แฮกนา พันธสัญญาทางใจสู่ความสำเร็จ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

แฮกนา พันธสัญญาทางใจสู่ความสำเร็จ

เขียนโดยศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/

วิธีคิดและความเชื่อของคนในสังคมถูกสั่งสมถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง พิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นถูกเชื่อมโยงสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ ผู้คนชาวชนบทล้านนามีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่มีในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นผู้กำหนดและบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ จะเป็นผู้ให้รางวัลเป็นสิ่งที่ตนปรารถนาเมื่อทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจ และถูกลงโทษให้ได้รับความเดือดร้อนเมื่อฝ่าฝืนกฎที่เคยปฏิบัติกันมา

การเกษตรอยู่คู่กับวิถีชีวิตผู้คนล้านนามาช้านาน โดยเฉพาะผู้คนในชนบทต่างให้ความสำคัญกับวิถีการเกษตร เพราะนำมาซึ่งอาหารในการดำรงชีพโดยเฉพาะ ข้าว

เมื่อฤดูฝนมาเยือน ชาวนาจะเริ่มเตรียมตัวสำหรับการเพาะปลูกข้าว อาหารหลักที่ทุกครอบครัวให้ความสำคัญ จะต้องมีข้าวเตรียมใส่ยุ้งฉางไว้ให้กินได้ตลอดทั้งปี เพราะถ้ามีข้าวเต็มยุ้งแล้วก็รับประกันได้ว่าจะไม่มีอด นอกจากนี้ ปริมาณข้าวที่มีเก็บไว้ยังแสดงถึงสถานภาพทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของ ใครมีข้าวมากชาวบ้านก็จะนับถือ เพราะถึงคราวเดือดร้อนมาอาจได้พึ่งพิง ส่วนอาหารอย่างอื่นไม่ต้องกังวล เพราะมีให้เลือกเก็บกินมากมายเกือบทุกฤดูกาล หาได้จากท้องไร่ท้องนาและตามป่าเขา การทำนาจึงเป็นกิจกรรมหลักที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ต้องกระทำด้วยความเคารพ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของและมีผู้คุ้มครองดูแล ดังนั้น ในทุกขั้นตอนในการทำนาจึงต้องมีการบอกกล่าวแก่ผู้ดูแลเพื่อให้ปกป้องคุ้ม ครองและให้มีผลผลิตดี ปราศจากศัตรูมารบกวน จึงมีพิธีกรรมการบอกกล่าวที่เรียกว่า แฮกนา

แฮก หมายถึง เริ่มแรก หรือเบื้องต้น

แฮกนา จึงเป็นขั้นตอนการทำนาที่เริ่มทำ โดยใช้ความเชื่อและพิธีกรรมเข้ามาสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เป็นเจ้าของนา โดยมีความเชื่อว่าถ้าเริ่มต้นทำสิ่งที่เป็นสิริมงคล ถูกต้องตามประเพณีจะทำให้กิจที่ดำเนินต่อไปประสบความสำเร็จ สมดังความปรารถนา การแฮกนาจึงมีในทุกขั้นตอนของการทำนานับแต่การหว่านกล้าจนเก็บข้าวใส่ยุ้ง ฉางจนถึงเอาข้าวไปกิน

ในเดือน 9-10 เหนือ ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาเตรียมพันธุ์ข้าว สำหรับหว่านกล้าชาวนาเรียกพันธุ์ข้าวนี้ว่า ข้าวเจื้อ มีการเตรียมดินโดยใช้วัวควายไถและคราดเฝือจนดินร่วนละเอียด แล้วยกร่องทำเป็นแปลง ชาวบ้านเรียกการยกร่องทำแปลงหว่านกล้านี้ว่า แป๋งเติ๊ก เพื่อเตรียมสำหรับเอาพันธุ์ข้าวมาหว่าน เวลาเดินหว่านกล้าจะเดินในร่องโดยไม่เหยียบแปลงกล้า

การแฮกหว่าน
หรือการหว่านกล้านั้น จะใช้พื้นที่มุมใดมุมหนึ่งของนาในการทำพิธีโดยเฉพาะ ไฮ่ปากต้าง หรือนาแปลงแรกที่รับน้ำจากลำเหมืองเข้านา

