้ตัวเมียเลี้ยงลูกแต่เพียงฝ่ายเดียว ปลาช่อนออกหากินเป็นคู่ และนิสัยซุกซนอยากรู้อยากเห็น ของปลาช่อน จึงทำให้ติดกับดัก คือ ขะต้ำ

     ขะต้ำ เป็นค่ายกลชนิดหนึ่งซึ่งคนในสมัยโบราณคิดค้นขึ้นมาจากการสังเกต ลักษณะนิสัยของปลาที่มีความอยากรู้อยากเห็น เข้าไปหาสิ่งแปลกใหม่ การไม่รู้จักการสังเกต และความไว้วางใจ

วัสดุที่ใช้ทำขะต้ำ ได้แก่
    1. เสียมหรือจอบสำหรับใช้ขุดดินให้เป็นหลุมลึก
    2. ไม้กระดานสำหรับทำประตูปิดเปิดหลุม
    3. เชือกสำหรับใช้ทำ กระเดื่อง

วิธีทำ
1.ใช้เสียมหรือจอบขุดหลุมให้ลึกเข้าไปตามริมฝั่งแม่น้ำหรือริมหนองบึงให้มีขนาด 30 x 40 เซนติเมตร
2. ใช้ไม้ทำเป็นประตูสำหรับเปิดปิดทางเข้าออก ให้มีน้ำหนักพอดีและควรเป็นไม้กระดานแผ่นเดียว
3. ใช้ไม้กระดานปิดปากหลุมข้างบนเพื่อไม่ให้ปลากระโดดหนี ทำเหมือนอุโมงค์หรือห้องลับ โดยมีไม้ปิดด้านบน ของหลุมที่ขุดและทำช่องสำหรับไว้จับปลา
4. ใช้เชือกทำกระเดื่องเมื่อปลาเข้ามาในหลุมแล้วกลับตัวหรือชนเชือกประตูกลก็จะ ปิดปลาหมดอิสรภาพและตกเป็นเหยื่อของมนุษย์ต่อไป

     หลังเรียนรู้วิธีการล่าปลา พวกเด็ก ๆ จะนำไปทดลอง ความตื่นเต้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่พวกเด็ก ๆ ได้ลงมือกับการทดลองบทเรียน และวิธีการที่ได้เรียนรู้มาในแต่ละครั้ง คิดแล้วน่าสนุกกว่าการเล่นเกมวีดิโอ ของเด็กเมืองในยุคสองพันนี้ด้วยซ้ำ เด็กที่วังเลียบมีปลาเป็นรางวัลสำหรับชัยชนะ ถึงแม้การหาปลาจะล่าด้วย ชีวิตแต่ก็เพื่อการดำรงชีวิต เด็ก ๆ รู้จักคำว่าพอ ในการหาแต่ละครั้ง รู้จักการทำงานเป็นทีมและการแบ่งปัน หลังจากเด็ก ๆ หาปลาได้เพียงพอแล้ว ก็จะนำไปที่บ้านพ่อเปี้ยเพื่ออวดฝีมือการหาปลา และนำมา ประกอบอาหารกินร่วมกัน โดยมีแม่บอยภรรยาพ่อเปี้ยนึ่งข้าวเหนียวร้อน ๆ ให้ อร่อยและสนุกกับการกินข้าวร่วมกัน ปลาที่เหลือ ก็จะนำมาแบ่งกลับไป ฝากที่บ้าน วิถีชีวิตที่มีความสุขจากความเรียบง่ายและน้ำใจที่มีให้แก่กัน

***
ศัพท์น่ารู้

๑. ขะต้ำ หมายถึง อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการดักปลา
๒. ปลาออก หมายถึง การออกมาหายใจเอาออกซิเจนหรือการกินเหยื่อพวกแมลงต่าง ๆ ที่อยู่ผิวน้ำ
๓. ปลาขึ้นน้ำ หมายถึง การว่ายทวนน้ำของปลาเพื่อไปวางไข่
๔. ปลาลงน้ำ หมายถึง การว่ายน้ำลงสู่ลำน้ำใหญ่ของปลา ยามหมดหน้าฝนเข้าหน้าแล้งซึ่งน้ำตาม ลำห้วยเล็กๆหรือตามหนองบึงจะแห้ง