วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

บอกโว้ สุนทรีย์ดนตรีแห่งท้องทุ่ง
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

ท้องฟ้าหน้าหนาวดูห่างไกลนัก กลุ่มเมฆฝนสีเทาทะมึนได้จากไป สายลมสะท้านผิวเข้ามาแทนที่

กลุ่มเด็ก ๆ ลูกชาวนาเริงร่าต้อนรับลมหนาวด้วยไมตรี ต่างแหงนมองว่าวปักเป้าหลากสีฝีมือตนเองลอยล่อง ประชันลีลาท้าทายคู่ต่อสู้

ทุกเย็นหลังเลิกเรียนกลุ่มเด็กนัดหมายไปพบเจอกันกลางนาใกล้บ้าน ท้องนาที่ว่างเว้นจากภารกิจอันหนักอึ้งตลอดช่วงฝนที่ผ่านมากลายเป็นสนามเด็ก เล่นและสถานที่ฝึกประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการดำรงชีพตามวิถีชีวิตท้องทุ่งจากรุ่นพ่อแม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าของเด็กรุ่นต่อไป
หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี พวกผู้ใหญ่ดีใจที่ได้ตุนข้าวไว้ในยุ้งฉางสำหรับกินตลอดทั้งปี รอครบขวบปีในฝนหน้าถึงจะได้เริ่มปลูกข้าวอีกครั้ง ในท้องทุ่งชนบทแต่ละครอบครัวแค่มีข้าวเปลือกในยุ้งทุกชีวิตก็อยู่รอด อาหารอย่างอื่นไม่ต้องกังวลถึง แค่เดินออกจากบ้านเข้าไปยังป่าหรือลำห้วยไม่นานก็ได้อาหารติดมือมา

ช่วงหนาว บรรดากบเขียดที่เคยส่งเสียงแข่งขันและเริงร่ากับสายฝนได้เวลาพักผ่อนหลัง เหนื่อยอ่อนมาตลอดพรรษา ต่างเข้ารูเพื่อจำศีลรอสายฝนใหม่ มันจะขูดรูอยู่ในท้องนา บางครั้งแอบตัวอยู่ใต้กอซังข้าว ยามว่างเด็ก ๆ จะพากันไปขุดหากบเขียดไว้เป็นอาหาร เวลาเช้ามืดเด็ก ๆ จะชวนกันไปกลางนาแล้วหากิ่งไม้จองกองขี้ควายกองโตไว้เพื่อขุดหาแมงจู้จี้ ใครตื่นสายมีหวังอดอาหารอร่อย แต่คนไปก่อนก็มีน้ำใจแบ่งกองขี้ควายให้ผู้มาทีหลังเสมอ เพราะถึงจะเก็บไว้คนเดียวก็คงจะกินแมงจู้จี้ไม่หมด แบ่งคนอื่นนอกจากอิ่มท้องยังได้อิ่มใจด้วย

นอกจากกลางทุ่งนาจะกลายเป็นสนามประลองว่าวปักเป้า เป็นแหล่งอาหารอร่อยไม่ว่าจะเป็นกบเขียดหรือจู้จี้แล้ว เด็ก ๆ ยังใช้เป็นสนามแข่งขันบ้องไฟน้อยที่เรียกว่า บ่าโว้ หรือ บอกโว้

บุญมากเด็กชายผิวเข้มหน้าตาคมสัน กำลังนั่งอยู่บนหลังเจ้าทุยเพื่อนประจำบ้าน มันนิ่งและยินยอมให้เจ้าของขี่เล่น ขณะและเล็มหญ้าและยอดข้าวอ่อนจากตอซังข้าว บุญมากแกว่งเชือกยาวที่ใส่บอกโว้ไว้ข้างในก้อนขว้างออกไป

"โว้ ๆ ๆ …ๆ..ๆ...ๆ ตุบ"
เสียงบอกโว้หวีดหวิวบนท้องฟ้า เสียงเฮและปรบมือของเด็ก ๆ ที่ช่วยลุ้น ดังขึ้นหลังบอกโว้หล่นลงพื้น บุญมากเจ้าของบอกโว้เสียงดี ลอยสูง วิ่งไปเก็บบอกโว้ที่หล่นไปไกลเกือบ 100 เมตร ดินเหนียวบางส่วนบีบบู้บี้จากแรงกระแทก ปล้องข้าวที่อยู่ด้านในยังใช้การได้ดี บุญมากบรรจงเก็บอย่างทะนุถนอม บอกโว้อันนี้ดีที่สุดที่เขาเคยมีมา

