วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ขัวแตะ สะพานไม้ไผ่สานขัดแตะ

เขียนโดย ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/

การตั้งรกรากถิ่นฐานของผู้คนในอดีตอาศัยแหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลัก เปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิต ที่ใดมีแหล่งน้ำที่นั่นย่อมมีอาหาร มีอาชีพ มีการทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความเชื่อของแต่ละชุมชน

วิถีชีวิตผู้คนสองฟากฝั่งลำน้ำ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นสะพาน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ขัว

ขัว คือ สะพาน ที่ทอดจากฝั่งนี้ไปยังฝั่งหน้า

ขัว ของคนล้านนามีมากมายหลายชนิดที่ใช้เชื่อมสัมพันธ์สองฝั่งลำน้ำ ลำห้วย คู คลองต่างๆ อาทิ

ขัวก้อม คือ สะพานขนาดสั้น (ก้อม หมายถึง สั้น)

ขัวก่าย คือ สะพานขนาดเล็ก ใช้พาดข้ามลำน้ำที่ไม่กว้างนัก (ก่าย หมายถึง พาด)

ขัวแขวน คือ สะพานแขวน

ขัวแคร่ คือ สะพานที่ทำจากไม้ไผ่ผูกเป็นแพ

ขัวมุง คือ สะพานที่มีมุงหลังคา

ขัวน่องแน่ง คือ สะพานขนาดเล็กทำด้วยลำไม้ไผ่สองลำ สอดสลักและมัดติดกัน

ขัวหย้าน คือ สะพานไม้ขนาดยาวที่ใช้ประกบสองข้างของดั้ง ยาวจากจั่วหน้าถึงจั่วหลังของหลังคาบ้าน

ขัวเหล็ก คือ สะพานขนาดใหญ่ที่ทำด้วยเหล็ก

ขัวเล่มเดียว คือ สะพานที่ใช้ไม้ เช่น ไม้มะพร้าว ไม้ซาง พาดข้ามฝั่งเพียงเล่มเดียว

ขัวอกแตก คือ สะพานที่เว้นช่องว่างไว้ตรงกลาง แต่ใช้ไม้ที่แข็งแรงรองรับล้อรถหรือล้อเกวียน

นอกจากนี้ ยังมีขัวอีกชนิดหนึ่งที่มีมนต์เสน่ห์แสดงถึงความเป็นล้านนา มีความอ่อนหวาน เวลาเดินจะเกิดเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด นุ่มเท้า และเด้งได้เหมือนมีสปริง ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำ ลำห้วย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีตที่สะพานคอนกรีตหาได้ยาก เพราะมีราคาแพง ชาวบ้านมักนิยมสร้างขัวชนิดนี้ที่เรียกกันว่า ขัวแตะ

