ประวัติศาสตร์มอญ - มอญ เป็นชาติเก่าแก่ที่สุด ?

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญ เป็นชาติเก่าแก่ที่สุด ?     

มอญ
น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต


หงส์

มนุษยชาติในแหลมสุวรรณภูมินั้น มอญ เป็นชาติโบราณที่สุดในแหลมทองนี้ หนังสือประวัติศาสตร์ภาษาไทยที่ได้อ่านพบ มักจะมีชื่อเรียกว่า ชาติ"มอญ-เขมร" คงเป็นเพราะ"ชาติมอญ" เป็นต้นกำเนิดของเขมร ก็อาจเป็นได้ นี่ก็เป็นการเดาอย่างหนึ่ง เดาตามที่ได้พบเห็น อาจผิดก็ได้

ในแหลมทองจะพบว่า มอญ และละว้า เป็นชาติที่เก่าแก่ที่สุด ที่อาศัยอยู่ในแหลมทอง หรือสุวรรณภูมิ "มอญ"อยู่ทางทิศตะวันตก คือชนที่อยู่ปัจจุบัน  "ละว้า"อยู่ภาคกลางประมาณลพบุรี ในปัจจุบัน ปลายแหลมมลายู อาจจะมีชนชาติคะนัง หรือเงาะซาไก เป็นชนชาติเล็ก ๆ เจ้าของถิ่นเดิมอยู่บ้าง  ส่วน"ชาวมลายู"นั้น เดาว่าเป็นชนชาติที่อพยพมาจากเกาะชวา เกาะสุมาตรา  ต้นกำเนิดของ"ชาวมลายู" คงจะสืบเชื้อชาติมาจากอินโดเซีย แต่ปัจจุบัน เป็นชาวมาเลย์หรือมาเลเซีย  ส่วนพม่านั้น เป็นชาติใหม่ที่อพยพมาจากธิเบต มีเชื้อสายธิเบต และธิเบตมาจากไหน ของดที่จะไม่เดาต่อไป เพราะจนปัญญา ส่วน"ญวน"ไม่ทราบมาจากไหน ยังค้นไม่พบ จึงของดที่จะเดา ถ้าจะเดาก็ว่ามาจากจีน แต่ไฉนจึงเป็นขมิ้นกับปูนตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน และที่น่าสังสัยคือ "ชาวจาม"หรือ"จำปา" และเจนละ ทั้งสองชาตินี้หายไปไหน  ฉะนั้น ละว้า จามปา และเจนละ คงสูญชาติ สิ้นชาติ เช่นเดียวกับชาวคาเธจ(Carthage) ในทวีปอาฟริกากระนั้นหรือ

ไท (หรือไทยในปัจจุบัน) ท่านได้กล่าวมามากว่า อพยพเป็นระยะ ๆ มาจากแถบภูเขาอัลไต ไม่ทราบว่ามีหลักฐานอะไร อ่านหนังสือเล่มไหนก็แจ้งว่า ไท มาจากภูเขาอัลไต แล้วถูกจีนรุกไล่ลงมาทางใต้สิ้นชาติ ไทยอยู่ในปกครองของขอมและกู้ชาติเป็นอิสระจากขอม เมื่อเกือบ 800 ปีมานี้เอง ไท หรือ ไทย แหลมทอง เป็นชาติใหม่ชาติหนึ่งในแหลมทอง แต่เป็นชาติที่เก่ามาจากทื่อื่น และไทก็แพร่เชื้อชาติไปตะวันตกที่อัสสัม ใกล้เข้ามาเป็นไทยใหญ่ แต่ทำไมจึงไปเรียกว่า เงี้ยว ก็ไม่ทราบ และก็มีอาหารแซบว่า “ขนมจีนน้ำเงื้ยว” ใกล้เข้ามาทางเหนือเป็นลาว (ประเทศลาว) ไกลออกไปทางตะวันออก เป็นไทยดำแห่งเดียนเบียนฟู หรือเมืองแถง (จนเกิดเพลงไทยดำรำพันอันไพเราะยิ่ง) และยังมีไทยในไหหลำบ้าง ในกวางตุ้งบ้าง เชื้อชาติไทยกว้างขวางพอใช้ แล้วทำไมคำว่า ไท กลายเป็นไทย เพราะอะไรไม่ปรากฏ ถามมาหลายท่านแล้วยังไม่ยุติ
ใคร่จะเขียนเรื่อง มอญ แต่ชักแม่น้ำทั้ง 5 เสียจนน้ำท่วงทุ่ง ขอกลับมาเรื่องมอญดังได้ตั้งปณิธานไว

