ลากค้อน กลวิธีล่าปลาจากความกลัว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ลากค้อน กลวิธีล่าปลาจากความกลัว
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน


ลากค้อน

เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจคุยกันของกลุ่มชาวบ้าน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ต่างมุ่งหน้าไปยังหลงเหนือแหล่งหาปลาของชุมชนวังเลียบหมู่บ้านเลียบน้ำวัง หลง เป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการไหลผิดทางของลำน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยมีน้ำส่วนหนึ่งไหลแยกออกมาจากสายน้ำเดิม เหมือนกับว่าน้ำหลงทาง น้ำที่ไหลแยกออกมานั้นเซาะตลิ่งให้ลึกเข้าไปกลายเป็นแอ่งน้ำขัง น้ำในหลงนิ่งและลึก จึงเป็นแหล่งชุกชุมของปลานานาชนิด ณ หลงแห่งนี้อยู่เหนือหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกว่า หลงเหนือ

ชาวบ้านที่นี่ล่าปลาเพื่อยังชีพ ปลาที่นิยมล่ามักเป็นปลาตัวใหญ่ ๆ เช่น ปลาช่อน , ปลาตะเพียน ,ปลาปีก เป็นต้น ยิ่งปลาที่ได้เป็นปลาสด ๆ รสชาติยิ่งอร่อยนัก ไม่ว่าจะนำมาย่าง ,ปิ้ง , ต้มส้ม, ห่อนึ่ง หรือแกงแคก็ตาม ทั้งนี้ แล้วแต่ฝีมือและความชอบของแต่ละคนไป

ลุงเบิบ ชายกลางคนแห่งบ้านวังเลียบเล่าให้ฟังถึงกลวิธีที่แกนำใช้ล่าปลาในวันนี้ มีชื่อว่า "ลากค้อน"

"ลากค้อน" เป็นวิธีล่าปลาเป็นทีม ยิ่งมีลูกทีมมากเท่าไร ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นยิ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับจากเสียงพูดคุยกัน และส่งเสียงดังยามจับได้ปลาตัวโตในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การลากค้อนยังอาศัยการสังเกตธรรมชาติของปลาที่มักกลัวสิ่งแปลกใหม่ ที่มีสีขาว ๆ ชาวบ้านจึงได้คิดค้นวิธีการในการล่า จนเป็นที่เชื่อถือได้ และประสบความสำเร็จทุกครั้งที่ล่าปลา

ค้อน หมายถึง ไม้ที่ตัดเป็นท่อน ๆ ขนาดและความยาวแล้วแต่ประโยชน์ของการใช้งาน เช่น แม่บ้านใช้ค้อนตีเส้นฝ้ายที่ปั่นแล้วนำไปแช่น้ำพร้อมกับข้าวเจ้าที่ต้มสุกตี เพื่อให้เส้นฝ้ายเหนียว ไม่ขาดง่าย ใช้ไม้เนื้อแข็งทำ เพราะแข็งแรง ทนทานกว่า เป็นต้น ส่วนค้อนที่ให้สำหรับล่าปลา นิยมทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ปอสา เพราะปอกเปลือกง่ายและมีสีขาว ค้อนล่าปลา มีอุปกรณ์จำเป็นและวิธีการใช้ ดังนี้

1. เชือก ใช้สำหรับมัดท่อนไม้
2. ท่อนไม้(ค้อน) ปลอกเปลือกให้เห็นสีขาว ๆ ของเนื้อไม้ โดยตัดไม้ให้เป็นท่อน ๆ ความยาวท่อนละ 50 เซนติเมตร ผูกเชือกตรงปลายทั้งสองของท่อนไม้แล้วผูกท่อนไม้แต่ละท่อนให้ยาวติดต่อกัน เหลือเชือกไว้ตรงปลายของท่อนไม่ที่ผูกติดกัน ความยาวของท่อนไม้จะแล้วแต่ความกว้างของแม่น้ำ
3. หลังจากผูกท่อนไม้แต่ละท่อนให้ยาวติดต่อกันแล้ว มีคนสองคนจับเชือกที่ผูกทั้งสองด้านของท่อน แล้วลากไปตามความกว้างของแม่น้ำ
4. แห ใช้หลังจากลากฆ้อนไปตามน้ำแล้ว ปลาเมือเห็้นสีขาว ๆ จะกลัวและตกใจ เมื่อผู้ล่าสังเกตเห็นว่ามีปลาจะใช้แหทอดเมื่อปลาพากันกระโดดน้ำหนีด้วยความกลัวฆ้อนแต่ถ้าเป็นน้ำลึก สังเกตได้จากน้ำที่เป็นฟอง หรือเป็นสาย ถ้าเห็นปลาตัวโต ๆ ชาวบ้านจะใช้แหทอดซ้อน ๆ กันครั้งละ 2 - 3 ปาก เพื่อไม่ให้ปลาหลุดหรือหลบหนีไปได้

ลุงเบิบและพรรคพวกลากฆ้อนไปมาที่หลงเหนืออยู่หลายรอบ จับได้ปลาตัวโตหลายตัว ทั้งปลาตะพียน ปลาปีก โดยเฉพาะปลาช่อนขนาดตัวละประมาณ 1 กก. เกือบสิบตัว ถามลุงเบิบว่าจะนำไปทำอะไรกินในวันนี้ ลุงเบิบบอกว่าจะนำไปทำ อ็อกปลา ส่วนที่เหลือจะหมักเกลือตากแห้งไว้ปิ้งกินกับข้าวเหนียวเวลาไปนา

อ็อกปลา เป็นอาหารอร่อยอีกอย่างของชาวบ้าน มีกรรมวิธีในการปรุง ดังนี้
1. ปลาที่หามาได้นำมาหั่นเป็นชิ้นขนาดตามความพอใจ
2. นำเครื่องปรุง ได้แก่ พริกแห้ง ,บ่าแข่น ,หอมแดง , กระเทียม , ขมิ้น , ตะไคร้ และเกลือมาโขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นใส่กะปิและปลาร้าที่สับแล้วผสมไปด้วย
3. ตั้งหม้อบนเตาไฟ ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย นำเครื่องปรุงที่ตำเสร็จแล้วใส่ในหม้อคนให้ละลาย ทิ้งไว้ให้เดือดสักพัก
4. ใส่ปลาที่หั่นไว้ลงไปในหม้อที่มีเครื่องแกง ทิ้งไว้ให้สุก ใส่ใบก้อมก้อ(แมงลัก) เพื่อให้มีกลิ่นหอม

เสร็จแล้วตักใส่ถ้วย ได้อ็อกปลาที่มีน้ำขลุกขลิก เนื้อนิ่ม ๆ ของปลา รสชาติเผ็ดเค็มของเครื่องปรุง สีเหลืองน่ารับประทานของขมิ้น ได้กลิ่นหอมสมุนไพรจากใบก้อมก้อ กินกับข้าวเหนียวพร้อมผักสด เช่น หัวปลี ,ยอดกระถิน ,ยอดมะกอก ,ใบคาวตอง ,ผักไผ่หอมด่วน หรืออื่น ๆ แล้วแต่จะเก็บได้จากข้างบ้าน เป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้อาหารมื้ออร่อยได้เป็นอย่างดี