ประวัติศาสตร์มอญ - มอญ เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญ เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยใด?



ชนชาติมอญ - ประวัติศาสตร์มอญ
องค์ บรรจุน

ชนชาติมอญ ( Mon nationality )

มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดชนชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณพม่าตอนล่าง เป็นชาติหนึ่งที่วางรากฐานทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม กฎหมาย นาฏศิลป์ และดนตรี  เป็นมรดกตกทอดมายังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว และกัมพูชา

ทุกวันนี้ ชนชาติมอญ ไม่มีอาณาเขตประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากในอดีตบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด ทั้งการแย่งชิงราชสมบัติกันเอง และจากการรุกรานของข้าศึกสำคัญอย่าง “พม่า” เมื่อบ้านเมืองตกเป็นของศัตรู ชาวมอญจึงเป็นอยู่อย่างแสนสาหัส ถูกกดขี่รีดไถ การเกณฑ์แรงงานก่อสร้าง ทำไร่นาหาเสบียงเพื่อการสงคราม และเกณฑ์เข้ากองทัพ โดยเฉพาะสงครามในปี พ.ศ.๒๓๐๐ เป็นสงครามครั้งสุดท้าย ที่คนมอญพ่ายแพ้แก่พม่าอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถทวงคืนแผ่นดินกลับมาได้อีกเลยจนทุกวันนี้ ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเมืองไทย

ชาวมอญ ได้อพยพจากบ้านเมืองของตน เข้ามายังแผ่นดินไทยหลายต่อหลายครั้ง เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง ดังนี้

       ครั้งที่ ๑ การอพยพที่ปรากฏในหลักฐานของมอญก็คือ เมื่อ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตีหงสาวดีแตกใน พ.ศ.๒๐๘๒  ชาวมอญจำนวนมากหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองกรุงศรีอยุธยาชั้นนอก พระยาเกียรติพระยารามและครัวเรือน ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตัวเมืองชั้นใน ใกล้พระอารามวัดขุนแสน และขุนนางของมอญก็เริ่มเข้ารับราชการในกรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่นั้นมา  เมื่อถึง พ.ศ.๒๐๘๔  ราชวงศ์ตองอูตีเมืองเมาะตะมะแตก มีการฆ่าฟันชาวมอญลงขนาดใหญ่  ก็เข้าใจว่ามีมอญหนีเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาอีก ถือเป็นระลอกแรกของมอญอพยพ

     ครั้งที่ ๒ ในพระราชพงศาวดารไทยพูดถึงการอพยพอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระนเรศวรเสด็จไปพม่า เมื่อคราวพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ แล้วประกาศเอกราช  ทรงชักชวนมอญที่เข้าสวามิภักดิ์ ให้อพยพเข้ามาพร้อมกัน ราว พ.ศ.๒๑๒๗ ในการอพยพครั้งนี้ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใด แต่คาดว่าคงเป็นย่านเดียวกับการอพยพคราวแรก

     ครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นเมื่อหงสาวดีถูกยะไข่ทำลายใน พ.ศ.๒๑๓๘ (คือเมื่อครั้งพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี) ก่อนหน้านี้แม้ว่ามีมอญอพยพหนีราชวงศ์ตองอูมาแล้วแต่ใน พ.ศ.๒๑๒๙ เมื่อ นายราล์ฟ ฟิคต์ เดินทางผ่านหงสาวดี ยังรายงานว่า ประชากรส่วนใหญ่พูด ภาษามอญ  แต่เมื่อถูกยะไข่ทำลายครั้งนี้ก็มีการอพยพใหญ่ของ มอญ มาทางตะวันออกเข้าสู่ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาอีก

     ครั้งที่ ๔ หลังจากที่ราชวงศ์ตองอูย้ายราชธานีไปอยู่ที่อังวะ หลังจากหงสาวดีถูกทำลายแล้ว  พวกมอญ ตั้งอำนาจขึ้นใหม่ในดินแดนของตน โดยมีนักผจญภัยชาวโปรตุเกส (เดอบริโต) ให้ความร่วมมือ ต่อมา ถึงรัชกาลพระเจ้านอกเปกหลุน พม่าจึงยกทัพมาปราบพวกมอญอีกใน พ.ศ.๒๑๕๖ ทำให้เกิดการอพยพของมอญเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาอีก หลักฐานบางแห่งกล่าวว่า มอญ กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามแนวชายแดนไทย  ระหว่างนั้นขุนนางมอญได้ยกกำลังเข้าไปตีเมืองหน้าด่านในเขตพม่าหลายครั้ง (นี่อาจเป็นเหตุผลที่ไม่ปรากฏการอพยพครั้งนี้ในหลักฐานฝ่ายไทย)

       ครั้งที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๒๐๔ หรือ ๒๒๐๕ พวกมอญในเมืองเมาะตะมะก่อการกบฎขึ้นอีก แต่ถูกพม่าปราบลงได้ จึงต้องอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาอีกระลอกหนึ่ง ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าใจว่ากลุ่มนี้สัมพันธ์กับกลุ่มมอญที่ตั้งอยู่ชายแดน ฉะนั้นน่าจะได้รับอนุญาตให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ด้วยกัน

ครั้งที่ ๖
หลังจากที่มอญสามารถตั้งอาณาจักรของตนขึ้นได้ใหม่ในปลายราชวงศ์ตองอู แล้วยกกำลังไปตีกรุงอังวะแตก อลองพญารวบรวมกำลังพม่าแล้วลุกขึ้นต่อสู้จนในที่สุดก็ตั้งราชวงศ์อลองพญาได้ และใน พ.ศ.๒๓๐๐ ก็สามารถตีหงสาวดีได้อีก นโยบายของราชวงศ์นี้คือ กลืน มอญ ให้เป็นพม่าโดยวิธีรุนแรง มีการกดขี่ชาวมอญและ วัฒนธรรมมอญ หลายประการ จึงมีชาวมอญอพยพหนีมาสู่เมืองไทยอีกหลาย ระลอก  รวมทั้งกลุ่มที่หนีขึ้นเหนือไปสู่ล้านนา และเรียกกันว่าพวก “เม็ง” ในปัจจุบันนี้ด้วย

ครั้งที่ ๗ ใน พ.ศ.๒๓๑๖
ตรงกับแผ่นดินกรุงธนบุรี มอญก่อกบฎในย่างกุ้ง พม่าปราบปรามอย่างทารุณแล้วเผาย่างกุ้งจนราบเรียบ  ทำให้มอญอพยพเข้าไทยอีก  พระเจ้าตากสินทรงโปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด  ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มมอญเก่า (พระยารามัญวงศ์) และมอญใหม่ (พระยาเจ่ง)

การอพยพของชาวมอญในระลอกนี้เป็นต้นมานี้ ที่สืบทอดเชื้อสายโดยตรง คนที่นับตัวเองเป็น มอญ ในปัจจุบันล้วนอพยพเข้ามาจากระลอกนี้ หรือหลังจากนี้ทั้งนั้น ส่วน มอญ ที่อพยพก่อนหน้านี้กลืนหายเป็นไทยไปหมด แม้แต่กลุ่มที่อยู่ตามชายแดนแถบเมืองกาญจนบุรี

       ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ยึดเมืองทวายได้ แต่รักษาไว้ไม่ได้  ต้องถอยกลับเข้าไทย ก็นำเอาพวกมอญโดยเฉพาะที่เป็นพวกหัวหน้าเข้ามาอีก

   ครั้งสุดท้าย ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๓๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อ มอญ ไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระเจดีย์ ก่อกบฎที่เมืองเมาะตะมะ ถูกพม่าปราบ ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่มาก ราว ๔๐,๐๐๐ คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) เสด็จเป็นแม่กองออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก ปากเกร็ด และพระประแดง


ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่  ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้แผ่นดินทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา) และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี  (เขตเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทย) ทางอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี