ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบ้านหนองดู่ จ.ลำพูน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญบ้านหนองดู่
องค์ บรรจุน

ชุมชนมอญ บ้านหนองดู่ ริมแม่น้ำปิง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็น "ชุมชนมอญ" อีกแห่งหนึ่ง ที่ยังมีวัฒนธรรมประเพณี และสำเนียงเสียงรามัญที่ไม่เคยเงียบหายไปจากหมู่บ้าน แม้ในถ้อยคำเหล่านั้นจะมี “เจ้า” ปะปน ก็เป็นไปตามสภาวะที่ชาวมอญในเมืองไทยทุกชุมชนกำลังประสบกัน

โดยทั่วไป เพราะได้รับเอาวัฒนธรรมไทย เข้าไปผสมผสานในชีวิตประจำวัน ชุมชนมอญบ้านหนองดู่ เป็นชุมชนมอญขนาดเล็ก แต่ทว่ายังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญเอาไว้ได้อย่างดี ชาวบ้านยังคงใช้ภาษามอญ ในการสนทนา ในชีวิตประจำวัน มีวัดมอญในชุมชน ได้แก่ วัดหนองดู่ และวัดเกาะกลาง

เจดีย์โบราณวัดเกาะกลาง

ปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของ ชุมชนมอญ บ้านหนองดู่ก็คือ ไม่มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์ ของชุมชนเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่สามารถสืบค้นได้ว่า ชาวมอญที่นี่ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร อพยพมาจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) โดยตรง หรือโยกย้ายมาจากภาคกลางของประเทศไทย

แต่หลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ในสมัยหริภุญไชย พร้อม ๆ กับการกำเนิด ของพระนางจามเทวีตามตำนานโยนก กล่าวถึงการกำเนิดของพระนางจามเทวี ดังนี้

“พระนางจามเทวี ทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ปี พ.ศ. ๑๑๗๖ โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นชาวเมงคบุตร (มอญ)” คัดจากหนังสือ พระนางจามเทวี: กำเนิดพระนางจามเทวี, หน้า ๑๕)

สิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อาณาจักรหริภุญไชย และพระนางจามเทวีเป็นมอญหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งคงดูได้จาก ศิลาจารึกที่ขุดค้นได้ในอาณาจักรแห่งนี้กว่า ๓๐ หลัก (ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาวัน จ.ลำพูน) ซึ่งจารึกด้วยภาษามอญทั้งสิ้น ส่วนหลักฐานทางประวัติศาตร์ที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า ชาวหนองดู สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ในยุคพระนางจามเทวีก็คือ พระเจดีย์โบราณวัดเกาะกลาง ตำบลหนองดู่ ที่ตำนานระบุว่า พระนางจามเทวีได้สร้างไว้ เมื่อเดินทางมาจากลพบุรี และแวะพักที่วัดเกาะกลางแห่งนี้ ก่อนเสด็จยังเมืองหริภุญไชย เพื่อเสวยราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ และภายในวัดเกาะกลาง ยังมีพิพิธภัณฑ์พระนางจามเทวีอีกด้วย

วัดหนองดู่ เป็น วัดมอญ ที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นมอญไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ชาวบ้านยังใช้ภาษามอญ รวมทั้งพระสงฆ์ก็ยังคงสวดมนต์ ด้วยสำเนียงมอญ ภายในวัด ก่อสร้างด้วยศิลปกรรมแบบมอญผสานล้านนาไทย มีเสาหงส์ และจารึกไว้ที่ฐานเสาด้วยอักษรมอญสวยงาม