ขัวแตะ เป็นสะพานไม้ไผ่สานขัดแตะ

ชาวบ้านแถบลุ่มน้ำวังจังหวัดลำปางในอดีตต่างได้อาศัยขัวแตะเป็นเส้นทางเชื่อม โยงติดต่อกันของผู้คนสองฟากฝั่งลำน้ำ เมื่อถึงฤดูแล้งลำน้ำแห้งขอด ชาวบ้านก็จะนัดหมายตกมื้อเอาแรงและวานกันมาช่วยสร้างขัวแตะ ชาวบ้านสองฟากฝั่งแม่น้ำวังใกล้วัดพระธาตุเสด็จ เช่น บ้านวังเลียบทุ่งหนอง จะใช้ขัวแตะในการสัญจรติดต่อค้าขายและแวะเยี่ยมเยือนกันกับชาวบ้านเสด็จ และไปไหว้วัดพระธาตุเสด็จ วัดสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง งานประเพณีเดือนยี่เป็งและงานเดือนห้า เป็นต้น ชาวบ้านจะสร้างขัวแตะเกือบทุกปีในช่วงหน้าแล้ง เพราะในขณะที่ช่วงหน้าฝนน้ำเหนือจะหลากไหลเชี่ยวแรง และเป็นช่วงที่มีการล่องไม้ซุงของพ่อค้าไม้ชาวกรุงเทพฯ และชาวพม่า ในช่วงนี้ยังมีเศษไม้ ต้นไม้ ที่โค่นล้มจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ขัวแตะก็จะถูกน้ำพัดพาไปด้วยเช่นกัน ชาวบ้านจึงไปมาหาสู่กันโดยใช้เรือข้ามฟาก มีทั้งคนถ่อเรือและพายเรือ ค่าโดยสารในอดีตครั้งละ 25 สตางค์ ไปกลับก็ 50 สตางค์ สองฝั่งน้ำวังในสมัยนั้นจะมีต้นพุทราและหาดทรายขาว น้ำใสเย็น เด็กๆ ก็จะใช้ขัวแตะสำหรับเป็นที่กระโดดน้ำเล่น บางคนจะใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนดูพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า พร้อมกับมองดูวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำวัง เวลาเดินบนขัวแตะจะยวบยาบเหมือนสปริงเสียงเอี๊ยดอ๊าดให้ความรู้สึกดีมาก ยิ่งขัวแตะยาวเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับขัวแตะมาก ยิ่งบางช่วงที่เสาเริ่มเอียงก็จะทำให้ขัวแตะคดเคี้ยวไปด้วย

การสร้างขัวแตะของชาวบ้านจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ หากบ้านไหนมีล้อเกวียนจะเทียมเกวียนเพื่อไปลากไม้ไผ่ในป่า ซึ่งหาได้ง่ายและมีจำนวนมาก แค่เดินเข้าป่าไม่นานนัก และได้อาศัยแรงของหนุ่มวัยฉกรรจ์เพียงไม่กี่คนก็สามารถตัดและบรรทุกไม้ไผ่ลำ โตมาได้เต็มเกวียน ระหว่างเดินทางเจ้าของเกวียนก็จะมัดฟางเป็นฟ่อนติดท้ายเกวียนเพื่อให้วัว ควายกินตอนเข้าป่า เสียงล้อเกวียนกระทบผิวถนนดินแดง ขณะเจอก้อนหินเป็นบางช่วงเสียงดังเอี๊ยด เกวียนตกหลุม ฟ่อนฟางไหวขึ้นลงตามแรงสัมผัสถนนของล้อเกวียน เสียงผู้คนพูดคุยกันพร้อมเสียงหัวเราะที่ต่างมุ่งหน้าเข้าป่าเพื่อช่วยกัน เติมความฝันสร้างสะพานขัวแตะข้ามน้ำให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านของตนเอง

หลังจากได้ไม้ไผ่มากองไว้ที่ท่าน้ำแล้ว ผู้ชายก็จะช่วยกันตัดลำไม้ไผ่ให้มีความกว้างตามความต้องการ จากนั้นจะผ่าลำไม้ไผ่ที่ตัดแล้วออกเป็นซีก ขนาดประมาณ 1 นิ้ว ตรงปลายปล้องไม้ไผ่จะมีตาไม้เมื่อผ่าแล้วจะได้ตาไม้ไผ่ที่ยื่นออกมา ชาวบ้านจะไม่เหลาเอาตาไม้ออก เพราะตาไม้นี้จะใช้เป็นสลักช่วยยึดติดกับไม้คร่าว (ไม้ไผ่ซีกขนาดยาวใช้เป็นทางหรือไม้คั่นสำหรับสาน) ที่จะใช้สาน ทำให้แตะที่สานยึดเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนาและประหยัดโดยไม่ต้องใช้ตะปูตอก เมื่อได้ไม้ไผ่ผ่าซีกที่เรียกว่าไม้กีบที่พร้อมสำหรับสานแตะแล้ว ก็จะนำไม้บงซึ่งเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เหนียวและทนทำเป็นไม้คร่าวเพื่อความ แข็งแรง และจักตอกเอาไว้สำหรับมัด