ขั้นตอนการหว่านกล้า เริ่มจากนำเอาข้าวเปลือกที่ใช้ทำพันธุ์ลงไปแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นเอาขึ้นมาใส่กระสอบหรือห่อด้วยผ้าทิ้งไว้ 2 วัน เมล็ดข้าวจะเริ่มงอกมีรากสีขาวออกมา เมื่อเตรียมแปลงสำหรับหว่านเรียบร้อยแล้ว จะนำเมล็ดข้าวที่เตรียมไว้ไปหว่านให้ทั่วแปลง ไม่หนาหรือบางเกินไป จากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ข้าวกล้าจะงอกเต็มแปลง ใบข้าวสีเขียวอ่อนเหมือนปูพรม ช่วงนี้จะต้องดูแลเอาใจใส่ ใส่ปุ๋ย ใส่น้ำ จนอายุต้นกล้าครบ 1 เดือน ก็จะถอนเพื่อนำไปดำในนาต่อไป ชาวบ้านบอกว่าถ้าต้นกล้าอายุน้อยกว่า 1 เดือน จะทำให้ต้นข้าวที่ปลูกตายพราย หรือไม่ให้หน่อ แต่หากนำกล้าที่แก่เกินกว่า 1 เดือน ไปปลูก จะทำให้ข้าวไม่งอกงาม ไม่ให้หน่อเท่าที่ควร ดังนั้น ชาวนาจะต้องจำวันที่หว่านไว้ให้ดี แปลงนาที่ใช้หว่านข้าวเพื่อเตรียมไว้ปลูกหรือดำนี้ เรียกว่า ต๋ากล้า

ผู้ใหญ่จะทำผาม หรือเพิง ไว้ให้เด็กเล่นใกล้กับต๋ากล้า เด็กก็จะเล่นสนุกกับธรรมชาติ ต๋ากล้าในช่วงที่ชาวบ้านถอนกล้าไปปลูก เด็กๆ จะชอบไปวนเวียนดูผู้ใหญ่ถอนต้นกล้า เพราะจะได้ดักจับอาหารโปรดเป็นตั๊กแตนมันตัวเล็กสีเขียว ตรงหัวแหลมเชิดเหมือนหมวกทหาร เด็กๆ จะเอาไปเผาไฟกินเป็นของว่างหรือเป็นกับข้าวกินกับข้าวเหนียวได้ มีรสชาติมันอร่อย ถูกใจเวลาจับตั๊กแตนมันต้องใช้การสังเกต เพราะสีของมันจะกลมกลืนกับใบข้าวมาก นอกจากนี้ ยังมี แมงจอน เป็นแมลงชนิดหนึ่งคล้ายจิ้งหรีดแต่ตัวเล็กกว่า สีน้ำตาล มีปีกบินได้ ขาคู่หน้าแข็งแรงมาก ลักษณะเหมือนรถตักใช้สำหรับขุดดิน แมงจอนจะขุดดินเป็นอุโมงค์คล้ายทางด่วนรถไฟใต้ดิน เด็กๆ จะจับมาปล่อยเล่นที่ต๋ากล้า เมื่อเล่นจนเบื่อแมงจอนก็จะกลายเป็นอาหาร โดยนำมาคั่วใส่เกลือกิน ต๋ากล้าถือเป็นลานสวนสนุกของเด็กๆ ใช้เป็นลานวิ่งเล่น ไล่จับและปั้นดินเหนียว เป็นต้น ยิ่งถ้าวันไหนบดฝน หรืออากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน อากาศไม่ร้อน เด็กๆ จะหาปูหาอาหารจากนาดอง (นาที่ไถดองไว้เพื่อรอการดำนา) นาดองจะเป็นแหล่งอาศัยของปู ปลา เมื่อได้มาก็จะนำมาจี่ไฟหรือเผาไฟกินบริเวณต๋ากล้านั่นเอง

ภาพ กิจกรรมที่ผู้ใหญ่ทำงาน เด็กเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำจากของจริง สนุกสนานจากการกินและการเล่น กลายเป็นความสุขที่ทำให้เด็กชอบที่จะสืบทอดความรู้ของผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว เป็นการสั่งสอนองค์ความรู้ที่ไม่กดดันทั้งผู้รับและผู้ให้ จึงทำให้วิถีเกษตรดำรงอยู่ได้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่เด็กกับผู้ใหญ่มีช่องว่างมากเกิน กว่าที่จะทำให้เด็กรักและเรียนรู้ในสิ่งที่พ่อแม่ทำ และไม่ชื่นชมวิถีเกษตรของพ่อแม่ จนสุดท้ายเมื่อก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถหวนคืนสู่วิถีเดิมของตนเอง กลายเป็นชีวิตที่เคร่งเครียดและกดดันดั่งเช่นคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน

ในการถอนกล้าชาวบ้านจะนั่งถอน ถอนให้ได้เป็นกำพอเหมาะ สะบัดดินที่ติดรากออกให้หมด ใช้ตอกมัดเป็นกำ จากนั้นนำต้นกล้าที่มัดเป็นกำมาตัดปลายต้นกล้าออก แล้วกองรวมกันหาใบไม้มาปิดไว้เพื่อไม่ให้ต้นกล้าเหี่ยวก่อนนำไปดำในนา