วันก่อนบุญมากชวนเพื่อน 4 - 5 คน ไปทำบอกโว้ของเล่นยอดนิยมประจำกลุ่ม ใช้เวลาครึ่งวันกว่าจะทำเสร็จ ขั้นตอนทำไม่ยากแต่เขาเสียเวลาในการหาปล้องข้าวที่ได้ขนาด นาใกล้บ้านชาวบ้านหันมาปลูกข้าวที่ทางอำเภอแนะนำเป็นข้าวเมล็ดเล็ก ต้นเตี้ย แต่ละปล้องจึงสั้นไม่เหมาะที่จะทำบอกโว้ เขาจึงเดินไปถึงนาของป้าคำมีที่แกยังปลูกข้าวพันธุ์เดิมที่เคยกินมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมล็ดโต ลำต้นใหญ่และสูงท่วมหัว แกบอกว่าเป็นข้าวพันป่าตาล นอกจากพันธุ์ป่าตาลแล้วยังมีพันธุ์สันป่าตองที่ลำต้นสูง ปล้องใหญ่เป็นที่ต้องการของเด็ก ๆ

หลังเลือกต้นข้าวที่ได้ขนาดแล้ว ก็นำมาตัด ความยาวแล้วแต่ชอบ จะใช้กี่ปล้องก็ได้ ปล้องบนสุดตัดเฉียงเป็นรูปปากฉลาม ความสั้นยาวไม่เท่ากัน ตัดเสร็จจะนำมาเป่าเทียบเสียงหากปล้องใดที่เสียงไม่เพราะก็ทิ้งไปหาปล้องที่ เสียงดีต่อไป เสียงจะสูงต่ำไพเราะขนาดไหน ขึ้นอยู่กับขนาดความสั้นยาวของปล้องบนสุด ความใหญ่เล็ก และความหนาบางของปล้องข้าวนำมาประกบเข้ากับดินเหนียว โดยปั้นดินเหนียวให้มีลักษณะกลมแบนยาวประมาณ 4 - 5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 - 4 นิ้ว นำปล้องข้าวที่เตรียมไว้ยัดตามแนวตั้งรอบดินเหนียว ด้านบนสุดให้วางเท่ากัน และใช้ดินเหนียวโปะด้านบนให้เป็นรูปโค้งเหมือนปากของไมโครโฟน จะได้บอกโว้ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องดนตรีเป่าของชาวเขาหรือแคนของคนอีสานแต่ จะเล็กและมีรูปทรงกลม เด็ก ๆ จะมีการเทียบโน้ตดนตรีตามแต่จะจินตนาการ เมื่อได้บอกโว้แล้วก็นำดอกหญ้าริมทางสีสันสวยงามมาประดับตกแต่งปลายบอกโว้ ให้สวยงามเหมือนการแต่งบ้องไฟของผู้ใหญ่ที่เขาเคยเห็นเมื่อตอนสงกรานต์ จากนั้นก็เตรียมเชือกปอสำหรับเป็นอุปกรณ์ใส่บอกโว้ขว้างไปในอากาศ
ปอกระเจาที่แช่น้ำจนเหนียวนิ่มแล้ว นำมาฉีกให้เป็นเส้นเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ความยาวแล้วแต่ต้องการ ฉีกเป็น 3 เส้น นำมาพันเกลียวให้เป็นเชือกเส้นเดียวกัน แล้วทำเป็นห่วง 2 ห่วง เพื่อใส่บอกโว้ตรงกลาง ความยาวของห่วงประมาณ 1.5 - 2 คืบ เมื่อพันเชือกเป็น 2 ห่วงแล้ว ด้านปลายของเชือกที่เหลือพันเกลียวให้เป็นเชือกเส้นเดียวกันสำหรับจับแกว่ง และเหวี่ยงบอกโว้ ความยาวของเชือกจะไม่เกินวาของเด็ก ถ้ายาวกว่านั้นจะไม่สะดวกในการแกว่ง บอกโว้จะถูกพื้นและเสียหาย แต่ถ้าสั้นเกินไปแรงเหวี่ยงก็จะน้อย บอกโว้ลอยไม่ไกล