เมื่อเตรียมอุปกรณ์จากไม้ไผ่ สำหรับสานขัวแตะแล้ว ก็จะมีการเตรียมเสาที่ใช้รองรับไม้ไผ่สานแตะ ส่วนมากถ้าเป็นขัวที่ไม่ยาวและกว้างมากนัก มีผู้คนสัญจรน้อยก็จะใช้เสาที่ทำจากไม้ไผ่ซึ่งเลือกจากไม้ไผ่ลำโตหน่อย แต่ถ้าหากเป็นขัวแตะที่ใช้ข้ามลำน้ำที่กว้าง ผู้คนสัญจรไปมามากและนอกจากมีคนแล้วยังมีพาหนะอื่นสัญจรอีก เช่น รถ หรือล้อเกวียน ชาวบ้านก็จะเลือกไม้ที่แข็งแรงและทนทานสำหรับใช้เป็นเสารองรับแตะไม้ไผ่ที่ สาน ไม้ที่นิยมใช้เป็นเสาส่วนมากมักใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง เป็นต้น

ปู่อาจารย์ที่นับถือของชาวบ้านจะหาฤกษ์งามยามดีในวันที่จะ สร้างขัวแตะ จากนั้นเป็นหน้าที่ของแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ส่งข่าวบอกลูกบ้านให้มาช่วยกันทำขัวแตะ

ผู้ทำหน้าที่สร้างขัวแตะส่วน ใหญ่จะเป็นผู้ชายที่แข็งแรงและมีความถนัดในเรื่องการสานไม้ไผ่ เมื่อถึงเวลาบางส่วนจะช่วยกันฝังเสา วางไม้คร่าว บางส่วนจะสานแตะไม้ไผ่เมื่อเสร็จก็จะนำไปวางบนเสาที่เตรียมไว้ จากนั้นก็จะทำราวโดยใช้ไม้ไผ่เป็นลำสอดสลักและมัดติดกันด้วยตอก ไม่ต้องตอกตะปูหรือผูกเหล็ก ประหยัดเงินและคุ้มค่าการใช้ เพราะทุกอย่างที่นำมาสร้าง มาจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน

การสร้างขัวแตะ
เหมือนมีงานบุญหรือสวนสนุกประจำหมู่บ้าน ทุกคนมีส่วนร่วม เด็กๆ จะเล่นน้ำ ช่วงหน้าแล้งลำน้ำวังจะแห้งขอดเห็นหาดทรายขาวทอดยาวไกล กิจกรรมการเล่นจึงมีมากมายตามความสนใจ โดยเล่นจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น เปลือกหอย หิน ทราย เด็กผู้ชายที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะคอยเป็นลูกมือให้ผู้ใหญ่และได้เรียนรู้ ที่จะทำขัวแตะต่อไปในอนาคต ส่วนผู้หญิงทำกับข้าวมาเลี้ยง อาหารที่นำมาเลี้ยงกันก็จะมีหลากหลาย แล้วแต่ว่าบ้านไหนจะมีอาหารอะไรก็จะทำมาเลี้ยงกัน อาจจะนำวัสดุหรือของกินมารวมกันแล้วปรุงเป็นอาหารมาเลี้ยงกันก็ได้ เช่น ใครมีฟักหรือมีไก่บ้านก็จะนำมารวมกัน ชาวบ้านเรียกวิธีการนี้ว่า การฮอมปอย คือการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ โดยไม่เกี่ยงว่าใครทำมากหรือใครทำน้อย เพราะการฮอมปอยจะขึ้นอยู่กับความพอใจ สิ่งที่ได้คือ บุญและความสุขใจเป็นสิ่งตอบแทน วิธีคิดและวิถีชีวิตเหล่านี้หล่อหลอมและจรรโลงใจผู้คนชาวบ้านล้านนาให้อยู่ อย่างสันติสุข เป็นสังคมที่สงบร่มเย็นมาช้านาน ไม่ต้องคำนึงถึงความเท่าเทียม หรือสิทธิมนุษยชน เพราะในความเป็นจริงของสรรพสิ่งไม่มีสิ่งใดที่เท่าเทียมกัน แต่สำคัญตรงบทบาทหน้าที่ของตนเองเฉกเช่นในป่าถ้ามีแต่ต้นไม้ใหญ่ ไม่มีหญ้า สัตว์หลายชนิด เช่น วัว ควาย คงมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ไม่มีใครสำคัญกว่ากันระหว่างต้นไม้ใหญ่และต้นหญ้าที่อยู่ติดดิน ดังนั้น การยอมรับในบทบาทหน้าที่ สถานภาพทางสังคม ช่วยเหลือกันคนละไม้ละมือ จึงก่อเกิดเป็นวัฒธรรมที่งดงามของคนล้านนาสืบต่อมา

