ชุมชนมอญในประเทศไทย - สะพานมอญ กรุงเทพฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

สะพานมอญ
องค์ บรรจุน

สะพานมอญ เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมหลังวัดราชบพิธฯ เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญที่อพยพเข้ามาแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยาแล้ว พอกรุงแตกก็อพยพหนีภัยสงครามจากกรุงศรีอยุธยามาพร้อม ๆ กับชาวไทย ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดให้มอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณคลองคูเมืองเดิม ใกล้ป้อมวิชัยประสิทธิ์  


สะพานมอญ

(ค่อยเล่าเรื่องป้อมวันหลังนะครับ) ปัจจุบันร่องรอยมอญกลุ่มนี้สูญสลายไปแล้ว เหลือแต่ชื่อ สะพานมอญ ซึ่งพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นสกุล ศรีเพ็ญ ซึ่งเป็นเชื้อสายพระยารามจัตุรงค์ หัวหน้าชาวมอญ และพระยาศรีสหเทพผู้นี้ยังเป็นขุนคลังแก้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีบทบาทสำคัญในการทำสัมปทานไม้สักขอน สร้างรายได้เข้าคลังหลวงมากมายมหาศาล รวมทั้งหากทางราชการมีประสงค์ต้องการไม้สักขอนในการก่อสร้างสิ่งใด ท่านพระยาศรีสหเทพก็หามาได้ตามความต้องการโดยไม่คิดมูลค่า และที่สำคัญเป็นผู้นำรวบรวมแรงงานชาวมอญ ซึ่งก็เป็นบรรดาญาติ ๆ และข้าทาสบริวารทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นสร้างสะพานข้ามคลองหลอดขึ้น จึงได้เรียกกันต่อมาว่าสะพานมอญในชั้นแรกสร้างด้วยไม้ธรรมดา ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ ได้มีการก่อสร้างใหม่ก่อด้วยอิฐถือปูน


สี่กั๊กพระยาศรี

สี่กั๊กพระยาศรี จริงแล้วคำว่ากั๊กเป็นภาษาจีน แปลว่าแยก ชื่อสี่แยกนี้เรียกตามชื่อพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ศรีเพ็ญ ผู้นำชาว มอญ ซึ่งตั้งบ้านเรื่อนอยู่บริเวณสี่แยกนี้ และเป็นผู้ที่รวบรวมแรงงานชาวมอญก่อสร้างสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม และอยู่ในละแวกเดียวกัน สามารถมองเห็นกันได้ ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องสะพานมอญข้างต้น ปัจจุบันทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็นสี่แยกพระยาศรี แต่คนยังนิยมเรียก สี่กั๊กพระยาศรี