มอญ เป็นชาติโบราณที่สุดในคาบสมุทรสุวรรณภูมิ และเข้าใจว่า "มอญ"ส่วนหนึ่ง ได้อพยพมุ่งไปทางตะวันตก ไปรับวัฒนธรรมอันแข็งกล้า จากอินเดียฝ่ายใต้ จึงกลายเป็นชาติขอม ซึ่งเจริญรุ่งโรจน์ถึงขนาดสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก คือ นครวัต และได้แผ่อิทธิพล จากตะวันออกย้อนกลับมาตะวันตก ปราบละว้าหรือลั๊วและปราบไทยไทยให้อยู่ในอำนาจ ในระยะหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏ ว่าปะทะกับ "มอญ"-บรรพบุรุษของขอม (ตอนนี้ขอเดาไว้ก่อน) และขอมนี้เข้าใจว่า คงจะปราบ"จาม"หรือจามปา และเจนละ จนสิ้นชาติ และ"ญวน"เข้ามาเมื่อใด จึงมาตั้งมั่นอยู่เหนือขอมได้ ไม่ทราบและไม่เดา และทำไม"ขอม"จึงกลายเป็น"เขมร" ไม่ขอเดาอีก แต่เพียงคิดว่า คงเป็นเช่นโรมัน กลายเป็นอิตาเลียน กระมัง


ขอย้อนกลับมายัง มอญ กับพม่า อีกครั้ง

เมื่อเรียนหนังสือชั้นประถม โรงเรียนสตรีวัดระฆัง รู้สึกสนใจในหนังสือเรื่องราชาธิราช ตอนศึกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ตอนอื่นจำไม่ได้ จำได้แต่ตอนที่กล่าวว่า เมื่อตะละแม่ร้องว่า “ฉางกายเอ๋ย ช่วยด้วย” จำได้แม่นมาจนบัดนี้  และทำไมจึงจำได้เฉพาะประโยคนี้ก็ไม่ทราบ หรือว่าสันดานหรือชาติญาณของผู้ชาย และสงสัยว่าเรื่อง มอญพม่า ทำไมชื่อว่า ฝรั่ง สงสัยมาจนทุกวันนี้ คำว่า มังฆ้อง อาจจะเป็นคำพม่ามอญก็ได้ ไม่ขอเดา ต่อไปจะพูดถึงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะ"ศิลปวัฒนธรรมมอญ"นั้น ข้าพเจ้ามีอคติติดอยู่เสมอว่า