หลังจากหลกกล้าหรือถอนกล้าเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะมีการเลี้ยงผีข้าวแฮก เลี้ยงเหล้าไหไก่คู่ คือ มีไก่ต้ม 2 ตัว เหล้า 1 ไห มีข้าวต้มข้าวขนม และผลไม้มาเลี้ยงผีนา และจากนั้นนำเอาของเซ่นไหว้ดังกล่าวมากินกันอย่างมีความสุข นับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่เตรียมความพร้อมเพื่อทำงานหนักใน การดำนาต่อไป เด็กๆ จะรอคอยเหมือนวันตรุษจีนของชาวจีนที่มีอาหารเซ่นไหว้ ที่เด็กชอบ

หลังจากได้ต้นกล้าเรียบร้อยแล้วก็จะลงมือปลูก ในขั้นตอนนี้ก็จะมีการแฮกไถ และแฮกปลูกอีกครั้ง

การแฮกไถ ก็คือ การลงถือไถครั้งแรกของชาวบ้าน ชาวนาจะคำนึงถึงพญานาคให้น้ำในวันปีใหม่สงกรานต์ว่า ปีนี้นาคที่ให้หันหน้าไปทางทิศไหน การเริ่มไถแฮกนาจะไถตั้งหัวนาคไปหาหางนาค จะเว้นจากการไถเสาะเกล็ดนาค คือ ทวนเกล็ดพญานาคและไถค้างท้องนาค หมายถึง การไถที่ตระกายท้องนาค ซึ่งการไถ 2 ลักษณะนี้ไม่เป็นมงคล ชาวบ้านเรียก ขึด การไถนั้นจะเริ่มต้นด้วยการ ผ่าฮิ้ว คือไถแบ่งตอน แล้วจะไถปั๊ดซ้าย หมายถึง การไถด้านซ้ายให้ก้อนขี้ไถผลักมาทางขวา แล้วต่อไปให้ปั๊ดขวา คือ การไถด้านขวา ผลักขี้ไถมาด้านซ้ายและไถเรื่อยไปจนกว่าจะหมดเนื้อที่ในนานั้น ความเชื่อเรื่องการไถย้อนเกล็ดพญานาคที่เรียก ไถเสาะเกล็ดนาค เป็นการฝืนหรือต้านอำนาจของพญานาคผู้ดูแลดินและน้ำ หากกระทำฝืนอำนาจเชื่อว่าจะทำให้มีอันเป็นไป เช่น ไถหัก วัว ควายที่ใช้ไถตื่นกลัว คนไถได้รับอันตราย ตลอดจนข้าวกล้าเสียหายไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ชาวบ้านเชื่อกันว่าพญานาคเป็นผู้บันดาลให้เกิดธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ หนอง คลอง บึง เกิดความมั่งคั่งและมั่นคง ในขณะเดียวกันก็อาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติถึงขั้นบ้านเมืองล่มจมได้ นาคจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจน่าเกรงขาม

หลังจากถอนกล้าแล้ว ก็จะมีการแฮกปลูก เริ่มต้นที่การหาวันดี สำหรับการปลูกโดยทั่วไปถือเอาวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันศุกร์ ซึ่งถือว่าเป็นวันปากพืช หมายถึงวันที่ปลูกพืชแล้วจะทำให้ได้ผลผลิตดี และต้องไม่ตรงกับวันปากสัตว์ หรือวันถูกปากนก ปากตั๊กแตน และวันผีตามอย คือวันที่ไปสมพงศ์กับปากนกและปากตั๊กแตน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศัตรูพืช ตำราบอกว่า วันถูกปากนก ปากตั๊กแตนคือ วันขึ้น 5 6 7 9 12 ค่ำ และแรม 2 6 11 14 ค่ำ ของทุกเดือน ส่วนวันผีตามอย คือวันขึ้น 1 2 6 7 9 10 11 12 13 14 ค่ำ และแรม 1 2 5 7 8 9 15 ค่ำ

