วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ตอก ไม้ไผ่อเนกประสงค์ ของคนล้านนา

ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง

เสียงตะวัน หลานชายตัวน้อย ส่งเสียงพูดคุยซักถามคุณลุงคิด ไปตลอดทาง นับแต่เริ่มเดินจากชายขอบป่าเข้าไปยังป่าลึกดงหนาที่เรียกว่า ป่าห้วยตั๋น (ชื่อป่าแห่งหนึ่งที่เรียกตามชื่อลำห้วยเช่นเดียวกับป่าห้วยก๋าและป่าห้วย เสียบที่อยู่บริเวณเดียวกัน) ที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายชนิด ทั้งที่กำลังออกดอกสีสวย และเถาวัลย์พันกิ่งไม้ ชวนให้ตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่ที่เด็กน้อยไม่เคยสัมผัส สนุกยิ่งกว่าการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของคุณครูบุญยิ่ง ที่ตะวันชอบนักชอบหนา

เด็กน้อยเดินเข้าไปจ้องเถาดอกไม้สีแดงสดใส คุณลุงคิดบอกว่า มันเป็นดอกของต้นหนามที่พันต้นไม้จนแทบไม่เห็นต้นไม้เดิม ระหว่างทางเขาเห็นดอกไม้ดินหลากชนิด คุณลุงคิดบอกว่า เป็นเอื้องดินมีทั้งสีชมพู สีม่วง และสีน้ำตาล มีอยู่ชนิดหนึ่งที่ยิ่งดูก็ยิ่งเหมือนหงส์ เป็นดอกเล็กๆ สีเหลือง มีกลีบแผ่ออกมาด้านข้างคล้ายปีกหงส์ มีส่วนที่ยื่นออกมาคล้ายคอและหัวของหงส์ ข้างในกลีบดอกที่เป็นเกสรมีสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดมแล้วชื่นใจ ลุงหลานเดินผ่านกอไผ่นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นไม้ซาง ไม้ไร่ ไม้ฮวก และไม้บง

ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่มีคุณแก่ชาวชนบทล้านนามานานนับแต่สมัยบรรพบุรุษจวบถึงคนรุ่น ปัจจุบัน ด้วยประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ และคุณค่าทางจิตใจตามความเชื่อและความศรัทธาในพิธีกรรมต่างๆ ไม้ไผ่จะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมนั้นๆ

วันนี้สองลุงหลานจะเข้าป่าหาไม้ไผ่มาทำตอก โดยนำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีก เหลาให้เกลี้ยงและใช้คมมีดหั่นตรงปลายไม้แล้วใช้มือดึงให้เป็นเส้นเล็กๆ ชาวบ้านเรียกวิธีการนี้ว่า จักตอก

การจักตอก
เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่เพื่อใช้เป็นเครื่องจักสานหรือ ใช้มัดสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ชาวบ้านเรียกไม้ไผ่ที่จักบางๆ ว่า ตอก คุณลุงคิดบอกกับตะวันหลานชายว่า ตอกจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ

1. ตอกสำหรับมัดสิ่งของ

2. ตอกที่ใช้ในการสาน

การจักตอกที่ใช้ในการจักสานก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. จักตะแคง
คือ การจักตอกที่ใช้ไม้ไผ่ผ่ากลีบแล้วเวลาจะทำให้เป็นเส้น จะหันด้านผิวไม้ไผ่เข้าทางลำตัวคนจัก จะได้ตอกที่มีทั้งผิวและเนื้อของไม้ไผ่

2. จักตอกเปิ้ม คือ ตอกที่ได้จากไม้ไผ่ผ่ากลีบแล้วจักเลือกเอาเฉพาะผิวของไม้ไผ่ ไม่เอาเนื้อไม้

ตอก ที่จักเอาแต่ผิวไม้ไผ่ ชาวล้านนาจะเรียกว่า ตอกเติ้ม หรือตอกเถิ้ม แต่โดยทั่วไปถ้าเรียกว่าตอกแล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะเป็นตอกตะแคง

คุณลุงคิดจะพาตะวันไปหาไม้มาทำตอกเพื่อจะสานสาดเติ้ม (สาดที่ทำจากผิวไม้ไผ่ เพราะมีคุณสมบัติดีเป็นที่นิยม ยิ่งใช้ ยิ่งทำความสะอาด ไม้ไผ่ก็จะเป็นมัน โดยธรรมชาติคล้ายลงน้ำมันหรือแว็กเกอร์) คุณลุงคิดพาตะวันไปตัดไม้ไผ่บงหรือไผ่ตง คุณลุงคิดบอกตะวันว่า เนื้อของไผ่บงเหนียว หาง่าย ไม้ที่จะนำมาทำตอกเบิ้ม เพื่อทำสาดเติ้มจะเป็นไม้ที่เกิดจากหน่อปีก่อน เพราะจะมีสีเขียวหรืออายุประมาณ 1 ปี ผิวสวย คุณลุงคิดเล็งเอาแต่ไม้ปีที่แล้วตัดให้ยาวประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการจักและการสาน เมื่อจักตอกเสร็จแล้ว คุณลุงคิดมักจะเอาไปรมควันไฟ ที่เตาไฟทำกับข้าว เพื่อเป็นการป้องกันปลวก มอด ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ชาวบ้านจะนิยมตัดไม้ในฤดูฝน เพราะในช่วงนี้ต้นไม้จะผลัดยางเพื่อป้องกันไม่ให้ปลวก มอด มากิน แต่ถ้าตัดในฤดูแล้งหรือฤดูร้อนก็จะทำให้มอดหรือแมลงกัดกินไม้ที่ตัดได้ การที่ตัดไม้ปีที่แล้วก็มีเหตุผลหนึ่งก็คือ ไผ่ยังไม่มีกิ่งแขนง เพราะแขนงจะทำให้ยากในการจักสาน และได้ลวดลายไม่สวย

คุณลุงคิดถ่าย ทอดประสบการณ์ข้อห้าม ให้ความรู้ว่า ตอกไผ่คา ทำให้หญ้าคาเป็นตับนั้น ควรใช้ไม้ไผ่แค่ 1 ปล้อง มาทำตอก ไม่เหมือนตอกสานสาด ตอกมัดข้าวก็จะยาวกว่า ใช้ไม้ไผ่ 2-3 ปล้อง ส่วนตอกใช้สานสาด สานตะกร้า กระบุง ไซ มักจัดโดยใช้แบบตะแคง ตอกหยาบ คือจักหนากว่าปกติ เพื่อมัดผูกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและมีความยาวประมาณ 1 เมตร เช่น เป็นเครื่องเรือนผูกมัดเล้าหมู มัดฟืน ฯลฯ ส่วนตอกมัดหญ้า จะจักตะแคง มีความยาวประมาณ 1 ศอก

คุณลุงคิดจักตอกเติ้ม โดยเอาแต่ผิวไม้ไผ่เพื่อจะนำไปสานสาดไว้นั่งใต้ร่มลำไยหน้าบ้าน ในฤดูแล้งหน้านี้ คุณลุงคิดยังบอกตะวันว่า ถ้าตอกเติ้มที่สั้นประมาณ 1 ศอก บางและกว้าง จะใช้มัดห่อแหนมหรือจิ้นส้ม

วันนี้ตะวันมีความรู้เรื่อง ตอก โดยเฉพาะตอกที่ทำจากไม้ไผ่ สามารถทำเครื่องจักสานของคนล้านนา ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดถึงคติความเชื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา การบนบานสานกล่าว คำว่าแก้บน คนเมืองเวลาบนบานสานกล่าวก็ใช้สวยข้าวตอก ดอกไม้แล้วใช้ตอกมัดผูกกับต้นไม้ แล้วบอกกล่าวรำริรำไร ในสิ่งที่ตนเองอยากจะได้ อยากจะให้เกิดขึ้นกับผีสางนางไม้ เทพบุตร เทพธิดา เมื่อถึงเวลาได้ในสิ่งที่สมประสงค์แล้ว ผู้บอกกล่าวก็จะไปแก้มัดสวยดอกไม้ที่ตนเองนำไปมัดไว้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า แก้บน

ตะวันเริ่มเรียนรู้ว่าไม้ไผ่บงต่างจากไม้ไผ่ไร่อย่างไร ต่างจากไม้ไผ่สีสุก และไม้ไผ่ซางอย่างไร วันนี้ถ้าตะวันไม่ไปตัดไม้ไผ่ที่ห้วยตั๋นกับคุณลุงคิดก็คงจะทำให้ขาดโอกาส ที่จะเข้าใจคุณสมบัติและสิ่งที่บรรพบุรุษสืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง แล้วตะวันจะได้นั่งสาดฝีมือตัวเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ จะได้เรียนรู้การสอดตอกเพื่อสานสาด คุณสมบัติสาดเติ้มคือ ให้พื้นผิวสัมผัสดีและถ้าในฤดูร้อนเอาน้ำพรมหรือเช็ดไอน้ำก็จะระเหย เวลานั่งเล่นนอนเล่นก็จะทำให้เย็นสบาย คนชนบทในสมัยก่อนไม่มีไม้จิ้มฟัน ก็มักจะใช้ปลายตอกนั่นแหละจิ้มเศษอาหารออก คือใช้ตั้งแต่จิ้มฟัน ปลูกสร้างบ้านเรือน ผูกแพ ลากซุง ฯลฯ ใช้สานของเล่น เครื่องใช้สอย ทำเครื่องมือหากิน อื่นๆ

ตอก
ผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์ทุกขั้นตอนในการดำเนินชีวิต นับแต่เกิดจนตาย ใช้ทั้งงานมงคลและอวมงคล

การดำเนินชีวิตไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากรู้จักปรับตัวและเลือกใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ค้นพบและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง ชีวิตก็มีคุณค่า