ศิลปะมอญ-วัฒนธรรมมอญ นั้น ถูกพม่าแย่งไป ถูกพม่าบดบังปัญญาบารมี จนสิ่งที่เป็น"ศิลปวัฒนธรรมมอญ"นั้น กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของพม่าไปหมด ข้าพเจ้ายังมั่นใจว่า ศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่นั้น พม่าได้รับไปจาก"มอญ" คือ "ศิลปวัฒนธรรมมอญ"มีเหนือพม่า เช่น สถาปัตยกรรมแบบปรางค์ ขอม-เขมร มีต่อสถาปัตยกรรมไทย  ศิลปสถาปัตยกรรมประเภทเรือนยอด (กุฏาคาร) คือหลังคาที่มียอดแหลมต่อขึ้นไป โดยเฉพาะเรือนยอดทรงมณฑปนี้ ข้าพเจ้าเชื่อร้อยเปอร์เซนต์ว่า เป็นของมอญแท้ ขนานดั้งเดิม แต่พม่าผู้เป็นนักรบผู้พิชิตนำไปใช้ เลยกลายเป็นสถาปัตยกรรมพม่าไป เพราะอำนาจของผู้ชนะโดยแท้ (แม้แต่ชื่อประเทศก็เรียกว่าประเทศพม่า ความจริงแล้วหาใช่พม่าชาติเดียวไม่ ควรจะเรียกว่า  ประเทศสหพันธรัฐมอญ พม่า ฉาน มากกว่า หรืออาจจะหาชื่อที่ดีกว่านี้ก็ได้)  ด้วยใจจริงแล้วข้าพเจ้ามั่นใจว่า เรือนยอด (Spire) ทรงมณฑปนี้ เป็น"สถาปัตยกรรมมอญ" และไทยนำมาดัดแปลง (ตามเคย) เพราะไทยเรานี้เป็นนักดัดแปลงแฝงไปด้วยจินตนาการอันสูงส่ง ผสมผสานประโยชน์ (Assimilation) เป็นยอด สามารถดัดแปลงเรือนยอดแหลมทรงพิรามิดแข็งทื่อ ให้เป็นมณฑปทรงจอมแหอันอ่อนช้อยได้งดงาม

ข้าพเจ้ามั่นใจอีกครั้งว่า เรือนยอดมณฑปเป็น"สถาปัตยกรรมมอญ" (ไม่ใช่พม่า) แล้วไทยดัดแปลงมาเป็นมณฑปจอมแห แน่ละ..ของแต่ละชาติก็มีลีลาลีลาศวาดวงต่าง  ๆ งามกันไปคนละแบบ อย่างไรก็ดีสถาปัตยกรรมเรือนยอดนี้ เป็นของมอญแน่นอน

ศิลปดนตรี นั้น ไทยได้รับอิทธิพลจาก"มอญ"มามาก เช่น ไทยเรารับ"ปี่พาทย์มอญ" และรับได้ดีทั้งรักษาไว้จนปัจจุบัน และให้เกียรติ์เรียกว่า ปี่พาทย์มอญ นิยมบรรเลงในงานศพ จนกระทั่งมีคำพูดว่า “เท่งทึง” คือ หมายถึงตาย เพราะเวลาตีตะโพนกลอง มีเสียงฟังออกมาได้ว่า “เท่งทึง เท่งทึง” และเพราะได้ยินเช่นนี้ในงานศพ เลยคำนี้พลอยมีความหมายดังกล่าว

ดนตรีที่มีชื่อเพลงว่า มอญ นั้น นับได้ 17 เพลง เช่น มอญดูดาว มอญชมจันทร์ (เป็นเพลงที่แสดงความไพเราะ แสดงความสดชื่นรื่นรมย์ ในขณะที่มีทั้งความรัก ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม และเสียงดนตรีผสมผสานกัน)  มอญรำดาบ (โบราณ เป็นเพลงที่ใช้ร้องประกอบการแสดงละครบ้าง ในการเล่นมโหรี บรรเลงเป็นเพลงตับบ้าง และเป็นเถาบ้าง เพลงนี้มีความหมายถึงการซ่อนคมไว้ในฝัก และชักออกมาด้วยความมีชัย)  มอญอ้อยอิ่ง (ก็ เป็นอีกเพลงที่ทั้งทำนองร้องและดนตรี ใช้ลีลาสำเนียงมอญเป็นหลัก)  นอกจากนี้ก็ยังมี มอญร้องไห้ มอญนกขมิ้น ฯลฯ  และยังมี"แขกมอญ" คือ ทำนองทั้งแขกทั้งมอญ เช่น แขกมอญบางขุนพรหม แขกมอญบางช้าง เป็นต้น  เพลงทำนองของมอญ มีความสง่าภาคภูมิ เป็นผู้ดีมีวัฒนธรรม และค่อนข้างจะเย็นเศร้า ซึ่งเป็นลักษณะของผู้มีวัฒนธรรมสูง ย่อมสงวนทีท่าบ้างเป็นธรรมดา แต่ที่สนุกสนานก็มีบ้าง เช่น กราวรำมอญ มอญแปลง ฯ

เครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ คือ กลอง ที่เรียกว่าเปิงมาง นั้น ขอเดาว่าเป็น"มอญ" ไทยเรานำมาผสมวง ทำคอกล้อม เป็นวงกลมหลายวง เรียกว่า เปิงมางคอก ตีแล้วฟังสนุกสนาน ถ้าเพลงดีและตีดี ฟังแล้วสนุกเป็นอย่างยิ่งมันส์เหลือหลาย แต่กลองยาวและเทิดเทิงนั้น ขอเดาว่าเป็นของพม่า เพราะมีลักษณะและวิธีแสดง ดุดัน รุกราน เยาะเย้ย ท้าทาย

การแต่งกาย ที่หญิงนุ่งซิ่นนี้  ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นการแต่งกายแบบ"มอญ" และชาติอื่น ๆ อาจจะคิดเรื่องเครื่องแต่งกายคล้ายกันซ้ำกันก็ได้ แต่ในแหลมทองนี้ คงมีอิทธิพล"มอญ" ในเรื่องเครื่องแต่งกายสตรีรมากกว่าชาติใด

วัฒนธรรมมอญ-ประเพณีมอญ  ที่ไทยยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เต็มใจจัดทำทุกปีมิได้ขาดก็คือ ประเพณีสงกรานต์ ไทยรับ"มอญ"ไว้มาก ไม่ทราบว่าชาว"มอญ"ที่อยู่ในประเทศพม่า จะมีประเพณีเช่นคนไทยรับไว้หรือไม่ ไม่อาจพบได้ ประเพณีรดน้ำสงกรานต์ แห่ปลา ปล่อยปลา เล่นสะบ้า  เหล่านี้ เป็นชีวิตจิตใจของคนไทยรับจาก"มอญ"อย่างดียิ่ง  "มอญจริง"อาจจะลืมไปแล้วก็ได้ (เช่นเดียวกัน พุทธศาสนาไทยรับจากอินเดีย  ในสมัยสุโขทัยมีการรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์  และต่อมา ทางลังการพุทธศาสนาเสื่อมลง กลับขอให้ไทยส่งมหาเถระไปเผยแพร่ จนเกิดพุทธศาสนาลัทธิสยามวงศ์ในลังกา) ประเพณีสงกรานต์ มอญ อาจจะขอให้ไทยไปช่วยอับรมสัมมนาให้อีกก็ได้

ในทางพุทธศาสนา พระสงฆ์มอญ ก่อให้เกิดธรรมยุติกนิกาย เพราะได้รับอิทธิพลทางพระวินัยและการครองจีวรจาก"พระสงฆ์มอญ"

วัฒนธรรมมอญ หลายอย่าง ไม่อาจเข้าใจ เพราะยังไม่ได้สอบถาม เช่น แย่งกันยัง"ศพมอญ" ศพมอญ นั้น มีพิธี มีขนมธรรมเนียมแย่งกันหรือ กับอีกประการหนึ่งที่สงสัย ทำไมเวลาด่ากันว่า “มึงมันมีเคียวเจ็ดเล่ม เข็มเจ็ดอันอยู่ในท้อง” พวกมอญจึงโกรธนัก เป็นทำนองว่ามอญนั้นคดในข้องอในกระดูก หรือถ้าจะคดจะโกงกันมันก็มีทุกชาติ ชาติไทยเราก็ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ของไทยเรามีคำว่า “คดในข้องอในกระดูก” ก็คงทำนองเดียวกัน