การแฮกปลูก
ชาวบ้านจะหาวันหรือฤกษ์ยามที่ดีในการแฮก มีความเชื่อว่าวันเสาร์ห้ามปลูกนาหว่านกล้า เพราะเป็นวันไม่ดี เรียกว่า วันเสีย จะมีสัตว์ต่างๆ มาทำลายข้าวในนา จากนั้นเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มแต่วัวหรือควาย เครื่องไถนาครบชุด รวมทั้งคราด จอบ เสียม มีด และขวาน จัดเตรียมสะตวงใส่สังเวย และแท่นวางเพื่อบูชาแก่ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 และแม่โพสพ รวมทั้งพระอินทร์ และแม่ธรณีเจ้าที่ ในสะตวงประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวตอก กล้วย ข้าวสุก หมาก พลู อาหาร หมากเมี่ยง บุหรี่ มีตาแหลว มีไม้ว้องหรือโซ่ตอกไม้ไผ่พาดเหมือนผ้าคล้องไหล่ ส่วนปลายของไม้ว้องนี้จะทอดลงมาข้างละประมาณ 2 วา และมีปลาทำด้วยไม้ห้อยไว้ข้างละหนึ่งตัว มีสวยข้าวตอกดอกไม้อันหนึ่งมัดติดกับไม้ไผ่นี้แล้วให้ปักไว้ติดกับรั้ว ราชวัติตรงกึ่งกลางด้านตะวันออก มีเอื้อหมายนาหรือดอกพุดนามัดกับกิ่งพุทรา โดยมีปู่อาจารย์หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือ เรียกกันว่าพ่อนา เป็นผู้ทำพิธี

เมื่อประกอบพิธีเซ่นสังเวยแล้ว พ่อนาจะปลูกข้าวเอาฤกษ์ก่อน โดยจะเลือกเอามุมนาที่เคยหว่านข้าวแฮก นำมาปลูกเอาฤกษ์ก่อน จำนวน 9 กอ หรือเรียกว่าข้าวเก้าต้นพี่น้องขณะลงมือปลูกจะกล่าวถ้อยคำกำกับไปด้วย เรียกว่า คำโฉลก ตัวอย่างการกล่าวคำโฉลก เช่น ปลูกต้นที่ 1 ปลูกหื้องัวแม่ลาย ปลูกต้นที่ 2 ปลูกหื้อควายแม่ว้อง ปลูกต้นที่ 3 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นเสียกูได้ ปลูกต้นที่ 4 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นฮ้ายกูดี ปลูกต้นที่ 5 ปลูกข้าวต้นนี้หื้อเป๋นเศรษฐี ปลูกต้นที่ 6 ปลูกข้าวต้นนี้หื้อเป๋นดีเหลือเปิ้นเน้อ เป็นต้น หากต้นกล้าที่เตรียมมามีเหลือ จะปลูกทีละกอ โดยใช้คำโฉลกว่า สุข-ทุกข์ และพยายามให้เหลือต้นสุดท้ายว่า "สุข" เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อปลูกเสร็จให้เอาต๋าแหลวมา ก่อนปักจะมีคาถาเสกต๋าแหลวด้วย ชาวบ้านเชื่อว่า ผู้ประกอบพิธีจะตัดผมไม่ได้ภายในสามวันเจ็ดวัน เพราะจะทำให้ข้าวกล้าอ่อนแอไม่งอกงาม

นอกจากนี้การนำข้าวออกมาตำมาสีเพื่อบริโภค เรียกว่า แฮกกิน ก็จะมีการกำหนดวันดีวันเสียไว้เช่นกัน

ในเรื่องการหาวันดี วันเสีย ดังกล่าว หลายท้องที่อาจไม่ตรงกัน เช่น บางพื้นที่ห้ามมิให้เอาข้าวออกยุ้งในวันอาทิตย์ บางที่เป็นวันศุกร์ หรือบางที่ห้ามวันพระ วันสารท วันเข้าพรรษา วันขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เพราะถือว่าพระแม่โพสพต้องการสงบอารมณ์หรือสมาทานศีล ทำสมาธิไม่อยากเคลื่อนไหว ถ้าเอาข้าวออกกินจะเกิดภัยพิบัติได้

การตักข้าวเปลือก
ชาวล้านนาบางแห่งไม่มีพิธีรีตองแต่อย่างใด แต่บางแห่งจะต้องมีข้าวตอกดอกไม้บอกกล่าวทุกครั้ง จากเรื่องราวของการแฮกเอาข้าวออกกิน ชาวนาให้ความสำคัญในความเชื่อเรื่องการนำข้าวออกยุ้ง โดยอ้างเอาเภทภัย ความสิ้นเปลือง ผีแย่งกิน ตลอดจนการรบกวนแม่โพสพ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการสอนของบรรพบุรุษให้คนรุ่นใหม่รู้จักวางแผนการกินและ วางแผนชีวิตก็เป็นได้

การแฮก เปรียบเสมือนพันธสัญญาทางใจของชาวนา ทำให้มีความเชื่อมั่นในความสำเร็จของสิ่งที่ทำ ตอกย้ำกำลังใจนำไปสู่การกระทำที่มุ่งมั่นโดยมีพยานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ ตนนับถือ

ความสำเร็จทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นที่ดีนั่นเอง