ฮอมปอย จากวัฒนธรรมเก่าสู่แนวทางใหม่เพื่อพัฒนาการศึกษา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ฮอมปอย จากวัฒนธรรมเก่าสู่แนวทางใหม่เพื่อพัฒนาการศึกษา

ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/

บทเรียน วิถีชีวิตต่างๆ ของผู้คนในอดีต หากคนรุ่นหลังรู้จักนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบท ความเปลี่ยนแปลงของสังคมจะก่อการพัฒนาที่ต่อยอด ให้คุณประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อตนเองและสังคมในภาพรวม

ผู้คนชนบทภาค เหนือในอดีต มีน้ำใจและความเอื้ออาทรมอบให้แก่กันและกันเสมอมา การมีชีวิตที่เรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติการที่ใครจะสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยหรือสร้างครอบครัวใหม่ เพียงแค่เดินบอกเพื่อนบ้านก็จะมาช่วยกันทำอย่างเต็มอกเต็มใจ ใครมีฟัก มีผัก มีไก่ ก็นำมาช่วยเหลือ ผู้ชายออกแรงกาย ผู้หญิงช่วยกันทำอาหาร ผู้เฒ่าผู้แก่คอยให้คำแนะนำตามประสบการณ์เดิมและคอยให้กำลังใจแก่คนรุ่นหลัง

เด็กๆ ได้วิ่งเล่นและเรียนรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำเพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้า เป็นการร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือในสิ่งที่ตนมีและทำได้คนละไม้ละมือ เรียกว่าเป็นการฮอมปอย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ควรค่าแก่การรักษาและสืบทอดไว้ในสังคมยุคปัจจุบัน

การฮอมปอย เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนล้านนา

ฮอม หมายถึง การนำปัจจัย หรือสิ่งของมารวมกัน

ปอย หมายถึง งานบุญ หรือการจัดงานในวาระเฉลิมฉลองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก งานปอยมีหลายชนิด ได้แก่

ปอยเข้าสังฆ์ เป็นงานบุญที่อุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตาย

ปอยล้อหรือปอยลากประสาท เป็นงานบุญที่จัดขึ้นในการประชุมเพลิงพระภิกษุสงฆ์ที่มรณภาพ

ปอยลูกแก้ว/ปอยหน้อย เป็นงานบุญในพิธีบรรพชาหรือบวช

ปอยหลวง เป็นงานบุญที่จัดเพื่อฉลองศาสนสถาน เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กำแพงวัด เป็นต้น

งานปอยจะเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นการฮอมเงิน วัตถุสิ่งของหรือแรงกายก็ตาม เพราะต่างถือว่าสิ่งที่ได้รับจากงานปอย คือ บุญ

จากการมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกัน หรือที่เรียกว่า การฮอมปอย ณ โรงเรียนชีวิต (LIFE LONG LEARNING CENTER) อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จึงได้มีการนำวัฒนธรรมฮอมปอยมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กๆ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาการศึกษาที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างฝันร่วมกัน เพื่อพัฒนาการศึกษา ทุกคนควรร่วมคิดร่วมสร้าง แทนที่จะโยนภาระความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใดหรือหน่วยงานใด โดยเฉพาะทำจากจุดเล็กๆ ที่เราทำได้ แทนการวิพากษ์ อยากให้สังคมเป็นอย่างไรให้ร่วมมือกันทำ ให้ทั้งแนวความคิด และหลักการทำสังคมให้น่าอยู่เพื่อเป็นมรดกแก่บุตรหลาน ดีกว่าโยนบาปให้เด็กหรือแค่วิพากษ์สังคมอย่างเดียว

กิจกรรมพัฒนาการ ศึกษาที่เกิดจากการฮอมปอยร่วมไม้ร่วมมือกันของทั้งผู้รับและผู้ให้ กิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน อาทิ กิจกรรมการเข้าค่ายลูกเสือ ค่ายภาษาอังกฤษ และค่ายศิลปะ ค่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น ค่ายคุณธรรม ฯลฯ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างช่วยกัน

กิจกรรมดังกล่าวก่อเกิดขึ้นจาก วิถีชีวิตและจิตใจแห่งความเอื้ออาทรของผู้คนที่มีให้แก่กัน ทุกคนผลัดกันเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ที่สมดุล ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในสังคมยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ให้คุณค่าของเงินที่ เชื่อว่าสามารถบันดาลทุกอย่างให้เกิดขึ้นตามต้องการ แต่บางครั้งคุณค่าด้านจิตใจยิ่งใหญ่กว่าเงิน

ณ ที่แห่งนี้ จะมีภาพกิจกรรมที่เกิดจากการฮอมปอยทางการศึกษาเกิดขึ้นเป็นประจำและอย่างต่อ เนื่อง มีผู้ใจบุญในสังคมต่างมาช่วยกันถ่ายทอดความรู้และสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นแรงกาย และกำลังทรัพย์ เช่น ขนม อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น ลักษณะการจัดกิจกรรมจะเลือกจัดตามความสนใจของผู้เรียน และความพร้อมของวิทยากรผู้มาให้ความรู้ อาจเรียนใต้ต้นไม้ กลางทุ่งนา จะนั่งหรือนอนได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรม

นักเรียนห่อข้าวมากินเองแล้วได้ความรู้กลับไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบชีวิตตนเอง ส่วนที่ได้รับจากผู้อื่นคือของแถม

วิทยากร สละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ สิ่งที่ได้คือ บุญ หรือความสบายใจ

คุณครู ได้ทำหน้าที่ของการเป็นผู้ให้

สิ่งเหล่านี้คือ การฮอมปอย วัฒนธรรมเก่าสู่แนวทางใหม่ในการพัฒนาการศึกษา

ผอ. วิรัตน์ มาน้อย จากโรงเรียนบ้านทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ผู้มีบทบาทสำคัญและให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม และพานักเรียนมาเรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนชีวิตเป็นประจำ กล่าวว่า

"ตอนเป็นเด็กนักเรียนรู้สึกอึดอัดและกดดันในการเรียน หนังสือที่ต้องนั่งเรียนอยู่ในห้อง คุณครูก็ดุ อยากออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนบ้าง แต่ไม่เคยได้ออกไป พอมีโอกาสเป็นผู้บริหารโรงเรียนจึงได้จัดทำโครงการที่มีกิจกรรมให้เด็กเรียน รู้นอกสถานที่ ได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน เด็กนักเรียนชอบที่จะมาเรียนที่โรงเรียนชีวิตแห่งนี้ เพราะมีบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงาม สนุกสนานและได้รับความรู้กลับไปด้วย"

นักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันต่างกล่าวว่า ชอบและสนุกที่ได้มาเรียนรู้ที่นี่ เพราะมีบรรยากาศของการเรียนที่ทำให้ไม่เบื่อ การสอนของวิทยากรก็ไม่ต้องมีคะแนนมาขู่ให้กลัว ความรู้ที่ได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศักยาภาพของผู้เรียนและความต้องการ ที่จะรับ

"มาเรียนที่นี่ทำให้หนูชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษที่วิทยากร สอน ทั้งที่แต่ก่อนหนูไม่ชอบเลย ทำให้คิดว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ยากอย่างที่คิดอีกต่อไป หนูจะตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษให้ดีกว่าเดิม" น้องหมี เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านทุ่งฝาย กล่าวหลังจากได้มาเข้าค่ายภาษาอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อาจารย์ รัศมี โคคา อาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หนึ่งในทีมวิทยากรที่มักจะเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมในโรงเรียนชีวิต บอกว่า "จะมาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับน้องๆ นักเรียน และคุณครูที่นี่อีก และจะชวนเพื่อนๆ มาช่วยด้วย เพราะมาที่นี่รู้สึกว่ามาเติมเต็มชีวิต สบายใจและมีความสุขจากการให้"

ผู้ปกครองนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาล ทิวฟ้า ที่เห็นความสำคัญของการศึกษามักจะพาลูกมาเรียนรู้กิจกรรมร่วมกับพี่ๆ นักเรียนระดับประถมศึกษา กล่าวว่า "ลูกชายชอบที่จะมาเรียนที่นี่ เพราะว่าสนุก มีที่ให้วิ่งเล่น ลูกชายกล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อคุณครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้ฝึก และเห็นจากสภาพจริง อยากให้มีแหล่งเรียนรู้เหมือนโรงเรียนชีวิตนี้มากๆ จะทำให้เด็กมีความสุขจากการเรียน แทนที่จะเรียนจนเครียดเหมือนเด็กนักเรียนในปัจจุบัน"

ครูเพ็นหรือ อาจารย์วาจิส กันทะวัง อาจารย์ผู้สอนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชีวิต กล่าวถึงเหตุผลที่จัดกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนว่า "การศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคนเพื่อให้เต็มตามศักยภาพการศึกษา ช่วยสร้างคนและสร้างชาติ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญและช่วยเติมความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์ยิ่ง ขึ้น การศึกษาเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา และค้นพบสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น การจะพัฒนาประเทศและทำให้สังคมให้น่าอยู่ สิ่งแรกที่ควรให้ความสนใจคือ การพัฒนาการศึกษา"

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนต่างมาร่วมแรงร่วมใจถ่ายทอดประสบการณ์ ความชำนาญที่มีมาตลอดชีวิตเพื่อเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับเด็ก รุ่นต่อไป มีการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดการทำเครื่องมือเครื่องใช้ในท้องถิ่น และวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้าน เช่น สานตะกร้า ทำน้ำคอก (ภาชนะบรรจุน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ ทำกลองขุม ห่อขนมจอก คนขนมปาด การขับจ้อยขับซอและเล่นดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง เป็นต้น

ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนั้นบอกว่า มีความสุขที่มีโอกาสมาถ่ายทอดความรู้ที่ตนมี เพราะปกติลูกหลานไม่ค่อยสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ พวกเขาจะสนใจในสิ่งที่ทันสมัย สิ่งที่ปู่ ย่า ตา ยาย สอนเป็นสิ่งล้าหลังและไม่น่าสนใจสำหรับพวกเขา ผู้เฒ่าทั้งหลายจึงอยู่เหมือนดอกไม้พลาสติคที่ประดับบ้านที่ไม่มีชีวิตชีวา และคนให้ความสำคัญน้อยลง เมื่อมาที่นี่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า อยากมีชีวิตต่อให้ยาวนานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานสืบไป

โรงเรียนชีวิต ให้โอกาสทุกคนในการเรียนรู้ จึงเปรียบเสมือนเวทีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ การถ่ายทอดสิ่งดี มีประโยชน์ให้กับผู้อื่น คนเราทุกคนมีศักยภาพและความพร้อมที่แตกต่างกันไป ทุกคนมีดีของตนเองเสมอ แต่ส่วนใหญ่ขาดโอกาสและการยอมรับจากสังคม

โรงเรียนชีวิต
ได้นำแนวคิดเรื่องการฮอมปอยมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีการประสานความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนา สังคมให้น่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ในสังคม ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชน เป็นการมอบสิ่งดีๆ ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานในท้องถิ่นต่อไป เพื่อให้เด็กเหล่านี้เกิดความรักในท้องถิ่นของตนเองแทนการละทิ้งสิ่งดีงามใน ท้องถิ่น เหมือนนิทานเรื่องหมากับเงา ที่สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้น โรงเรียนชีวิตจึงเป็นการรวมคนที่มีจิตใจเดียวกันมาช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่ ตนทำได้ ใครมีความรู้ให้ความรู้ ใครมีกำลังกายให้กำลังกาย ใครมีทรัพย์ให้ทรัพย์ ผลัดกันรับและให้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ทุกอย่างเกิดจากความพร้อมของทุกฝ่าย กิจกรรมในลักษณะนี้ดำเนินมาได้นับ 10 ปี โดยเริ่มมีกิจกรรมมาตั้งแต่ปลายปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบท และความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมการดำเนิน กิจกรรมของโรงเรียนชีวิตได้ที่ เลขที่ 13 หมู่ที่ 7 และเลขที่ 68 หมู่ที่ 6 ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง หรือที่เว็บไซต์ http://school.obec.go.th/phifo/

การฮอมปอย จะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ให้ต่างให้ด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังปัจจัยอื่นเป็นสิ่งตอบแทน นอกเหนือจาก "บุญ"

วัฒนธรรมการฮอมปอย จะถูกนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คน และโรงเรียนชีวิตจะยังดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ผู้คนในสังคมพร้อมที่จะเป็นผู้รับและผู้ให้ในระดับที่สมดุล เป็นกิจกรรมเล็กๆ ของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีใจพร้อมจะช่วยพัฒนาสังคมแทนการกล่าวโทษถึงความ ย่ำแย่ของสังคมแต่เพียงอย่างเดียว