ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญบางไส้ไก่
สุจริตลักษณ์  ดีผดุง



ภาพสำรอง(หาใช่บางไส้ไก่เด้อ)

นับแต่เขตวัดละมุดเรื่อยลงมา จนถึงบริเวณ คลองมอญ เป็นบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ ทั้งนี้ จากคำบอกเล่าของคุณมนู ชมชื่นจิตร ซึ่งเป็นชาวมอญ ที่เคยอาศัยอยู่ที่บางไส้ไก่มาแต่เดิม แต่เวลานี้รับราชการอยู่ ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องชุมชนมอญ ที่บางไส้ไก่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2525 ณ. วัดประดิษฐาราม กรุงเทพฯ ว่าชาวมอญที่อยู่บริเวณนี้ ส่วนใหญ่ ในสมัยเดิมเริ่มแรกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยนั้น มักจะทำหน้าที่เป็นพวกฝีพายเรือหลวง พวกนี้ เดิมเป็นชาวมอญที่เคยอยู่ แถวเมืองทะวายและเมืองมะริด ซึ่งมีความชำนาญทางเรือ สาเหตุที่อพยพเข้ามา ในประเทศไทย เพราะในสมัยของพระเจาปดุง กษัตริย์พม่าที่ปกครองอยู่นั้น กล่าวหาว่า มอญเมืองทะวายและเมืองมะริดเป็นกบฏ ได้จับพวกมอญในเมือง ใส่เล้าเผาทิ้งไปเป็นจำนวนมาก พวกมอญจึงพากันอพยพหนีภัยเข้าสู่ประเทศไทย

เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทางฝ่ายไทยก็ให้ไปอยู่แถวสะพานพระรามหก ในปัจจุบัน ตรงบริเวณใกล้กับวัดละมุดบน (วัดบางละมุดเหนือ) วัดบางละมุดบน เดิมนั้นได้ถูกระเบิดของฝ่ายพันธมิตรพังเสียหาย โดยเฉพาะศาลาการเปรียญ ถูกลูกระเบิดพังเสียหายทั้งหลัง (ข้อมูลจากการบอกเล่าของพระครูสังฆรักษ์ (เหลือ) วัดปรมัยยิกาวาส ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อายุประมาณ 80 ปีเศษ) สันนิษฐานว่า มอญพวกนี้ เป็นมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ ในประเทศไทย เป็นพวกหลังสุด ทั้งนี้ เพราะมอญพวกนี้ ไม่ปรากฏว่ามีญาติหรือพวกพ้องทางเมืองปทุมเลย ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายสามีหรือฝ่ายภรรยาก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นชาวมอญพวกที่มาอยู่ใหม่ ที่อพยพมาจากเมืองมอญคนละพวกกับพวกอื่น ๆ

จากการที่ มอญ พวกนี้มีความชำนาญทางเรือมาแต่เดิมแล้ว ทางฝ่ายไทยจึงให้มารับราชการทางเรือหลวง ซึ่งก็มีโรงเรือหลวงอยู่ ในบริเวณสะพานพระรามหก เมื่อได้มีการย้ายโรงเรือหลวง จากสะพานพระรามหกมาอยู่ที่คลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ตรงบริเวณปากคลองวัดบางไส้ไก่ จนเกือบถึงวัดกัลยาณมิตร (บริเวณปากคลองวัดบุปผาราม) เลยต่อไปทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบ้านเจ้าพระยารัตนบดินทร์นั้น สันนิษฐานว่า พวกมอญจากบริเวณวัดบางละมุดเหนือ ก็คงจะได้ย้ายตามมาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณโรงเรือหลวงด้วย โรงเรือหลวงที่ว่านี้ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ก็คือฝั่งเดียวกันกับที่ตั้งของวัดบางไส้ไก่นั่นเอง ในปัจจุบันโรงเรือหลวงดังกล่าว ซึ่งอยู่ตรงข้ามเยื้อง ๆ กับวัดสังขจายมีเค้าอยู่เพียงนิดเดียว ก็คือกลายเป็นโรงเรือของกรมสรรพากร ยังคงมีโรงเรือนที่พักของข้าราชการกรมสรรพากรเหลืออยู่ 2-3 หลัง แต่ตัวโรงเรือซึ่งเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินแดงได้ถูกรื้อไปหมดแล้ว