พ่อของบุญมากไม่เคยดุด่าที่เขาใช้เวลาในการเล่นบอกโว้เป็นวัน ๆ ในช่วงเสาร์อาทิตย์ เพราะเขารู้ว่าไม่ถูกด่าแน่นอน เพราะก่อนออกจากบ้านเขาทำการบ้านที่ครูสั่งเรียบร้อย ส่วนงานบ้านอื่น ๆ พี่สาวรับทำเพราะบ้านเขาเป็นบ้านเรือนไม้หลังเล็ก พี่สาวหลายคนช่วยกันไม่นานก็เสร็จแล้ว เวลาส่วนใหญ่ของเขาอยู่กับการเล่น พ่อยังบอกอีกว่า เขาเป็นผู้ชายต้องฝึกฝนและเรียนรู้เรื่องการล่าสัตว์ต่อไปเขาต้องเป็นพราน ป่าที่เก่งเหมือนพ่อและผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน แต่ตอนนี้ให้เขาเล่นบอกโว้ไปก่อน อย่างน้อยเขาก็ได้ใช้ทักษะการขว้างบอกโว้มาทดลองขว้างมะม่วงสามปีต้นสูงใน บ้านให้พ่อกิน ในหมู่บ้านของเขาเด็กผู้ชายอายุ 10 - 15 ปีชอบเล่นบอกโว้กันทั้งนั้น

พ่อเล่าให้บุญมากฟังว่า คนสมัยก่อนใช้ลูกดอกยิงสัตว์ ถ้าจะให้ลูกดอกไกลและแรงต้องใช้เชือกสำหรับเหวี่ยงหรือถ้าจวนตัวจริง ๆ ผ้าขาวม้าคาดเอวก็ใช้ประโยชน์ได้ เขาเชื่อเพราะเคยลองขว้างบอกโว้โดยไม่ใช้เชือก แรงดีแค่ไหนก็ไกลไม่เกิน 30 เมตร แต่ถ้าใช้เชือกช่วยมันไปไกลได้ถึง 100 เมตรทีเดียว

บุญมากจะชอบเสียงบอกโว้ตอนที่จับมันใส่ในเชือกแล้วเหวี่ยงหมุนเป็นรูปวงกลมรอบตัวก่อนขว้างไปในอากาศ ตอนเหวี่ยงต้องใช้ความเร็วและแรง จะเกิดเสียงหวีดหวิว โว้ ๆ ๆ สั้น ๆ ดังรอบตัว พอขว้างไปบนอากาศจะเกิดเสียงดัง โว้…..ยาว ๆ คล้ายเสียงบ้องไฟของผู้ใหญ่ การเหวี่ยงบอกโว้อาศัยความชำนาญ เพื่อนบุญมากบางคนแทนที่บอกโว้จะลอยไปตามจุดที่ต้องการกลับลอยมาปะทะหน้าผากตัวเอง

ความสะใจเกิดขึ้นถ้าบอกโว้ของตนเสียงดังและไปไกลกว่าคนอื่น ยิ่งมันหล่นไปยังจุดที่หมายยิ่งภูมิใจ ได้เพลิดเพลินจากเสียงบอกโว้ที่ไพเราะ ฝึกความนิ่ง และตั้งใจเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการขว้างสู่เป้าหมาย

พระอาทิตย์คล้อยต่ำ ความมืดเริ่มปกคลุมท้องทุ่ง เด็ก ๆ บ้างหยอกล้อ บ้างจูงมือกันเดินมุ่งหน้าไปยังท่าน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายที่มอมแมมไปด้วย โคลนและกลิ่นเหงื่อหลังวิ่งเล่นบอกโว้มาตั้งแต่บ่าย บุญมากบอกกับเพื่อนว่าพรุ่งนี้เขาจะช่วยเพื่อนทำบอกโว้ให้มีเสียงดีเหมือน ของเขาในวันนี้