สุดท้ายข้าพเจ้าเป็นคนรักเชื้อชาติ ใคร่จะเห็นว่า เมื่อใดหนอ มอญ จะเป็นรัฐอิสระ มีรัฐบาลท้องถิ่นของตนเอง แสดงออก ให้เห็นความเจริญก้าวหน้า ของชาติโบราณเก่าแก่ที่สุดในแหลมทอง มีอิสระในความคิด มีอิสระในการปกครอง อิสระในการศึกษา แต่ควรเป็นสหพันธรัฐ (Federation state) ร่วมกับพม่า ตามที่อังกฤษเคยให้สัญญาไว้ เมื่อจบสงครามโลกครั่งที่สองใหม่ ๆ คือ มีรัฐพม่า รัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน ฯลฯ โดยมีรัฐธรรมนูญการปกครอง ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานาธิบดี ชาติละ 4 ปี หมุนเวียนกันไป เช่น กษัตริย์มลายู ทั้งนี้เพื่อความสามัคคีธรรมของชนชาติที่อยู่ร่วมกัน มีโอกาสที่จะแสดงความสามารถทัดเทียมกัน อย่างจริงใจ และคำนึงถึงศีลธรรมของมนุษยชาติ ปัจจุบันชาติมอญมีจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรประเทศพม่า เป็นจำนวนมากกว่าชาติหรือเผ่าใดในประเทศ หากเป็นเช่นนี้ได้ ก็จะเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ของเชื้อชาติแต่ละชาติมิให้สูญหายไปอย่างสูญสิ้น เช่น คาเรจ เจนละ และจามปา

ในประเทศไทยเรา มีบ้าน"มอญโพธาราม" โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมเรือนไทยที่วัดคงคารามงดงามมาก ข้าพเจ้ายินดีพาไปชม และเมื่อข้าพเจ้าเขียนเรื่องบ้านไทยภาคกลาง ต้องไปดูเรือนไทยที่หมู่บ้านทรงคะนอง ที่พระประแดงเสมอ บ้านมอญเมืองบทุม บ้านมอญบางตะนาวศรี  บ้านมอญปากเกร็ด บ้านมอญคลองบางกอกใหญ่ และยังมีคลองมอญเป็นที่ระลึกอีกด้วย
จากพงศาวดาร การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย เหตุเพราะไทยหลงคำสรรเสริญเยินยอ ของพม่าศัตรู ยอมให้พม่ารังแก"มอญ" เมื่อพม่าชนะแล้ว จึงหักหลังหวนกลับมาตีกรุงศรีอยุธยา เพราะพม่าไม่ต้องห่วง"มอญ"จะโจมตีเป็นศึกสองด้าน  ฉะนั้น กรุงศรีอยุธยาก็แตกด้วยประการฉะนี้ เพราะไทยไม่ถนอมน้ำใจ"มอญ" ให้เป็นศึกสามเส้า เพื่อเป็นการถ่วงดุลย์อำนาจเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุด

และประการสำคัญสุดท้าย  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงกู้ชาติได้ ก็เพราะพระมหาเถระคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม มอญทั้งสาม ได้มีน้ำใจช่วยเป็นกำลังให้สมเด็จพระนเรศวรทรงปลอดภัย จากการลอบทำร้ายหักหลังจากกษัตริย์พม่า จนทรงกู้เอกราชกู้บ้านกู้เมืองเป็นเอกราชสมบูรณ์ มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ก็เพราะ มอญ ผู้มีพระคุณ

แหล่งที่มา :  หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ “รองอำมาตย์โทขุนอาโภคคดี” สำนักพิมพ์กรุงสยาม พ.ศ. 2525