เรือที่ใช้ในกองเรือหลวงในสมัยนั้น ได้แก่เรือที่เรียกว่า “เรือเฮียะพะ” (ลักษณะคล้ายเรือมาด) เรือโกลน (ขนาดไม่ยาวเท่าเรือกิ่ง) เรือแวด เรือแปดแจว (เรือสั้น ๆ เป็นเรือที่มีเก๋งสำหรับเจ้านายนั่ง) ส่วนเรือที่ใช้ออกรบเป็นเรือมาด เรือโกลนทั้งสิ้น พวกไพร่มอญมีหน้าที่ลงเรือโกลน เพื่อพายให้เจ้านายนั่ง และก็คงจะมีหน้าที่รักษาเรือทั้งกองทัพด้วย ในยามสงบ คงทำตามหน้าที่เพียงแห่นำและตามกระบวนเท่านั้น แต่ในยามสงคราม ก็ทำหน้าที่เป็นเรือรบด้วย กองเรือหลวงนี้ อยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ต่อมา ได้มีการย้ายโรงเรือหลวงจากคลองบางหลวง ไปไว้ที่คลองบางกอกน้อย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรือบางลำชำรุดซ่อมแซมไม่ได้ จึงได้มีการนำเอากระดานเรือที่ชำรุด มาทำพื้นศาลาการเปรียญวัดประดิษฐาราม จะสังเกตเห็นได้จากแผ่นกระดาน ที่อยู่ริมอาสนสงฆ์ในศาลาแห่งนี้ เป็นแผ่นกระดานท้องเรือ ซึ่งบนแผ่นกระดานมีรูลูกประสักเรืออยู่มากมาย ส่วนธรรมาสน์ที่ใช้อยู่ในศาลาการเปรียญของวัดนี้ สันนิษฐานว่า เดิมคงจะเป็นบุษบกของเรือลำใดลำหนึ่งแน่นอน เพราะมีลักษณะแปลก มองดูเหมือนเป็นบุษบกที่ใช้สำหรับวางผ้าไตรในเรือหลวง ไม่มีแท่นสำหรับก้าวขึ้น ถ้ามีแท่นก็ไม่ใช่บุษบกวางผ้าไตร เดิมบุษบกนี้เป็นบุษบกแบบโถง (แบบโปร่ง) จากตัวถังขึ้นไปถึงพระที่นั่งนั้นว่างเปล่าไม่มีลวดลายอะไรเลย แต่ในปัจจุบันมีลายกนกซึ่งเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในสมัยหลัง

เมื่อกองเรือที่อยู่ที่บางไส้ไก่ริมคลองบางหลวง ย้ายไปอยู่ที่คลองบางกอกน้อยแล้ว ไพร่มอญทั้งหมดก็ไปขึ้นกับทหารเรือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชาวมอญ ที่เป็นฝีพายนั้น ก็ต้องสักท้องแขนตามสังกัดกรมเดิม มอญที่เป็นไพร่พลเมืองไม่ว่าจะมาจากที่ใด เช่น พวกมอญแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ก็ต้องมาสักท้องแขนที่บางไส้ไก่ทั้งนั้น  เช่น “มล” (มอญลาว) “ม” (มะรีน) เป็นต้น บ้านที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับสักเลกนั้นอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดประดิษฐาราม

ที่น่าสนใจก็คือที่มาของคำว่า “บางไส้ไก่”  คำนี้เป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “จักกาย” ในภาษามอญ คำว่า “จักกาย” นี้ เป็นคำมอญที่ไม่ทราบความหมาย ว่าหมายถึงอะไร ทราบแต่ว่าเป็นชื่อตำแหน่ง ๆ หนึ่ง เป็นตำแหน่งปลัดนายกองมอญ ที่ใช้เรียกผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มีบ้านเดิมที่อยู่ปากคลองบางไส้ไก่ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บางไส้ไก่ ซึ่งแผลงมาจากคำว่าจักกาย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุเอช คชเสนี ก็ยืนยันว่า คำว่า “จักกาย” นี้มอญเองก็เรียกเพี้ยนเป็น “บางสะกาย” มาแต่เดิมเช่นกัน คลองบางไส้ไก่ เป็นคลองที่ขุดแยกจากคลองบางหลวง และมุ่งเข้าสู่วัดใหญ่ศรีสุพรรณในปัจจุบันนี้ เป็นคลองที่ขุดขึ้น เมื่อสมัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ยังมียศเป็นจมื่นไวยวรนารถ

คลองนี้ขุดขึ้นเพื่อเรือที่ต่อที่อู่บ้านสมเด็จ มีทางออกทางคลองบางหลวง ไม่ต้องไปออกทางคลองดาวคะนอง ซึ่งเป็นคลองที่มีอยู่เดิมเป็นที่เปลี่ยวไม่มีผู้คนอยู่ และประการที่สองกองทัพเรือนั้น ก็ต้องอยู่ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับคลองที่ขุดใหม่มากกว่าคลองดาวคะนอง

พวกทหารที่รับราชการอู่เรือหลวงนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกมอญ 2 พวก คือ พวกบางไส้ไก่ และพวกหลังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเวลานี้พวกที่อยู่หลังวัดอรุณราชวรารามนั้น หาตัวไม่ได้แล้ว แต่ศาสตราจารย์นายแพทย์สุเอช คชเสนี กล่าวว่า ความจริง พวกมอญหลังวัดอรุณราชวรารามนั้น มีอยู่บ้างประปราย แต่ไม่ใช่พวกดั้งเดิม มักจะมาจากที่อื่น เช่น จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

ผู้ที่เป็น มอญ บางไส้ไก่ ที่สมควรกล่าวถึงอีกท่านคือ เสมียนนุ่ม (นามสกุล ลักษณสุต) มีตำแหน่งสำคัญในราชการ คือเป็นตำแหน่งบัญชีพลทหารเรือ เมื่อขณะป่วยและถึงแก่อนิจกรรมนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จมาเยี่ยม และพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์ ตระกูลนี้เป็นตระกูลที่รุ่งเรืองมั่งคั่งมาก มีบุตรหลานเป็นพระยาหลายคน