หลังจากสร้างขัวแตะเสร็จแล้ว ซึ่งส่วนมากจะสร้างเสร็จภายในเวลา 1 วัน พอตกตอนเย็นจะมีการสังสรรค์แบบชาวบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ชายที่ลงแรงทำขัวแตะจะผ่อนคลายด้วยการนั่งล้อมวงคุยกัน พร้อมจิบเหล้าขาวฝีมือคนในหมู่บ้านต้มเองแกล้มกับมะม่วงดิบรสเปรี้ยวที่มี มากในช่วงหน้าแล้ง กินไป คุยไป หัวเราะไป คิดวางแผนและช่วยเหลืองานของหมู่บ้าน เท่านี้ก็เป็นความสุขที่หาได้ไม่ยากของชาวบ้าน

การสร้างขัวแตะจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการช่วยเหลือและร่วมแรงใจแรงกาย เพื่อให้คนในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากการสร้างขัวเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อซึ่งกันและกันแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า การทำบุญตาน (ทาน) ขัวจะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่กำลังจะละจากโลกนี้ไป ความเชื่อนี้ชาวบ้านเรียกว่า การตานขัว

การตานขัว
หรือถวายสะพานนั้น มาจากความเชื่อที่ว่าเมื่อมีผู้ป่วยหนักที่รักษาไม่หายแล้ว ญาติผู้ป่วยจะจัดพิธีกรรมให้ผู้ป่วยฟังธรรมมหาวิบาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้สดับรสพระธรรมเทศนาอันเป็นการชี้ทางไปสู่สุคติ ถ้าหากบุญวาสนาของผู้ป่วยหมดลงก็จะตายพ้นจากความทุกข์ทรมานไปภายในสามวัน เจ็ดวัน นอกจากวิธีการฟังธรรมมหาวิบากนั้นแล้วก็ยังมีการตานขัว หรือถวายสะพานเพื่อช่วยผู้ป่วยให้พ้นทุกข์และได้บุญสำหรับนำติดตัวไปยังภพ หน้า เพราะชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า การตานขัว เป็นการให้ทานอย่างหนึ่งที่ได้บุญมาก เพราะเปรียบเสมือนการอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่นเดียวกับสะพานที่จะช่วยคนให้ลดความยากลำบากในการข้ามน้ำนั้นเช่นกัน

นอกจากชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำวังของจังหวัดลำปางแล้ว ในอดีตชาวบ้านล้านนาจะสร้างขัวแตะกันแทบทุกหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันหาดูขัวแตะได้ยาก เพราะวิถีชีวิต ความสะดวกสบายและงบประมาณของรัฐในการสร้างปัจจัยพื้นฐานของหมู่บ้านเข้ามา แทนที่ จึงเห็นแต่ผู้รับเหมาและคนงานสร้างสะพานแทนการร่วมใจของชาวบ้านเช่นในอดีต เราสามารถพบเห็นขัวแตะในปัจจุบันได้มากแถบอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนพากันหลงใหล เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไป

ขัวแตะ สะท้อนวิธีคิดและความเชื่อของผู้คนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือหลักคิดในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ มีการนำสิ่งรอบข้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ขัวแตะ จึงเป็นอีกหนึ่งแง่คิดให้กับคนในสังคมยุคปัจจุบันว่า เมื่อเจอทางตันในการก้าวไปข้างหน้า การแลหลังมองอดีตอาจช่วยให้อะไรที่แก้ได้ยากในปัจจุบันจะมีทางออกที่ง่าย ขึ้นได้